×

‘แบงก์ชาติ’ เผยโควิด-19 ระลอกใหม่ทุบเศรษฐกิจไทยเดือน ม.ค. ชัดเจน การบริโภคหดตัวยกแผง แต่ผลกระทบไม่แรงเท่ารอบแรก

25.02.2021
  • LOADING...
‘แบงก์ชาติ’ เผยโควิด-19 ระลอกใหม่ทุบเศรษฐกิจไทยเดือน ม.ค. ชัดเจน การบริโภคหดตัวยกแผง แต่ผลกระทบไม่แรงเท่ารอบแรก

เศรษฐกิจไทยเดือนแรกของปี 2564 ได้รับผลกระทบชัดเจนขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ทำให้การฟื้นตัวไม่ทั่วถึงมากขึ้น แม้ว่าผลกระทบในรอบนี้จะไม่รุนแรงเท่ากับในรอบแรก แต่เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวแย่ลงในทุกหมวดตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคและกำลังซื้อของครัวเรือนที่ลดลง

 

อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำขยายตัวดีตามทิศทางของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง แม้ชะลอตัวลงบ้างตามรายจ่ายลงทุน เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงตามความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ลดลง

 

ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)​ กล่าวว่า เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามการใช้จ่ายที่ปรับตัวแย่ลงในทุกหมวด ซึ่งเป็นผลจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ที่กระทบต่อปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนทั้งการจ้างงาน รายได้ และความเชื่อมั่น 

 

ประกอบกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของภาครัฐส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการบังคับใช้มาตรการอย่างเข้มงวด อย่างไรก็ดีผลกระทบต่อการบริโภคจากการระบาดระลอกใหม่ยังไม่รุนแรงเท่ากับรอบแรก

 

ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยการหดตัวมาจากการผลิตหมวดปิโตรเลียม หมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดยานยนต์เป็นสำคัญ

 

สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวสูงต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังมีอยู่ ประกอบกับการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าไทยยังมีจำนวนไม่มาก แม้ภาครัฐได้ทยอยผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศไปบ้างแล้วในช่วงก่อนหน้า

 

ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนมกราคมหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการส่งออกทองคำที่หดตัวจากผลของฐานสูงในปีก่อน มูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 5.5 ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า ส่งผลให้การส่งออกขยายตัวได้ต่อเนื่องในหลายหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดยานยนต์และชิ้นส่วน หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า และหมวดสินค้าเกษตร แปรรูปที่ขยายตัวเร่งขึ้น ประกอบกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลก 

 

ทั้งนี้การส่งออกที่ฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในช่วงที่เกิดการระบาดระลอกใหม่ภายในประเทศมีส่วนสำคัญที่ทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมไม่รุนแรงเท่าการระบาดรอบแรก

 

มูลค่าการนำเข้าสินค้ากลับมาหดตัวร้อยละ 6.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการนำเข้าทองคำที่กลับมาขยายตัว มูลค่าการนำเข้าหดตัวสูงขึ้นเป็นร้อยละ 11.1 ตามการนำเข้าที่หดตัวสูงในเกือบทุกหมวดสินค้าสำคัญจากผลของฐานสูงในปีก่อน อย่างไรก็ดี หลังขจัดปัจจัยฤดูกาล การนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวด

 

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยรายจ่ายประจำกลับมาขยายตัวตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ สำหรับรายจ่ายลงทุนขยายตัวชะลอลงตามการเบิกจ่ายของรัฐบาลกลาง ขณะที่การเบิกจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจกลับมาขยายตัวได้

 

ชญาวดีกล่าวว่า เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ปรับตัวแย่ลงในทุกองค์ประกอบย่อย สอดคล้องกับความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ปรับลดลงจากผลกระทบของการระบาดระลอกใหม่ 

 

สำหรับการลงทุนหมวดก่อสร้างหดตัวน้อยลง ตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่กลับมาขยายตัว ส่วนหนึ่งจากผลของฐานต่ำในปีก่อน

 

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้นจากราคาอาหารสดที่ปรับลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้านตลาดแรงงานปรับตัวแย่ลงจากผลของการระบาดระลอกใหม่ ส่วนหนึ่งสะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับสิทธิว่างงานใหม่ในระบบประกันสังคมที่สูงขึ้น 

 

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเล็กน้อยใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยดุลการค้าเกินดุลลดลงจากการนำเข้าทองคำที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลลดลงจากเดือนก่อน

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising