×

แบงก์ชาติเผยสินเชื่อแบงก์พาณิชย์ไตรมาสแรกโต 6.9% จับตาหนี้เสียบัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล

17.05.2022
  • LOADING...
ธปท. เผยระบบธนาคารพาณิชย์ยังแข็งแกร่ง

ธปท. เผยระบบธนาคารพาณิชย์ยังแข็งแกร่ง มีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สินเชื่อไตรมาสแรกโต 6.9% ขณะที่หนี้เสียยังทรงตัวที่ 2.9% แต่เริ่มพบสัญญาณการปรับเพิ่มในกลุ่มบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 

 

สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 1 ปี 2565 ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็ง โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง มีความสามารถในการขยายสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยคุณภาพสินเชื่อในภาพรวมค่อนข้างทรงตัวจากไตรมาสก่อนจากการปรับโครงสร้างหนี้และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ขณะที่ผลประกอบการปรับดีขึ้นจากปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตของสินเชื่อที่ทำให้รายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 3.01 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ที่ 19.8% เงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 9.09 แสนล้านบาท โดยอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL Coverage Ratio) อยู่ที่ 165.6% และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) อยู่ที่ 192.5%

 

ขณะที่ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1 ปี 2565 ขยายตัวที่ 6.9% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 6.5% โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

สินเชื่อธุรกิจขยายตัวที่ 8.8% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 7.9% จากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่ขยายตัวต่อเนื่องตามความต้องการเงินทุนของภาคเอกชน โดยขยายตัวได้ในเกือบทุกภาคธุรกิจ ด้านสินเชื่อธุรกิจ SMEs ขยายตัวจากมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูเป็นสำคัญ ด้านสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ 3.3% สอดคล้องกับความเชื่อมั่นของครัวเรือนที่ปรับลดลงจากการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน 

 

โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวที่ 3.4% ชะลอลงตามอุปสงค์ต่อที่อยู่อาศัยที่มีแนวโน้มปรับลดลง ด้านสินเชื่อรถยนต์ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำที่ 0.1% แม้ว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศเริ่มกลับมาขยายตัวได้ ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัว 2.3% สอดคล้องกับปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่ปรับเพิ่มขึ้น และสินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวต่อเนื่องที่ 6.6% ตามความต้องการสภาพคล่องของภาคครัวเรือน

 

“ถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค สินเชื่อไทยถือว่าเติบโตได้ค่อนข้างสูงที่ 6.9% เมื่อเทียบกับอินโดนีเซียที่โต 6.3%, ฟิลิปปินส์ 5.7%, มาเลเซีย 4.7% และสิงคโปร์ที่ 2.8%” สุวรรณีกล่าว

 

สำหรับคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 1 ปี 2565 ในภาพรวมทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลจากการปรับโครงสร้างหนี้และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เป็นสำคัญ โดยยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non Performing Loan: NPL หรือ Stage 3) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 5.31 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.93% ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (Significant Increase in Credit Risk: SICR หรือ Stage 2) อยู่ที่ 6.09% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 6.39%

 

“NPL ของสินเชื่อธุรกิจอยู่ที่ 2.99% โดยธุรกิจขนาดใหญ่มีหนี้เสียราว 2.16% ขณะที่ธุรกิจ SMEs มีหนี้เสียราว 7.04% ยังทรงตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน ขณะที่ NPL ของสินเชื่อรายย่อยในภาพรวมอยู่ที่ 2.78% โดยสินเชื่อบ้านและรถยนต์ที่เป็นหนี้เสียปรับตัวลดลง ขณะที่หนี้เสียบัตรเครดิตปรับเพิ่มขึ้นจาก 2.25% ในไตรมาสก่อนเป็น 2.78% ส่วนหนี้เสียสินเชื่อส่วนบุคคลปรับเพิ่มขึ้นจาก 2.33% เป็น 2.49% ทำให้เรายังต้องจับตาดู NPL ในกลุ่มที่เปราะบางต่อไป แม้ว่าภาพรวม NPL จะยังทรงตัวก็ตาม” สุวรรณีกล่าว

 

ทั้งนี้ ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ปี 2565 จำนวน 4.94 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน 11.8% โดยหลักจากการขยายตัวของสินเชื่อที่ทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยปรับลดลงจากรายได้ค่าธรรมเนียมเป็นสำคัญ โดยหากเทียบกับไตรมาสก่อน กำไรสุทธิปรับเพิ่มขึ้นจากการควบคุมค่าใช้จ่ายดำเนินงานและค่าใช้จ่ายสำรองที่ลดลง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Assets: ROA) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.87% จากไตรมาสก่อนที่ 0.67% ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) ทรงตัวอยู่ที่ 2.45% 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising