รูปแบบของธุรกรรมทางการเงินเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และเมื่อมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามา ก็เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะภาคการเงินที่ตอนนี้ต่างสนใจนำบล็อกเชนมาใช้งาน เนื่องจากเป็นระบบที่ไม่มีตัวกลาง ไม่มีใครแก้ไขข้อมูลได้ ล่าสุดแบงก์ชาติเตรียมออกเงินดิจิทัลเพื่อใช้รองรับการทำธุรกรรมระหว่างธนาคารหรืออินเตอร์แบงก์แล้ว
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้แบงก์ชาติอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการออกเงินดิจิทัลเพื่อใช้สำหรับธุรกรรมระหว่างแบงก์ชาติและธนาคารพาณิชย์ หรืออินเตอร์แบงก์ ซึ่งจะเป็นลักษณะ Wholesale Central Bank Digital Currencies (CBDC) ก้าวข้ามข้อจำกัดเดิมที่สามารถทำธุรกรรมระหว่างกันได้ในเฉพาะวันและเวลาทำการเดิม ให้แบงก์ชาติทำธุรกรรมกับธนาคารพาณิชย์ได้ทุกเวลา นั่นคือ 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน
แนวคิดนี้อยู่ภายใต้โครงการ ‘อินทนนท์’ ขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบความเป็นไปได้ ซึ่งธนาคารกลางในต่างประเทศทั้งแคนาดา อังกฤษ หรือสิงคโปร์ ก็กำลังศึกษาวิธีการนี้เช่นเดียวกัน แบงก์ชาติคาดว่าจะใช้เทคโนโลยีใหม่นี้กับธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ที่มีธุรกรรมการชำระเงินในระดับสูงไม่ต่ำกว่า 5 ราย ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ทางการเงินร่วมกันก่อนที่จะยกระดับไปสู่การเชื่อมต่อเพื่อชำระเงินต่างประเทศในอนาคต
ดร.วิรไทชี้ว่า เทคโนโลยีบล็อกเชนมีข้อดีคือ ไม่มีใครหรือองค์กรใดเป็นตัวกลาง ข้อมูลชุดเดียวกันจะถูกบันทึกไว้ในระบบ ไม่มีใครแก้ไขข้อมูลได้ ซึ่งจะช่วยลดข้อผิดพลาดในการทำธุรกรรมได้ โดยจะใช้เงินดิจิทัลนี้สำหรับการกู้ยืมระหว่างธนาคารและการชำระเงิน ไม่ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปใช้งานแต่อย่างใด
ขณะที่ นายปรีดี ดาวฉาย ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ 14 แห่งที่เข้าร่วมโครงการ Thailand Blockchain Community Initiative เตรียมนำเทคโนโลยีอย่างบล็อกเชนมาใช้งานเพื่อรับรองเอกสารหนังสือค้ำประกันแล้ว นอกจากนี้ยังทำงานผ่านระบบ Cloud Technology ซึ่งมีความคล่องตัวสูง กำหนดการตั้งค่าใช้งานได้หลากหลาย รองรับการทำธุรกรรมและตรวจสอบสถานะได้ตลอด 24 ชั่วโมง จึงถือเป็นความเคลื่อนไหวของธุรกิจธนาคารที่ต่างเร่งปรับตัวให้สอดรับกับเทคโนโลยีใหม่ที่เชื่อว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงให้เห็นตลอดทั้งปีนี้
อ้างอิง: