ธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากวิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล หากลูกหนี้มีสินเชื่อกับหลายสถาบันการเงิน ยิ่งบริหารจัดการยาก ส่งผลให้ทาง ธปท. เปิดตัว ‘มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล’ เพื่อเป็นช่องทางให้ลูกหนี้และสถาบันการเงินสามารถเจรจาหนี้ในภาพรวมได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลจะจัดในรูปแบบออนไลน์ผ่านการกรอกข้อมูลบนเว็บไซต์ โดยมีกำหนดระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ – 14 เมษายน 2564 เพื่อให้กระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ที่มีประสิทธิภาพ และลูกหนี้มีทางเลือกในการผ่อนชำระที่ดีขึ้น รวมถึงลดกรณีฟ้องร้องบังคับคดีในชั้นศาล
มหกรรมฯ ดังกล่าวจะเปิดให้ลูกหนี้ทุกสถานะ (1) หนี้ดีที่ยังผ่อนชำระปกติ แต่เริ่มขาดสภาพคล่องชั่วคราว (2) หนี้ NPL ทั้งที่ยังไม่มีการฟ้อง อยู่ระหว่างฟ้อง หรือที่มีคำพิพากษาแล้ว สามารถใช้ช่องทางนี้ในการไกล่เกลี่ยกับเจ้าหนี้ได้ทั้งหมด ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของสำนักงานศาลยุติธรรม กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ผู้ให้บริการบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 21 แห่ง (คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 70% ของตลาด) และ ธปท.
“ลูกหนี้ที่สถานะเป็น NPL ทั้งที่ยังไม่ถูกฟ้องหรือถูกฟ้องแล้ว สามารถใช้ช่องทางของงานมหกรรมไกล่เกลี่ยครั้งนี้สมัครเข้าคลินิกแก้หนี้ได้เลย และเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยของศาลไปพร้อมๆ กัน เนื่องจากศาลรับข้อเสนอของคลินิกแก้หนี้เป็นหนึ่งข้อเสนอที่ใช้ในขั้นตอนไกล่เกลี่ยออนไลน์ของศาล”
นอกจากนี้ ธปท. ยังปรับเกณฑ์คลินิกแก้หนี้ โดยปรับเกณฑ์คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการจากเดิมที่จะต้องเป็นหนี้ NPL ก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เป็น NPL ก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อให้ครอบคลุมถึงลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบในช่วงวิกฤตโควิด-19