×

ธปท. ย้ำ ภาคท่องเที่ยวยังหนัก เร่งหารือ​คลังปรับ Soft Loan-Warehousing ชี้หนี้ Stage 2 ปี 63 โต 2 เท่า

22.02.2021
  • LOADING...
ธปท. ย้ำ ภาคท่องเที่ยวยังหนัก เร่งหารือ​คลังปรับ Soft Loan-Warehousing ชี้หนี้ Stage 2 ปี 63 โต 2 เท่า

สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากปี 2563 ที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการของรัฐ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง แต่เห็นทิศทางปรับตัวดีขึ้นบ้าง โดยผลกระทบครั้งนี้ส่งผลให้เกิดการฟื้นตัวไม่เท่ากัน โดยกลุ่มโรงแรมยังได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งมีสินเชื่อในกลุ่มนี้ราว 4 แสนล้านบาท ขณะนี้ทาง ธปท. เข้าหารือกับธนาคารพาณิชย์ที่มีสินเชื่อในกลุ่มนี้แล้ว 

 

ขณะที่สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ที่ออกมาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ปัจจุบันมีการอนุมัติแล้ว 125,777 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนัก 83,410 ล้านบาท (49,922 ราย) และทาง ธปท. อยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงการคลังเรื่องการปรับเกณฑ์เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึง Soft Loan มากขึ้น รวมถึงกรณี Warehousing ที่จะออกมาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ

 

ทั้งนี้ สถานการณ์หนี้เสีย (NPLหรือ Stage 3) มองว่า ธนาคารพาณิชย์ยังคุม NPL ไม่สูงขึ้นมาก ทั้งจากการบริหารจัดการหนี้เสีย และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยไตรมาส 4/63 NPL อยู่ที่ 3.12% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสิ้นปี 2562 ที่อยู่ราว 2.98% ซึ่งต้องยอมรับว่ามาจากสาเหตุหลักคือการมีมาตรการช่วยเหลือต่อเนื่อง โดย ธปท. ขอให้ธนาคารพาณิชย์เร่งปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุกกับลูกหนี้ต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม NPL ที่ยังเพิ่มสูงขึ้นคือกลุ่มธุรกิจอยู่ที่ 3.23% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 ที่อยู่ 3.01% โดย NPL สินเชื่ออุปโภคบริโภคไตรมาส 4/63 อยู่ที่ 2.84% ลดลงเล็กน้อยจากสิ้นปีก่อนที่อยู่ 2.90% แต่กลุ่มที่ต้องติดตามคือสินเชื่อ Stage 2 ที่ต้นปี 2563 ขยับเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า สู่ระดับ 7.69% จากสิ้นปี 2562 ที่อยู่ 2.79% โดย ธปท. ยังยอมรับว่ากังวลกับกลุ่ม SMEs ขนาดเล็กมากที่สุด 

 

ทั้งนี้ ไตรมาส 4 ปี 2563 สินเชื่อกลับมาขยายตัวที่ 5.1% โดยสินเชื่อบริโภค (ที่มีสัดส่วน 35.8%) เติบโต 4.6% ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา (ปี 2562 โต 7.5% ปี 2561 โต 9.4%) สาเหตุเพราะครัวเรือนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยสินเชื่อส่วนที่ยังขยายตัวคือสินเชื่อที่อยู่อาศัย (สินเชื่อบ้าน) สินเชื่อรถยนต์ (ชะลอลง) และสินเชื่อส่วนบุคคล แต่สินเชื่อบัตรเครดิตยังติดลบ 2.1%

 

ขณะที่สินเชื่อธุรกิจที่มีสัดส่วนราว 64% ยังขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพราะธุรกิจขนาดใหญ่ (วงเงินมากกว่า 500 ล้านบาท) เติบโต 13.1% จากการเข้าขอสินเชื่อธนาคารแทนการออกตราสารหนี้ แต่หากดูสินเชื่อ SMEs กลุ่มวงเงินต่ำกว่า 500 ล้านบาท (รวมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ: Soft Loan) ยังติดลบ 5.9% หากนับรวม Soft Loan สินเชื่อ SMEs จะยังติดลบที่ราว 2.8%

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน (เดือนธันวาคม 2563) มีลูกหนี้เข้ารับการช่วยเหลือวงเงินรวม 4.8 ล้านล้านบาท ลดลงจากจุดสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2563 ที่อยู่ 7.1 ล้านล้านบาท

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X