×

แบงก์ชาติส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อ มองเงินเฟ้อยังคงมีความเสี่ยงด้านสูง ต้องจับตาแม้กลับเข้ากรอบแล้ว

14.06.2023
  • LOADING...
ธปท

ธปท. ส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ ชี้เงินเฟ้อในระยะปานกลางยังคงมีความเสี่ยงด้านสูงที่ต้องระมัดระวัง จับตาปรากฏการณ์เอลนีโญกระทบผลผลิตภาคเกษตร เพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อหมวดอาหาร

 

ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Monetary Policy Forum ครั้งที่ 2/2566 ว่า แม้สถานการณ์เงินเฟ้อของไทยในปัจจุบันจะปรับตัวลดลงกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายแล้ว และในเดือนล่าสุดได้ลดลงมาอยู่ในระดับ 0.53% ซึ่งมากกว่าที่ ธปท. คาดการณ์ไว้ แต่หากมองต่อไปในระยะปานกลางเงินเฟ้อยังคงมีความเสี่ยงด้านสูงที่ต้องระมัดระวัง

 

ปิติระบุว่า การปรับลดลงของเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการลดค่าครองชีพชั่วคราวโดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ขณะเดียวกันยังเป็นผลมาจากฐานที่สูงในการคำนวณ แต่ราคาสินค้าบางส่วนยังคงปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน โดย ธปท. คาดว่าเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายนจะยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องจากผลของฐานที่เร่งสูงขึ้นของปีก่อนและจะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ก่อนเริ่มปรับสูงขึ้นในช่วงปลายปีที่อุปสงค์จะเร่งตัวขึ้น

 

“เงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงจากราคาหมวดพลังงานเป็นหลัก แต่เงินเฟ้อในหมวดพื้นฐานยังมีโมเมนตัมเป็นบวกต่อเนื่องและลดลงช้ากว่าเงินเฟ้อทั่วไป นอกจากนี้ เงินเฟ้อในปัจจุบันยังถูกขับเคลื่อนด้วยองค์ประกอบที่มีความหนืดมากขึ้นต่างจากปีก่อน” ปิติกล่าว

 

ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาเงินเฟ้อไทยถูกขับเคลื่อนโดยราคาอาหารสดและพลังงานที่มีความหนืดน้อยเป็นหลัก แต่ในปีนี้เงินเฟ้อพื้นฐานได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะจากราคาอาหารสำเร็จรูปและเครื่องประกอบอาหาร (Food in Core) ที่มีค่าความหนืดสูงกว่า

 

โดยข้อมูลของ ธปท. ชี้ให้เห็นว่า ในปีที่ผ่านมาเงินเฟ้อทั่วไปของไทยถูกขับเคลื่อนโดยเงินเฟ้อพื้นฐานในสัดส่วน 28% และมาจากราคาพลังงานถึง 49% แต่สัดส่วนดังกล่าวได้มีการเปลี่ยนแปลงในปีนี้ที่สัดส่วนของราคาพลังงานปรับลดลงมาอยู่ที่ 24% ขณะที่แรงขับเคลื่อนที่มาจากเงินเฟ้อพื้นฐานกลับเพิ่มขึ้นเป็น 38% และเมื่อเจาะลงไปดูไส้ในของเงินเฟ้อพื้นฐานอีกทีจะพบว่า 71% ของแรงขับเคลื่อนเงินเฟ้อพื้นฐานมาจาก Food in Core 

 

ปิติกล่าวว่า ปัจจุบัน ธปท. คาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้และปีหน้าอยู่ที่ 2.5% และ 2.4% ตามลำดับ ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าอยู่ที่ 2% ทั้งในปีนี้และปีหน้า ซึ่งเป็นระดับที่อยู่ในกรอบเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม ธปท. จะจับตามองความเสี่ยงด้านสูงที่อาจทำให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นกว่าคาด เช่น การส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้ส่งผ่านก่อนหน้านี้ การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวที่แรงกว่าคาด และแรงกดดันด้านอุปทานและต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งขึ้นกับนโยบายเศรษฐกิจภาครัฐในระยะต่อไป รวมถึงแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต

 

“แนวโน้มราคาอาหารสดที่จะสูงขึ้นตามการเข้าสู่ภาวะเอลนีโญเป็นเรื่องที่เราจับตาดูอยู่และจะติดตามต่อเนื่อง เพราะเรื่องนี้ผลผลิตการเกษตรที่ลดลงจะส่งผลต่อราคาผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ ซึ่งจะเชื่อมโยงมาที่ Food in Core ซึ่งเป็นตัวที่มีน้ำหนักมากในเงินเฟ้อรอบนี้” ปิติกล่าว

 

ด้าน ภูริชัย รุ่งเจริญกิจกุล ผู้อำนวยการสำนักกลยุทธ์นโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า การวิเคราะห์สถานการณ์เงินเฟ้อของ ธปท. สะท้อนว่าเงินเฟ้อของไทยที่ปรับตัวต่ำลงมาอาจเป็นแค่ระยะสั้น แต่ในระยะปานกลางยังมีความเสี่ยงอีกหลายด้านที่ต้องติดตาม ทำให้ยังเร็วเกินไปที่จะประกาศชัยชนะเหนือเงินเฟ้อ และยังไม่สามารถชะล่าใจได้

 

ภูริชัยกล่าวอีกว่า แม้ว่าเงินเฟ้อไทยจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่างานของคณะกรรมการนโยบายการเงินจะจบลง เนื่องจากเป้าหมายของนโยบายการเงินในปัจจุบันคือการประคับประคองให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องและกลับสู่ระดับศักยภาพ ไปพร้อมๆ กับดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายและดำรงอยู่ในกรอบดังกล่าวอย่างยั่งยืน 

 

ทั้งนี้ สำหรับแผนในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป หากพิจารณาดูจากแถลงการณ์ล่าสุดของ กนง. จะพบว่ามีการให้ความสำคัญกับการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว 

 

ภูริชัยกล่าวว่า ผู้ดำเนินนโยบายมักจะถูกถามว่า Terminal Rate หรือดอกเบี้ยจะขึ้นไปสุดที่เท่าไร ซึ่งเรื่องนี้ต้องอธิบายว่ากลไกการคิดเรื่อง Terminal Rate ประกอบไปด้วย 2 ส่วน ส่วนแรกคือ Neutral Rate หรืออัตราดอกเบี้ยที่เป็นกลางต่อระบบเศรษฐกิจ ไม่ผ่อนคลายหรือตึงตัว ช่วยให้เงินเฟ้อนิ่งอยู่ในกรอบเป้าหมาย เศรษฐกิจอยู่ในระดับศักยภาพ 

 

ส่วนที่ 2 คือ Stabilization Policy หรือความจำเป็นในการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดหรือผ่อนคลายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ได้นิ่งเสมอไป แต่มีความผันผวน มีช็อก มีความไม่แน่นอน มีความเสี่ยงในด้านต่างๆ ซึ่งก็ขึ้นอยู่ว่าธนาคารกลางจะเจอความท้าทายด้านไหน เศรษฐกิจร้อนแรงหรือต้องการการสนับสนุน

 

“หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นภาพคือกรณีของสหรัฐฯ ที่ต้องปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ดอกเบี้ยที่ระดับ Neutral ไม่เพียงพอเพราะเงินเฟ้อสูงมาก Fed ก็ต้องขึ้นดอกเบี้ยสูงไปกว่า Neutral เพื่อดึงความร้อนแรงของเศรษฐกิจลงมาเพื่อคุมเงินเฟ้อ” ภูริชัยกล่าว

 

อย่างไรก็ดี ในกรณีของไทยบริบททางเศรษฐกิจมีความแตกต่างจากสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก จึงไม่จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์เหมือนกัน โดย ธปท. ยังเชื่อว่าด้วยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือ Gradual and Measured ในปัจจุบันยังเพียงพอที่จะกลับเข้าสู่จุดสมดุลทางเศรษฐกิจได้ 

 

“Terminal Rate ของเราไม่ควรจะสูงหรือต่ำกว่าระดับที่เป็น Neutral มาก ถ้าถามว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าระดับ Neutral Rate ของเราอยู่ตรงไหน ต้องบอกว่าในทางทฤษฎีมันไม่สามารถวัดตัวเลขออกมาได้เป๊ะๆ สิ่งที่ทำได้คือดูอัตราดอกเบี้ยแท้จริงของตัวเองว่าควรจะเป็นเท่าไร เช่น เทียบกับเงินเฟ้อทั่วไป เงินเฟ้อพื้นฐาน และดอกเบี้ยระยะยาว 10 ปีที่ภาคธุรกิจใช้จริงๆ” ภูริชัยกล่าว

 

ภูริชัยกล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยที่สอดคล้องกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจหรือ Neutral Rate ของแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกัน เช่น ในประเทศที่มีคนหนุ่มสาวมาก มีความต้องการออมมาก แรงจับจ่ายใช้สอยมีไม่มาก อาจจำเป็นต้องทำให้อัตราดอกเบี้ยแท้จริงอยู่ในระดับต่ำเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย เหมาะกับแบบนี้ แต่ในประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตสูงมาก ในอนาคตจะมีรายได้ไหลเข้ามาอีกเยอะ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องทำดอกเบี้ยแท้จริงให้ต่ำ

 

“ในกรณีของประเทศไทย เงินเฟ้อทั่วไปโดยค่าเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมาจะอยู่ที่กรอบบวกลบประมาณ 2% หากนำมาเทียบกับดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันที่ 2% ดอกเบี้ยแท้จริงของเราก็จะอยู่ที่ 0% แต่การตัดสินใจปรับดอกเบี้ยในอนาคตจะเป็นอย่างไร ต้องพิจารณาจากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะต่อไปด้วย” ภูริชัยกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising