×

ธปท. เตรียมเปิดให้รวมหนี้ไม่มีหลักประกันกับสินเชื่อบ้านข้ามธนาคาร กลางเดือน ต.ค. หวังช่วยลดภาระดอกเบี้ยผู้กู้รายย่อย

28.09.2021
  • LOADING...
สุวรรณี เจษฎาศักดิ์

สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงกลางเดือนตุลาคมนี้ ธปท. จะมีการออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มลูกหนี้สินเชื่อรายย่อย โดย ธปท. จะสนับสนุนให้เกิดการทำรีไฟแนนซ์และการรวมหนี้ (Debt Consolidation) ระหว่างสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อย เช่น บัตรเครดิต หรือ P-Loan เพื่อลดภาระอัตราดอกเบี้ยของลูกหนี้ลงจากปัจจุบัน

 

“ที่ผ่านมา ธปท. ได้สนับสนุนเรื่องการทำ Debt Consolidation ระหว่างสินเชื่อที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันเพื่อลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้อยู่แล้ว แต่เป็นการทำภายในธนาคารเดียวกัน แต่ครั้งนี้จะแตกต่างออกไป เพราะเราจะเปิดให้มีการรวมหนี้ข้ามธนาคารได้ สนับสนุนให้เกิดการแข่งขันรีไฟแนนซ์ โดยที่สถาบันการเงินห้ามคิด Prepayment Fee สำหรับสินเชื่อรายย่อย ซึ่ง ธปท. จะให้แรงจูงใจแก่สถาบันการเงินในการทำเรื่องนี้ เช่น ให้นำดอกเบี้ยที่ลดลูกหนี้ส่วนนี้ไปคำนวณอยู่ใน FIDF Fee” สุวรรณีกล่าว

 

สุวรรณีระบุว่า การรวมหนี้สินเชื่อรายย่อยประเภทต่างๆ เข้าด้วยกันจะช่วยลดภาระการจ่ายดอกเบี้ยของลูกหนี้ลงมาได้ค่อนข้างมาก เช่น ปัจจุบันดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านเฉลี่ยอยู่ที่ 6-8% ขณะที่เพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตอยู่ที่ 16% เพดานดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 25% เพดานสินเชื่อจำนำทะเบียนรถอยู่ที่ 24% และเพดานสินเชื่อนาโนอยู่ที่ 33% 

 

ทั้งนี้เมื่อมีการรวมหนี้ไม่มีหลักประกันมาอยู่รวมกับสินเชื่อบ้านที่มีหลักประกันจะทำให้ดอกเบี้ยลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 10% สูงกว่าดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ดี ธปท. จะไม่กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ตายตัว เนื่องจากต้องการให้เกิดการแข่งขันในตลาด โดยรายละเอียดของโครงการทั้งหมดจะถูกประกาศในเดือนตุลาคม 

 

“ปัญหาที่เราพบจากการผลักดันเรื่อง Debt Consolidation ในช่วงที่ผ่านมา คือลูกหนี้บางส่วนไม่ต้องการรวมหนี้ไม่มีหลักประกันเข้ากับสินเชื่อบ้าน เพราะกลัวว่าถ้ามีปัญหาบ้านจะถูกยึดไปด้วย ซึ่งเรื่องนี้อาจเราอาจต้องเร่งเข้าไปให้ความรู้ทางการเงิน ว่าถ้ามีปัญหาในส่วนของหนี้ไม่มีหลักประกันในท้ายที่สุดมันก็สามารถลุกลามมาถึงบ้านได้อยู่ดี” สุวรรณีกล่าว

 

ด้าน อรมนต์ จันทพันธ์ รองผู้อำนวยการ กลุ่มงานปรับโครงสร้างหนี้ ธปท. เปิดเผยถึงความคืบหน้าของมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของ ธปท. โดย ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2564 มีลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือภายใต้มาตรการทั้งสิ้น 5.12 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้ 3.35 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินและ Non-Bank 2 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 2.1 ล้านล้านบาท และลูกหนี้ SFIs 3.12 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 1.25 ล้านล้านบาท ทั้งนี้เมื่อรวมลูกหนี้ของสถาบันการเงินและ Non-Bank ที่เข้ามาตรการเร่งด่วนพักชำระหนี้ คิดเป็นมากกว่า 3 ล้านบัญชี 

 

นอกจากนี้ ธปท. ยังได้อนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูไปแล้วทั้งสิ้น 106,156 ล้านบาท โดยถึงเป้าหนึ่งแสนล้านบาทเร็วกว่ากำหนด โดยสินเชื่อกระจายตัวได้ดีและครอบคลุมลูกหนี้จำนวน 34,538 ราย เฉลี่ยรายละ 3.07 ล้านบาท เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (44.3%) ประกอบธุรกิจการพาณิชย์และบริการ (67.2%) และเป็นลูกหนี้ที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด นอกเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (68.4%) 

 

ในส่วนของโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ มีมูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอนแล้ว 15,167 ล้านบาท ผู้ได้รับความช่วยเหลือ 106 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม โรงงาน และสปา อย่างไรก็ดีสำหรับธุรกิจโรงแรมและที่พักมีลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ ไทยที่ได้รับความช่วยเหลือภายใต้มาตรการ 2.83 แสนล้านบาท (65% ของสินเชื่อธุรกิจโรงแรมและที่พักทั้งสิ้น) ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (61%) การช่วยเหลืออื่น เช่น พักชำระหนี้ หรือลดภาระหนี้ระยะสั้น (34%) และโครงการพักทรัพย์พักหนี้ (5%)

 

สำหรับมาตรการแก้หนี้ระยะยาวที่ออกมาล่าสุดในวันที่ 3 กันยายน 2564 ซึ่งเน้นช่วยแก้ไขหนี้เดิมด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ โดยเปิดโอกาสให้ชำระค่างวดในช่วงแรกแบบหน้าต่ำแล้วค่อยทยอยปรับเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องนั้น คาดว่าจะเริ่มเห็นตัวเลขของผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือภายในเดือนตุลาคม

 

อรมนต์กล่าวว่า แนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ในระยะต่อไปของ ธปท. จะดำเนินการภายใต้หลักคิด ได้แก่ 

 

  1. ‘ไปให้ถึง’ โดยเพิ่มการประสานงานเชิงรุกกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการประชาสัมพันธ์มาตรการแก่ลูกหนี้ ตลอดจนรับฟังปัญหาและให้คำปรึกษาในเชิงรุก เพื่อเพิ่มการเข้าถึงและประสิทธิภาพของมาตรการ

 

  1. ‘ช่วยให้มากที่สุด’ ผ่านการออกมาตรการเพิ่มเติมต่อเนื่องตามสถานการณ์ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบให้ได้มากที่สุด เช่น การสนับสนุนการทำรีไฟแนนซ์และการรวมหนี้ (Debt Consolidation) ระหว่างสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อย เช่น บัตรเครดิต หรือ P-Loan เพื่อลดภาระอัตราดอกเบี้ยของลูกหนี้ 

 

  1. ‘ระบบการเงินเดินต่อไปได้’ โดยภายใต้ภาวะที่ความเสี่ยงยังอยู่ในระดับสูงจะต้องเน้นการเลือกใช้มาตรการที่ตรงจุด และไม่ส่งผลกระทบเชิงลบหรือผลข้างเคียงต่อระบบการเงิน เพื่อให้ระบบการเงินและระบบสถาบันการเงินยังทำงานได้ตามปกติและหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจให้ไปต่อได้ ขณะที่ไม่ทำให้ลูกหนี้กลุ่มเสี่ยงและเปราะบางถูกผลักไปอยู่นอกระบบ 
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X