กษิดิศ ตันสงวน รองผู้อำนวยการ กลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการพัฒนา CBDC สำหรับการใช้งานในภาคประชาชน หรือ Retail CBDC ของ ธปท. ว่าขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพูดคุยหารือกับผู้เข้าร่วมทดสอบ รวมถึงนำข้อเสนอแนะต่างๆ มาปรับใช้ โดย ธปท. มีแผนจะเริ่มทดสอบการใช้ Retail CBDC กับภาคประชาชนในวงจำกัดในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 เพื่อประเมินแนวทางการพัฒนาในระยะต่อไป
ทั้งนี้ การทดสอบการใช้ Retail CBDC ของ ธปท. จะแบ่งออกเป็น 2 ด้าน ได้แก่
- การรองรับการใช้งานพื้นฐาน (Foundation Track) เพื่อให้ระบบสามารถเชื่อมโยงกันได้ และมีความปลอดภัยในการใช้บริการ
- Innovation Track คือการต่อยอดบริการไปสู่การโอน จ่าย ถอน ซึ่งต้องประเมินว่าหากเอกชนทำแล้วจะกระทบความเสี่ยงด้านใดบ้าง
กษิดิศระบุอีกว่า หากผลการทดสอบออกมาเป็นที่น่าพอใจ ธปท. จะมีการขยายการทดสอบสู่วงกว้าง ก่อนนำออกไปใช้จริงได้ ส่วนรูปแบบการใช้ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนด แต่อาจจะมีการแยกบัญชีระหว่าง CBDC และเงินฝาก หรืออาจกำหนดให้ต้องใช้ผ่านซูเปอร์แอป
ด้าน สักกะภพ พันธ์ยานุกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า การพัฒนา Retail CBDC ในกรณีของไทย ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อมาทดแทนการบริการชำระเงินที่มีอยู่เดิมหรือการให้บริการของภาคเอกชน แต่เป็นการเตรียมความพร้อมในการเป็นโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการต่อยอดนวัตกรรมการเงินของภาคธุรกิจและประชาชนในอนาคต
ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางในเรื่องนี้ของธนาคารกลางอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา เช่น Public Bank of China (PBoC), Swedish Central Bank, Bank of England หรือแม้กระทั่ง Fed ที่อยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนา CBDC ร่วมกับ Massachusetts Institute of Technology (MIT) เป็นต้น
“ระบบการชำระเงินที่ให้บริการประชาชนในปัจจุบันมีประสิทธิภาพและมีต้นทุนต่ำอยู่แล้ว สะท้อนจากยอดผู้ใช้งานและจำนวนบัญชีพร้อมเพย์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปัจจุบันพร้อมเพย์มีจำนวนผู้ลงทะเบียนแล้ว 67.5 ล้านหมายเลข (ID) มียอดการโอนเงินเฉลี่ย 34.9 ล้านรายการต่อวัน คิดเป็นมูลค่าธุรกรรมเฉลี่ย 9.7 หมื่นล้านบาทต่อวัน ดังนั้นการพัฒนา Retail CBDC จึงไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อมาทดแทนการบริการชำระเงินที่มีอยู่เดิม แต่เป็นการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการต่อยอดนวัตกรรมการเงินในอนาคต” สักกะภพกล่าว
โดยล่าสุด ธปท. ยังได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับมุมมองของ ธปท. ต่อการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินและสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC) โดยระบุว่า ธปท. เห็นความสำคัญและศักยภาพของเทคโนโลยีบล็อกเชนในการเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัย รวมถึงช่วยลดต้นทุนของระบบเศรษฐกิจการเงิน ซึ่งที่ผ่านมาได้สนับสนุนการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้พัฒนากิจกรรมหรือบริการทางการเงินต่างๆ สำหรับภาคธุรกิจ เช่น โครงการ National Digital Identity (NDID) โครงการ Electronic Letter of Guarantee (e-LG) ของภาคธนาคาร หรือการใช้พัฒนาระบบการโอนเงินระหว่างประเทศของผู้ประกอบธุรกิจ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ธปท. ยังคงไม่สนับสนุนให้นำสินทรัพย์ดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of payment: MOP) เนื่องจากอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงกับประชาชน เช่น ความผันผวนด้านราคา ความปลอดภัยของระบบ และอาจเป็นช่องทางของการฟอกเงิน นอกจากนี้หากมีการใช้อย่างแพร่หลายในกิจกรรมการชำระเงินต่างๆ จะส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบการชำระเงินและเสถียรภาพทางการเงิน รวมถึงความสามารถในการดูแลภาวะการเงินในประเทศ
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP