×

แบงก์ชาติเตรียมเปิดเฮียริ่งแนวนโยบายกำกับคริปโตฯ Stablecoin หวังสิ้นปี 64 ออกเกณฑ์ใหม่

19.03.2021
  • LOADING...
แบงก์ชาติเตรียมเปิดเฮียริ่งแนวนโยบายกำกับคริปโตฯ Stablecoin หวังสิ้นปี 64 ออกเกณฑ์ใหม่

สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การพัฒนาเทคโนโลยี Digital Currency หรือคริปโตเคอร์เรนซีต่างๆ โดยเฉพาะคริปโตฯ ที่เป็นแบบ Stablecoin เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งล่าสุดมีภาคเอกชนในต่างประเทศชื่อ Terra จะออก Stablecoin ที่อิงกับสกุลเงินบาทในชื่อ THT 

 

ทั้งนี้ ธปท. พบว่า THT เป็น Stablecoin ที่ใช้ Algorithmic ซึ่งใช้กลไก Smart Contract ในการรักษามูลค่า จะเห็นว่า THT ใช้เงินบาทอ้างอิงแต่ไม่มีสกุลเงินบาทจริงๆ เข้ามาหนุนหลัง ซึ่งอาจเกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นเงินบาท ดังนั้นตามกฎหมายไทยหากมีการกระจายใช้ทดแทนเงินบาทในวงกว้างในฐานะวัตถุหรือเครื่องหมายแทนเงินบาท จนเกิดระบบเงินบาทมากกว่า 1 ระบบ ย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของระบบ

อย่างไรก็ตาม ทาง ธปท. จะมีแนวทางในการกำกับดูแลเรื่องนี้ 3 ส่วน ได้แก่ การชี้แจงกลุ่มที่ผิดกฎหมาย กลุ่มที่ยอมรับให้บริการได้ และกลุ่มที่ต้องพิจารณาเกณฑ์เพิ่มเติม โดยภายในครึ่งปีแรก 2564 ธปท. จะเปิดทำประชาพิจารณ์กับภาคเอกชนและผู้เกี่ยวข้องในเรื่องแนวทางการดูแลคริปโตฯ ประเภท Stablecoin โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเห็นการออกเกณฑ์กำกับดูแลนี้ในช่วงสิ้นปี 

 

โดยเบื้องต้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่

 

  1. Stablecoin ประเภทที่มีเงินบาทหนุนหลัง (Baht-Backed Stablecoin) ที่พยายามลดความผันผวนโดยผูกมูลค่ากับเงินบาท และนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระเงิน ซึ่งหากมีลักษณะเข้าข่ายเป็นบริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ภายใต้ พ.ร.บ. ระบบการชำระเงิน พ.ศ. 2560 ที่ ธปท. กำกับดูแลความเสี่ยง เช่น การชำระราคา การฟอกเงิน ความปลอดภัยทางเทคโนโลยี และการคุ้มครองผู้ใช้บริการ ก็จะต้องใช้กฎหมายนี้ในการกำกับดูแล

    ดังนั้นผู้ที่จะให้บริการในคริปโตฯ ลักษณะนี้ต้องมาหารือกับ ธปท. ก่อน ซึ่งเป็นแนวทางการกำกับดูแลที่ใช้ในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เป็นต้น 

 

  1. Stablecoin ประเภทอื่น เช่น ประเภทที่มีเงินตราต่างประเทศหนุนหลัง (FX-Backed Stablecoin) หรือมีสินทรัพย์ที่มีมูลค่าอื่นๆ หนุนหลัง (Asset-Backed Stablecoin) และประเภทที่ใช้กลไกอื่นๆ เพื่อประมวลผลให้สามารถคงมูลค่าได้แม้ไม่มีสินทรัพย์หนุนหลัง (Algorithmic Stablecoin) ซึ่งแม้ไม่ได้เข้าข่ายผิดกฎหมาย แต่จะมีการออกแนวทางกำกับดูแลที่เหมาะสมในอนาคต

 

ทั้งนี้ จุดต่างระหว่าง e-Money และ Stablecoin แบบมีเงินบาทหนุนหลังคือ ตัว e-Money จะใช้ระบบเดียวในการควบคุมดูแล แต่ Stablecoin อาจใช้ระบบ Public ในการเชื่อมโยงระบบหลังบ้าน ซึ่งทำให้อาจเกิดความเสี่ยงในมิติต่างๆ มากขึ้น โดยทั้ง 2 รูปแบบเมื่อมีการใช้ในวงจำกัด ผู้ใช้งานย่อมต้องรับความเสี่ยงและความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม ธปท. เตรียมออก Stablecoin แบบ CBDC ในลักษณะรายย่อย โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษา และเตรียมออก Direction Paper เพื่อบอกแนวทางปฎิบัติ ซึ่งตั้งแต่ปี 2018 มาทาง ธปท. ใช้ Stablecoin เงินบาท หรือ CBDC กับวงธนาคารไทยอยู่แล้ว เพื่อทดสอบการเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการเงินไทย 

 

ทั้งนี้ การออก CBDC รายย่อยนี้ หลายฝ่ายธนาคารกลางในและต่างประเทศมีการศึกษาทดลองอย่างต่อเนื่อง โดยมีความกังวลในหลายด้าน เช่น หากเป็นเงินดิจิทัลหากเกิดการไถ่ถอนอย่างรวดเร็วจะมีผลกระทบอย่างไร

 

“ธปท. มีหน้าที่ดูแลมูลค่า เพื่อดูแลผู้ที่ใช้เงินบาทสามารถใช้เงินได้ถูกต้องตามกฎหมาย และเข้าดูแลมูลค่าอย่างต่อเนื่อง” 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X