×

ธปท. ชี้ เศรษฐกิจเดือน ก.ค. แผ่ว ค่าครองชีพสูงฉุดการบริโภค ขณะที่ส่งออกชะลอตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้า

31.08.2022
  • LOADING...

ธปท. เผย เศรษฐกิจเดือนกรกฎาคมแผ่วลง หลังค่าครองชีพกดดันการบริโภค ขณะที่ส่งออกชะลอตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้า ชี้บาทอ่อนจากการส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยของ Fed แต่ยังไม่พบความผิดปกติของเงินทุนเคลื่อนย้าย ลุ้นท่องเที่ยวฟื้นช่วยพลิกดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวกในไตรมาส 4 

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือนกรกฎาคม 2565 โดยระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยชะลอลงบ้าง โดยเครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนปรับลดลงหลังจากเร่งไปในช่วงก่อนหน้า สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าปรับลดลง สอดคล้องกับอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว ด้านการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง อย่างไรก็ดี ภาคบริการยังคงปรับดีขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลังผู้ผลิตได้รับชิ้นส่วนการผลิตจากต่างประเทศมากขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน แม้อัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานชะลอลง แต่อัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งขึ้น สำหรับตลาดแรงงานทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากขึ้นจากดุลการค้าที่กลับมาขาดดุล ตามมูลค่าการส่งออกที่ลดลง ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลใกล้เคียงกับเดือนก่อน

 

ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธปท. ระบุว่า การบริโภคของภาคเอกชนที่ชะลอตัวลงในเดือนกรกฎาคม เป็นผลมาจากความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูง ขณะที่มูลค่าการส่งออกปรับลดลงจากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว โดยเฉพาะ 1. โลหะตามความต้องการในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่ลดลง 2. สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ตามอุปสงค์โลกที่ลดลง และ 3. สินค้าเกษตรส่งออกไปจีนหลังเร่งไปในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี การส่งออกบางหมวดเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน เช่น สินค้าเกษตรแปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์

 

สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในเกือบทุกสัญชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวอาเซียน เป็นผลจากการที่ภาครัฐยกเลิกการลงทะเบียนเข้าไทยผ่านระบบThailand Pass ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 และอนุญาตให้เดินทางผ่านชายแดนไทยได้มากขึ้น อีกทั้งหลายประเทศต้นทางผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง 

 

โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยแล้ว 3.2 ล้านคน ทำให้ธุรกิจในภาคบริการปรับดีขึ้น ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร และขนส่ง 

 

ด้านสถานการณ์ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา เป็นผลมาจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณชัดเจนในการประชุมที่ Jackson Hole ว่าจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่หมัด ซึ่งอาจทำให้เสี่ยงเกิดเศรษฐกิจชะลอลงในระยะข้างหน้า นักลงทุนจึงระมัดระวังลงทุนในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทย ทำให้เงินสกุลตลาดเกิดใหม่อ่อนค่าลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ในภาพรวมยังไม่พบกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ผิดปกติ

 

“ปัจจัยหลักที่ทำให้เงินบาทอ่อนในช่วงนี้คือการส่งสัญญาณของ Fed แต่เราก็ไม่ได้กังวล เพราะยังไม่พบเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ผิดปกติ เพราะนักลงทุนไม่ได้ดูแค่ส่วนต่างดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว โดยการดำเนินนโยบายการเงินของไทยจะพิจารณาภายใต้บริบทของตัวเอง ที่ต้องการให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างไม่สะดุด ” ชญาวดีกล่าว

 

นอกจากนี้ ชญาวดียังกล่าวถึงตัวเลขการนำเข้าในเดือนกรกฎาคมที่อยู่ในระดับสูง แม้ว่าการส่งออกจะชะลอตัวลงว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยพิเศษคือการนำเข้าทองคำ ขณะที่อีกส่วนเป็นการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ไม่รวมเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมที่อยู่ในทิศทางฟื้นตัว ทำให้ปัญหาการขาดดุลยังไม่น่ากังวล โดยมีโอกาสที่ในไตรมาสที่ 4 ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะกลับมาเป็นบวกตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

 

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในเดือนสิงหาคม มองว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่ต้องติดตาม 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1. การปรับขึ้นของต้นทุน ค่าจ้าง และราคาสินค้า 2. อุปสงค์ของต่างประเทศที่ชะลอตัว และ 3. การแพร่ระบาดของโควิด และนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X