×

แบงก์ชาติยอมรับ เข้า ‘แทรกแซง’ เงินบาทช่วงแข็งค่า-ผันผวนสูง ดันเงินสำรองฯ พุ่ง

30.09.2024
  • LOADING...
เงินบาท

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับเข้า ‘แทรกแซง’ เงินบาท ในช่วงแข็งค่าและผันผวนสูง ส่งผลให้เงินสำรองระหว่างประเทศของไทยสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี

 

วันนี้ (30 กันยายน) ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษก ธปท. กล่าวว่า ธปท. ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเข้าดูแลในช่วงที่ค่าเงินบาทผันผวนรุนแรง เพื่อลดผลกระทบ โดยส่วนหนึ่งจึงสะท้อนให้เห็นว่าเงินสำรองระหว่างประเทศของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

อย่างไรก็ดี ชญาวดีกล่าวเพิ่มเติมว่า เงินสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นมาก็เป็นผลจากหลายส่วนเช่นกัน รวมถึงเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง ทำให้ Valuation ของเงินสำรองระหว่างประเทศของไทยเพิ่มขึ้นด้วย อีกส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน

 

ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ของ ธปท. แสดงให้เห็นว่าเงินสำรองระหว่างประเทศรวม (Gross International Reserves) ล่าสุด (ณ วันที่ 20 กันยายน 2567) อยู่ที่ 240,866 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับว่าเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบกว่า 2 ปี หรือตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2565

 

นอกจากนี้ ชญาวดีอธิบายว่า ที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าขึ้น รวมทั้งมีการเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างผันผวนและค่อนข้างเร็ว เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

 

  1. ดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่า หลังตลาดปรับเพิ่มจากการคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) หลังตัวเลขเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าที่คาด

 

  1. การแข็งค่าขึ้นของหลายสกุลเงินในภูมิภาคตามเงินเยน หลังธนาคารกลางญี่ปุ่นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่ตลาดคาด และเจ้าหน้าที่หลายคนมีท่าทีค่อนข้าง Hawkish และการแข็งค่าของเงินหยวนหลังรัฐบาลจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

  1. แรงกดดันจากราคาทองคำที่เพิ่มขึ้น

 

  1. ปัจจัยเฉพาะในประเทศ ได้แก่ รัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้น มีความชัดเจนในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น และความเชื่อมั่น (Sentiment) ในตลาดหุ้นไทยก็ปรับดีขึ้น

 

สำหรับผลกระทบต่อการส่งออก ชญาวดีกล่าวว่าเมื่อเงินบาทแข็งจะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก เมื่อผู้ส่งออกแปลง (Convert) รายได้กลับมาเป็นเงินบาท ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะของธุรกิจด้วย เช่น ถ้าเป็นผู้ส่งออกที่นำเข้าสินค้าเข้ามาเยอะก็จะได้รับผลกระทบน้อยกว่า ขณะที่กลุ่มที่มีการนำเข้า (Import Content) ค่อนข้างน้อยก็จะได้รับผลกระทบมากกว่า อาทิ กลุ่มเกษตรที่ส่วนใหญ่จะส่งออกหรือไม่ได้นำเข้าเพื่อผลิต ก็จะได้รับผลกระทบมากหน่อย

 

ถึงกระนั้น ถ้ามองฝั่งปริมาณและความสามารถในการส่งออก จากสถิติเดิมพบว่า ทุกครั้งที่บาทแข็งค่าไม่ได้ทำให้ปริมาณการส่งออกของไทยรับผลกระทบมาก แต่ขึ้นอยู่กับอุปสงค์ของประเทศคู่ค้ามากกว่า

 

สำหรับผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ชญาวดีมองว่าการท่องเที่ยวไทยเป็นสินค้าที่แทนกันไม่ได้ ขณะที่นักท่องเที่ยวกลุ่ม Long Haul ก็คาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบมาก เพราะตั้งใจ วางแผน และจองมาอยู่แล้ว แต่อาจมีการปรับลดค่าใช้จ่ายบ้าง

 

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวมาเลเซีย ญี่ปุ่น และจีน อาจไม่ได้รับผลกระทบเท่าไร เนื่องจากค่าเงินในประเทศต่างๆ ดังกล่าวก็แข็งขึ้นมากเช่นกัน

 

ธปท. มองเศรษฐกิจเดือนสิงหาคม ‘ทรงตัว’

 

โดยในงานแถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนสิงหาคม 2567 ชญาวดีกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเดือนสิงหาคม 2567 โดยรวมทรงตัวจากเดือนก่อน การบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากหมวดสินค้าไม่คงทน ส่วนการส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นในหลายหมวดสินค้า ซึ่งบางส่วนเป็นปัจจัยชั่วคราว การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากทั้งรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลางและรายจ่ายลงทุนของทั้งรัฐบาลกลางและรัฐวิสาหกิจ

 

อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวชะลอลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงหลังเร่งไปในช่วงก่อนหน้า ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนลดลงจากหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวหลังจากเร่งไปในเดือนก่อน ประกอบกับสินค้าคงคลังในหลายหมวดยังอยู่ในระดับสูง

 

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นจากดุลการค้า ตามมูลค่าการนำเข้าที่ลดลงเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอน
ขาดดุลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานโดยรวมปรับดีขึ้นจากการจ้างงานทั้งในภาคการผลิตและภาคบริการ

 

เปิดแนวโน้มระยะต่อไป

 

กิจกรรมทางเศรษฐกิจคาดว่ายังมีแรงส่งจากภาคบริการเป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังทยอยฟื้นตัว โดยต้องติดตามปัจจัยต่างๆ ดังนี้

 

  1. การฟื้นตัวของการผลิตและการส่งออก
  2. ผลของการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการภาครัฐ
  3. ผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมที่มีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
  4. ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X