ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมของไทยเร่งตัวขึ้นไปถึง 7.1% สูงที่สุดในรอบ 14 ปี และเพิ่มขึ้นจาก 4.7% ในเดือนก่อน ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน (หักอาหารสดและพลังงานออก) ขยับขึ้นไปอยู่ที่ 2.3% หลังจากที่อยู่ในระดับต่ำมานานหลายปี
จริงๆ เงินเฟ้อที่ขยับขึ้นอาจไม่น่าประหลาดใจนัก เพราะเดือนก่อนมีเรื่อง Base Effect จากการปรับการอุดหนุนค่าไฟเมื่อปีที่แล้ว มาทำให้เงินเฟ้อเดือนก่อนต่ำเกินจริงไปประมาณ 1%
โดยต้นเหตุสำคัญของเงินเฟ้อยังคงมาจากประเด็นต้นทุน ทั้งราคาพลังงานและอาหารที่ปรับสูงขึ้นจากปัจจัยภายนอก และปัญหาค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้นเร็วกว่ารายได้มากๆ จะเรียกว่าเป็นปัญหา Stagflation ก็คงไม่ผิดนัก
เชื่อว่าเงินเฟ้อไทยยังไม่ถึงจุดสูงสุด และน่าจะขยับขึ้นต่อเนื่องไปอีกหลายเดือนจากสาเหตุหลายประการ
- ราคาน้ำมันขยับขึ้นเพิ่มอีกจากการคว่ำบาตรพลังงานของสหภาพยุโรป และอุปสงค์มีแนวโน้มขยับขึ้นต่ำ เนื่องจากการเปิดเมืองของจีนและฤดูกาลขับรถของสหรัฐอเมริกา
- เรายังมีการอุดหนุนราคาอีกหลายเรื่องที่จะต้องค่อยๆ เอาออก และสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มเติมอีก
เช่น ก่อนหน้านี้เราพยายามอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร และขยับเพิ่มขึ้นมาที่ 32.9 บาท และกำลังจะขยับเพิ่มขึ้นไปที่ 34 บาทต่อลิตรในไม่ช้า แต่การอุดหนุนนี้มีต้นทุนมหาศาล
เชื่อไหมครับว่าราคาน้ำมันปัจจุบันนั้นกองทุนน้ำมันอุดหนุนน้ำมันดีเซลอยู่ลิตรละ 8.5 บาท รัฐบาลลดภาษีสรรพสามิตให้อีกลิตรละ 5 บาท แปลว่าตอนนี้ทุกลิตรที่เราใช้น้ำมันดีเซล รัฐเสียรายได้และสร้างหนี้เพิ่ม 13.5 บาท แต่ละวันเรามีการอุปโภคน้ำมันดีเซลประมาณ 65 ล้านลิตร แปลว่าต้นทุนการอุดหนุนวันละกว่า 800 ล้านบาท เดือนละกว่า 2 หมื่นล้านบาท ถ้าทำไปทั้งปีจะมีต้นทุนกว่า 3 แสนล้านบาท หรือกว่า 10% ของงบประมาณทั้งปี!
ซึ่งทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไม่ได้แน่นอน ตอนนี้กองทุนน้ำมันติดลบไปแล้วกว่า 8 หมื่นล้านบาท และน่าสนใจว่ารัฐจะอุดหนุนต่ออย่างไร เราคงจะต้องเห็นราคาน้ำมันทยอยขยับขึ้นแน่ๆ ซึ่งจะส่งผลต่อเงินเฟ้อทั้งทางตรงจากราคาน้ำมันและทางอ้อมจากต้นทุนการขนส่งและการประกอบการที่สูงขึ้น
นี่ยังไม่นับก๊าซหุงต้มที่กำลังขยับขึ้น ค่าไฟฟ้าที่ขยับขึ้นแล้วและจะขยับขึ้นอีกจากต้นทุนพลังงานที่ขยับขึ้น และราคาสินค้าอื่นๆ ที่รออยู่
- เงินเฟ้อว่าสูงแล้ว แต่ถ้าเราดูดัชนีราคาผู้ผลิตซึ่งสะท้อนต้นทุนจะพบว่า เงินเฟ้อในฝั่งต้นทุนเพิ่มขึ้นมากกว่าฝั่งผู้บริโภคเสียอีก แปลว่าผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น และยังส่งผ่านไปให้ผู้บริโภคได้ไม่เต็มที่จากสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ดีนัก
แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกำลังกัดกร่อนกำลังซื้อของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินเฟ้อที่เกิดจากต้นทุนพลังงานและอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต
แม้ว่าเราจะเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหาร แต่ประเทศไทยมีสัดส่วนการบริโภคพลังงานและอาหารในตะกร้าบริโภคสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทำให้ผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้ออาจมีมากกว่า และคนมีรายได้น้อยก็มีการบริโภคอาหารและพลังงานสูงกว่าคนรวย
ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ ความเป็นอยู่ เงินออม ความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ของคนจำนวนมาก และกระทบต่อกำไรของผู้ประกอบการที่อาจต้องลดต้นทุน ลดการลงทุน ลดการจ้างงาน และเริ่มทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นจากการแตะเบรกของธนาคารกลางทั่วโลก
เงินเฟ้อจึงเป็น Clear and Present Danger ของเศรษฐกิจไทยอย่างแท้จริง และเป็นความท้าทายสำคัญต่อแบงก์ชาติที่มีภาระหนักอึ้งในการหาสมดุลระหว่างการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่กำลังอ่อนแอและมีความเสี่ยงกับแรงกดดันจากเงินเฟ้อ
เพราะเครื่องมือที่แบงก์ชาติมีในการคุมเงินเฟ้อสูงคือ การแตะเบรกเศรษฐกิจที่อาจจะสร้างปัญหาอื่นตามมาในภาวะที่เศรษฐกิจยังไม่แข็งแรง
แม้เงินเฟ้อมาจากต้นทุนและปัญหาด้านอุปทานเสียส่วนใหญ่ แต่หากทิ้งเอาไว้นานๆ จะทำให้เงินเฟ้อติดลมบน โดยเฉพาะเมื่อการคาดการณ์เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และมีสิ่งที่เรียกว่า Wage-Price Spiral ที่ทำให้มีแรงกดดันเงินเฟ้อต่อเนื่องไปอีก
และแบงก์ชาติอาจเจอปัญหาเดียวกับธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่เมื่อปีก่อนพยายามยืนยันว่าเงินเฟ้อเป็นปัญหาชั่วคราว (Transitory) ไม่เป็นปัญหานาน (Non-Persistent) และความเสี่ยงของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทำให้ควรกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป (ยังคงทำ QE ต่อเนื่องจนถึงปลายปีที่แล้ว และเพิ่งจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยไม่นานมานี้)
กว่าจะรู้ตัวก็พบว่าตัวเอง Behind the Curve หรือขยับช้าไปมาก จนต้องเร่งแตะเบรกหนักกว่าที่ควรในปัจจุบัน เพราะนโยบายการเงินต้องใช้เวลากว่าจะเริ่มเห็นผล
เป็นปัญหาที่ท้าทายต่อธนาคารกลางเป็นอย่างมาก ขยับเร็วก็ไม่ได้ ขยับช้าก็อาจจะช้าเกินไป
และนี่ยังไม่รวมความท้าทายอื่นๆ จากภายนอกที่อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของเราอีก
สถานการณ์น่าเป็นห่วงจริงๆ