ช่วงที่ผ่านมา ธปท. และทุกฝ่ายมองว่าค่าเงินบาทผันผวนอย่างต่อเนื่อง ทั้งในขาอ่อนค่าและแข็งค่า แต่ช่วงที่ถูกจับตามองมากที่สุดคือช่วงปลายเดือนตุลาคม ถึงต้นเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว
ปัจจุบันค่าเงินบาทอยู่ที่ 30.29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าต่อเนื่องราว 3.1% จากวันที่ 28 ตุลาคม อยู่ที่ราว 31.26 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุเพราะเม็ดเงินจากต่างชาติไหลเข้าตลาดเงินกลุ่มประเทศเกิดใหม่และไทย
จากสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่า ทำให้ผู้ที่ดูแลเสถียรภาพตลาดเงินของไทยอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ดูแลค่าเงินมาตลอดประกาศว่าจะออกมาตรการเพิ่มเติม แต่ทำไมต้องออกมาตรการในช่วงนี้?
ธปท. ย้ำจุดยืนดูแลค่าเงินมาตลอด ถึงเวลาสร้าง FX Ecosystem ใหม่
วชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่ผันผวนสูงช่วงที่ผ่านมาเกิดจากปัจจัยนอกประเทศเป็นหลัก ทั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และข่าวการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนต่อภาวะเศรษฐกิจโลกมีมากขึ้น และหันกลับมาลงทุนในสินทรัพย์ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมถึงไทย ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็ว
ทั้งนี้ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามาจาก 3 ปัญหาใหญ่ที่มีอยู่เดิม ได้แก่
- ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ไทยมีเงินเข้าประเทศมากแต่มีขาออกน้อยกว่า
- ผู้ประกอบการยังเข้าไม่ถึงระบบการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน
- ผู้เล่นต่างประเทศและปัจจัยภายนอกมีผลต่อทิศทางค่าเงินบาทค่อนข้างสูง
ต้องยอมรับว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังเปราะบาง ดังนั้น ธปท. ที่ติดตามและเข้าดูแลตลาดอัตราแลกเปลี่ยนมาอย่างต่อเนื่อง จึงออกมาตรการในการดูแลค่าเงินที่จะช่วยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงสร้างสมดุลในตลาดค่าเงินด้วย โดยการออกมาตรการเพิ่มเติมในวันนี้เป็นการผลักดันให้เกิดระบบนิเวศของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ (FX Ecosystem)
ซ้าย – วชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท.
ขวา – ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.
ปรับโครงสร้างเพิ่มสมดุลเงินบาททั้งขาเข้า-ขาออก ลดผลปัจจัยภายนอก
วชิราเล่าว่า การทำ FX Ecosystem ใหม่นี้ก็เพื่อสร้างสมดุลในการเคลื่อนย้ายของเงินทุนมากขึ้น ทั้งเงินขาเข้าประเทศและขาออกประเทศต้องสมดุลกัน เพราะส่วนหนึ่งเมื่อเงินไหลเข้ามาในประเทศมาก จะมีข้อดีคือสภาพคล่องสูงขึ้น แต่หากเม็ดเงินเข้ามามากเกินไปอาจกระทบต่อเสถียรภาพได้
ดังนั้นสร้างสมดุลต้องทำทั้งในมิติการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างผ่านการเปิดเสรีให้การลงทุนในต่างประเทศของรายย่อยและสถาบันสะดวกและง่ายขึ้น โดยต้องสร้างการแข่งขันในกลุ่มผู้ให้บริการ เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกและมีต้นทุนถูกลงในการบริหารความเสี่ยง ที่สำคัญต้องมีข้อมูลเพื่อการประเมินความเสี่ยงในการออกมาตรการที่ทันสถานการณ์ นำสู่ 3 มาตรการของ ธปท. ที่ออกมาในวันนี้
3 มาตรการของ ธปท. ในการสร้าง FX Ecosystem
ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. สรุป 3 มาตรการที่ออกมาเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ว่า
- เปิดให้คนไทยฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) ได้เสรี เช่น การโอนเงินระหว่างบัญชี FCD ของคนไทยได้เสรี เพื่อให้ผู้ประกอบการทำธุรกรรมได้สะดวก และสามารถกระจายความเสี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์สกุลเงินตราต่างประเทศได้ทั้งการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ การซื้อขายทองคำเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
- การปรับกฎเกณฑ์และกระบวนการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ มี 3 ส่วน ได้แก่
- เพิ่มวงเงินลงทุนให้นักลงทุนรายย่อยลงทุนโดยตรงได้เป็น 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จากเดิม 200,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี และไม่จำกัดวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่ลงทุนผ่านตัวกลางในประเทศ เช่น บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)
- ยกเลิกการจำกัดวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศสำหรับนักลงทุน ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
- เปิดให้นำหลักทรัพย์ต่างประเทศมาซื้อขายในไทยโดยไม่จำกัดวงเงิน เช่น กองทุนรวมดัชนี (ETF) ที่อ้างอิงหลักทรัพย์ต่างประเทศได้
- การลงทะเบียนแสดงตัวตนเพื่อซื้อขายตราสารหนี้ เพื่อให้ ธปท. มีข้อมูลเพื่อติดตามพฤติกรรมของนักลงทุนอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะมีข้อมูลที่ช่วยให้ ธปท. ออกนโยบายได้ตรงจุดและทันการณ์ โดยต่างประเทศมีแนวทางการดูแลที่แตกต่างกัน (ข้อมูลเพิ่มในภาพ)
ทั้งนี้การเปิดเสรีบัญชี FCD (1) และการปรับเกณฑ์ฯ การลงทุนในต่างประเทศ (2) จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันนี้ และคาดว่าสิ้นเดือนนี้จะเริ่มทำธุรกรรมได้เลย ขณะที่การลงทะเบียนยืนยันตัวตน (3) อยู่ระหว่างการพูดคุยกับ ก.ล.ต. และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องคาดว่าปีหน้าจะเริ่มใช้จริง
อย่างไรก็ตาม การดูแลและปรับโครงสร้างค่าเงินในไทย ธปท. มีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 ที่ ธปท. เปิดให้นักลงทุนรายย่อยสามารถไปลงทุนตรงในต่างประเทศได้สูงสุด 2 แสนดอลลาร์สหรัฐ
ขณะเดียวกันการเปิดเสรีที่มากขึ้นก็หมายถึงการติดตามจะกลายเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นโจทย์ใหญ่ให้ ธปท. ต้องออกมาตรการที่ตรงจุดและทันการณ์ยิ่งขึ้น
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า