Savita Subramanian หัวหน้าฝ่ายหุ้นสหรัฐฯ และกลยุทธ์เชิงปริมาณของ Bank of America ร่วมสนทนาพอดแคสต์ ‘What Goes Up’ ในสัปดาห์นี้ว่า ทำไมภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว (Recession) ในปีนี้อาจไม่เหมือนในอดีต รวมทั้งผลกระทบต่อตลาดหุ้นในปี 2023
Savita คาดการณ์ว่าราคาเป้าหมายสิ้นปีของดัชนี S&P 500 อยู่ที่ประมาณ 4,000 จุด โดยแบ่งสถานการณ์ตลาดออกเป็น 2 กรณีคือ กรณีตลาดกระทิง หากทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี ดัชนีอาจพุ่งสูงถึง 4,600 จุด ขณะที่กรณีตลาดหมี ราคาเหมาะสมสำหรับตลาดคือ 3,000 จุด แต่อาจลดลงมากกว่านี้ ดังนั้นมุมมองในปี 2023 อาจเป็นปีที่ดัชนีตลาดไม่โดดเด่นนัก แต่อาจมีบางภาคส่วนที่เติบโตได้ดีภายในปีนี้
ประเด็นที่นักลงทุนรู้สึกว่านักวิเคราะห์หลายรายประมาณการรายได้ของหุ้นผิดพลาด Savita อธิบายว่า นักวิเคราะห์กำลังอยู่ในช่วง ‘รอและจับตามอง’ เช่นเดียวกับบางบริษัท เพราะสิ่งที่น่าประหลาดใจในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาคือ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะพุ่งสูง ประกอบกับแรงกดดันด้านต้นทุนและค่าจ้าง แต่บริษัทต่างๆ สามารถจัดการได้โดยการกำหนดราคาผลิตภัณฑ์สูงขึ้นหรือลดต้นทุนลง ยิ่งไปกว่านั้นบริษัทมีความรวดเร็วมากต่อการลดค่าใช้จ่าย จากที่เห็นในพาดหัวข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งกำลังปลดพนักงาน แม้อาจไม่ดีต่อเศรษฐกิจ แต่ดีสำหรับผลกำไรของบริษัท
ทั้งนี้ เราอาจเห็นแนวโน้มการปรับลงของผลกำไรบางส่วน จากการคาดการณ์การเติบโตของกำไรในปี 2023 คือ 200 ดอลลาร์สำหรับดัชนี S&P 500 ถือว่าลดลงประมาณ 10% จากรายได้สูงสุดถึงต่ำสุด และเป็นเรื่องสมเหตุสมผลท่ามกลางการคาดการณ์ว่าจะเกิดเศรษฐกิจถดถอยในปีนี้ รายได้ที่ลดลง 10% นับเป็นครึ่งหนึ่งของรายได้บริษัทถดถอยที่ลดลง ดังนั้นเราจะเห็นการประมาณการเหล่านี้ลดลง และมีแนวโน้มเกิดขึ้นหลังจากที่บริษัทจัดการกับรายได้ในปี 2023 อย่างจริงจังมากขึ้น แต่ทุกบริษัทจะยังเผชิญกับแรงกดดันของต้นทุน โดยเฉพาะต้นทุนแรงงาน
นอกจากนี้ Savita ระบุว่า นี่ไม่ใช่ภาวะถดถอยที่เหมือนกับยุคพ่อแม่ของเรา หากลองเทียบกับวิกฤตการเงินในปี 2008 ผลกระทบได้แพร่กระจายเป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะบริษัท ผู้บริโภค หรือเจ้าของบ้าน ซึ่งได้รับแรงกดดันจากวัฏจักรสินเชื่อจำนวนมหาศาล แต่ปัจจุบันบริษัทและผู้บริโภคค่อนข้างมีเงินทุนดีในระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็ในตอนนี้ ถึงแม้นั่นอาจเป็นผลลัพธ์จากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นเวลานาน แต่สิ่งที่บริษัทในตอนนี้ได้เรียนรู้จากวิกฤตในปี 2008 คือ อย่าก่อหนี้มากนัก ซึ่งตอนนี้หลายบริษัทจึงมีภาระผูกพันที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำค่อนข้างนานในด้านตราสารหนี้
ดังนั้นเราจึงเห็นการเปิดรับหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ในระยะยาว นับเป็นข่าวดีเพราะอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในอนาคตจะไม่กระทบต่อบริษัทเหล่านี้ในชั่วข้ามคืน และจากที่ผู้บริโภคได้รับเงินสดจำนวนมากจากรัฐบาลในปี 2020 และ 2021 ดังนั้นงบดุลของผู้บริโภคและบริษัทจึงค่อนข้างดูดี หากเราพิจารณางบดุลของ Fed เราได้เห็นการซื้อพันธบัตรมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีสำหรับสินทรัพย์เสี่ยง แต่ Fed จะจัดการกับหนี้ทั้งหมดได้อย่างไร ความกังวลจึงเกิดขึ้นในภาครัฐมากกว่าภาคเอกชน นี่จึงเป็นหนังที่เราไม่เคยชมมาก่อนและต้องติดตามดูตอนต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รายงานชี้ Fed ขึ้นดอกเบี้ยไม่ช่วยสกัดเงินเฟ้อ ตราบใดที่การใช้จ่ายภาครัฐยังอยู่ในระดับสูง
- วิเคราะห์ 5 สัญญาณ บ่งชี้ เงินเฟ้อ โลกใกล้ถึงจุดพีค
- เศรษฐกิจสหรัฐฯ ‘หดตัว’ สองไตรมาสต่อเนื่อง เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค ขณะที่ NBER ยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ
อ้างอิง: