×

แบงก์-นอนแบงก์ จับตามาตรการแฮร์คัตหนี้รายย่อย ย้ำมีแพ็กเกจช่วยลูกค้าเฉพาะกลุ่ม

14.05.2021
  • LOADING...
แบงก์-นอนแบงก์

ช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบในหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องรายได้ของคนไทย ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธนาคาร และนอนแบงก์ ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ แม้ว่าช่วงแรกจะเป็นการปูพรมช่วยทุกคน แต่เมื่อมีข้อมูลมากขึ้น ก็ทำให้มาตรการเป็นรูปแบบเฉพาะกลุ่มมากขึ้น

 

ล่าสุดมีข่าวว่า ธปท. และกระทรวงการคลัง (ผ่านกรมสรรพากร) จะมีมาตรการฯ ช่วยให้ลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ได้ง่ายขึ้น ผ่านการตัดหนี้ หรือ ‘แฮร์คัต’ ไม่ว่าจะเงินต้นหรือส่วนดอกเบี้ยในลูกค้ารายย่อย โดยส่วนที่ตัดหนี้ให้นั้นทางผู้ให้บริการสามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนภาษีได้ 

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการแฮร์คัตในธุรกิจการเงินจะใช้กับเงินส่วนดอกเบี้ย โดยจะมีการเจรจาระหว่างลูกหนี้และสถาบันการเงิน แต่หากต้องการแฮร์คัตเงินต้นอาจเกิดขึ้นได้ แต่เกิดขึ้นน้อยมาก ส่วนหนึ่งเพราะอาจะเป็นการสนับสนุนวินัยทางการเงินที่ไม่ดี

 

แหล่งข่าวธุรกิจการเงินเปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ปกติแล้วการแฮร์คัตจะทำในส่วนดอกเบี้ยซึ่งเจรจากันอยู่แล้ว และช่วงที่ผ่านมาก็ยังทำต่อเนื่อง ซึ่งในกรณีการแฮร์คัตและนำส่วนนี้มาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ อย่างน้อยสถาบันการเงินนั้นจะได้เงินคืนราว 20% อาจะเป็นแรงกระตุ้นให้มีการแฮร์คัตกับลูกหนี้ และสนับสนุนให้สถาบันการเงินให้ลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ได้มากขึ้น

 

แต่มองว่ามาตรการดังกล่าวอาจต้องดูขอบเขตลูกหนี้ที่เข้าเกณฑ์ เช่น ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หนี้มีปัญหา ฯลฯ และขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัท

 

“โดยคอนเซปต์ตอนนี้ ธปท. ให้สถาบันการเงินดูแลลูกค้าของตนเองผ่านการเลือกออกมาตรการที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะพักต้น พักดอก ยืดหนี้ ฯลฯ ซึ่งหลักการทั่วไปแบงก์ไม่ค่อยมีส่วนลดเงินต้น จะเกิดขึ้นเฉพาะมีเหตุอันควรเท่านั้น”

อนุวัติร์ เหลืองทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าบุคคล ธนาคารทหารไทยธนชาต  (ttb) หรือ ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า จากการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ทางธนาคารต้องติดตามสถานการณ์และผลกระทบอย่างใกล้ชิด โดยช่วงที่ผ่านมามีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่องในทุกเซกเมนต์ เพื่อช่วยให้ลูกค้ากลับมาชำระได้ตามปกติ ซึ่งหากต้องมีการแฮร์คัตก็ยังทำได้ไม่ง่ายนัก

 

“ตอนนี้โควิด-19 ยังต้องติดตามว่าจะจบเมื่อไร หลายฝ่ายจึงต้องรอดูและค่อยๆ มอนิเตอร์ในการให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับลูกค้า โดยจะให้ความช่วยเหลือเฉพาะราย” 

 

ขณะที่การปล่อยสินเชื่อรายย่อยปี 2564 มองว่าจะเติบโตตาม GDP โดยยังมีบางเซกเมนต์ที่เติบโต เช่น สินเชื่อบ้านอย่างบ้านเดี่ยว คนทำงานที่มีรายได้หรือกลุ่มขายของออนไลน์ที่ยังขยายตัว แต่ลูกค้าจะมีทางเลือกในการกู้ยืมมากขึ้นในช่วงนี้ อย่างไรก็ตาม ทางธนาคารมุ่งเน้นการดูแลลูกค้าปัจจุบันเป็นหลัก ทั้งการยืดหนี้ตามความสามารถในการผ่อนชำระ และความช่วยเหลืออื่นๆ 


ชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า กรณีมาตรการแฮร์คัต จากข้อมูลปัจจุบันยังประเมินได้ยาก ขณะนี้ยังไม่มีมาตรการที่เปิดให้แฮร์คัตกับลูกค้าทั่วไป โดยจากข้อมูลที่อยู่ในขณะนี้พบว่ามีการแฮร์คัตหนี้ในบางกรณีที่ลูกหนี้มีการขายทรัพย์ทอดตลาดแล้วแต่ยังมีหนี้สินเหลือไม่มาก จะมีการแฮร์คัตหนี้หลังการขายทรัพย์นั้น แต่กระบวนการถือว่ายาวมาก

 

ด้านณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ กล่าวว่า การแฮร์คัตปัจจุบันอาจจะมีขอบเขตในการทำได้หลายแบบ แต่ในส่วนของนอนแบงก์จะเน้นการปรับให้ลูกค้าผ่อนชำระยาวขึ้นเพื่อลดค่างวดลงอยู่แล้ว และยืดหยุ่นเกณฑ์ต่างๆ เพื่อลดภาระการผ่อนชำระให้ลูกค้า เช่น การลดขั้นต่ำในการผ่อนชำระอย่างบัตรเครดิตอยู่ที่ 5% ของยอดเงิน หรือสินเชื่อส่วนบุคคลที่ 3%

 

ทั้งนี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆ ทั้งการแพร่ระบาด และลูกค้า ว่ามาตรการความช่วยเหลือต่างๆ จะขยายระยะเวลาให้นานขึ้นอย่างไร

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X