ปีนี้มีหลายเรื่องราวเศรษฐกิจให้เราได้เกาะติดไม่น้อย เรื่องที่ใกล้ตัวและสะท้อนชัดเจนที่สุดคือปรากฏการณ์ปลดพนักงาน จนต้องเรียกได้ว่าเป็นปีแห่งการ Lay-off ทั้งโลกเลยก็ว่าได้ ซึ่งล่าสุดถึงคิวของแวดวงธนาคารที่ปลดพนักงานรวมกันมากกว่า 60,000 คนไปในปีนี้ ไม่ต่างไปจากวงการเทค
“และถือเป็นหนึ่งในปีที่มีการปลดพนักงานภาคธนาคารมากที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลก”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ปี 2023 Google-Microsoft-Meta-Amazon ทยอยเลิกจ้างพนักงานถึง 1 แสนคน กำลังบอกอะไร?
- 10 อันดับอาชีพที่มาแรง นายจ้างแย่งตัวกันมากที่สุด พร้อมจ่ายเพิ่มสูงสุดถึง 24%
- ‘เลิกบ่าย 3 โมงในวันศุกร์’ ข้อเสนอใหม่จากบริษัทในสหราชอาณาจักรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อดึงดูดพนักงาน Gen Z
หลังจากธนาคารรายใหญ่ทั่วโลกเพิ่งระดมจ้างพนักงานไปได้ไม่นานนัก เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นจากลูกค้าในช่วงที่โลกเพิ่งฟื้นตัวจากสถานการณ์โรคโควิดระบาด
สำนักข่าว Financial Times รายงานว่า กลุ่มวาณิชธนกิจได้รับค่าธรรมเนียมลดลงติดต่อกันเป็นปีที่ 2 เนื่องจากการทำข้อตกลงและการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทรุดตัว ทำให้วาณิชธนกิจในวอลล์สตรีทต้องปกป้องผลกำไรด้วยการลดจำนวนพนักงานลง
นอกจากนี้ การเข้าซื้อกิจการ Credit Suisse ของ UBS ยังทำให้ต้องปลดพนักงานไปแล้วอย่างน้อย 13,000 ราย โดยคาดการณ์ว่าจะมีการปลดพนักงานครั้งใหญ่เพิ่มเติมในปีหน้า
“ธนาคารส่วนใหญ่ไม่มีเสถียรภาพ ไม่มีการลงทุน ไม่มีการเติบโต และมีแนวโน้มว่าจะปลดพนักงานเพิ่มเติม” Lee Thacker เจ้าของบริษัท Silvermine Partners ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านการสรรหาบุคลากรทางการเงิน ระบุ
โดยข้อมูลจากการคำนวณของ Financial Times ระบุว่า ธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดของโลก 20 แห่ง สั่งปลดพนักงานไปแล้วอย่างน้อย 61,905 คนในปีนี้ เทียบกับการปลดพนักงานมากกว่า 140,000 คนในช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2007-2008
และเป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วง 2 ปีนี้ หลายธนาคารใหญ่ต่างเริ่มจัดสรรค่าใช้จ่ายเพื่อปรับโครงสร้างอีก 300 ล้านยูโร เพื่อช่วยเป็นทุนให้พนักงานลาออกโดยสมัครใจมากถึง 1,000 คน รวมไปถึง UniCredit ผู้ให้กู้รายใหญ่อันดับ 2 ของอิตาลี ได้ลดจำนวนพนักงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนประสิทธิภาพองค์กร
“และแนวโน้มงานด้านการธนาคารทั่วโลกก็ไม่น่าจะดีขึ้นในปีหน้า”
ผลจากอัตราดอกเบี้ยและการเข้ามาของเทคโนโลยี
สอดคล้องกับสำนักข่าว CNBC ที่รายงานว่า ฟากฝั่งธนาคารใหญ่ในสหรัฐอเมริกาเองก็เลิกจ้างพนักงานหลายพันคนอย่างเงียบๆ ซึ่งจะเห็นได้จากการ Lay-off พนักงาน Citigroup ตั้งแต่ช่วงต้นปี และคาดว่าจะปรับลดพนักงานตลอดจนเลิกจ้างมากขึ้นในปีหน้า
รวมทั้งธนาคารที่เป็นผู้ให้กู้ก็ได้ลดจำนวนพนักงาน ยกเว้น JPMorgan ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดและทำกำไรได้มากที่สุดในสหรัฐฯ
“เหตุผลมาจากแรงกดดันจากผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและต้นทุนทางการเงิน ส่งผลให้ธนาคารที่ใหญ่ที่สุด 5 แห่งในสหรัฐฯ ได้ลดตำแหน่งรวมกัน 20,000 ตำแหน่งในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน”
depa หน่วยงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยวิเคราะห์ว่า สำหรับไทยเองก็เช่นกัน บรรดาธนาคารพาณิชย์ของไทยต่างมีแผนปรับโครงสร้างลดต้นทุนด้วยการลดจำนวนพนักงานธนาคารลง ซึ่งเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้วพนักงานธนาคารถือว่าเป็นอาชีพที่มั่นคง มีรายได้สูง สวัสดิการดีมาก โบนัสสูง คนอยากจะเข้าบรรจุเป็นพนักงานธนาคารจำนวนมาก เพราะในแต่ละปีธนาคารประกาศตัวเลขผลกำไรมหาศาล
“รายได้จากดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรมสามารถพูดได้ว่าธนาคารจัดอยู่ในกลุ่มทุนเสือนอนกินมาอย่างยาวนาน แต่ด้วยการเข้ามาของเทคโนโลยี และธนาคารเองก็ได้เข้าสู่ระบบ Digital Banking ทำให้เกิดการแทนที่แรงงานของมนุษย์อย่างเห็นได้ชัด ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมทางการเงินในที่ใดก็ได้ เพียงแค่มีการเชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ต แต่หากมองอีกมุมก็ถือเป็นสัญญาณการปรับตัวที่นำเอาวิกฤตมาเป็นโอกาสให้พนักงาน Upskill”
อ้างอิง: