×

ผลวิจัยชี้ 70% ของการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันของแบงก์ในเอเชีย-แปซิฟิกล้มเหลว แนะ Virtual Bank ไทยใช้แนวทาง ‘Adopt and Build’

22.08.2023
  • LOADING...
digital transformation

ผลการศึกษาของ IDC พบว่า 70% ของโปรเจกต์ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันของแบงก์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกล้มเหลว ผู้เชี่ยวชาญแนะใช้แนวทาง Adopt and Build เพื่อบริหารความเสี่ยง ร่นระยะเวลา และประหยัดค่าใช้จ่าย

 

International Data Corporation (IDC) บริษัทวิจัยข้อมูลการตลาดเชิงลึกและเทคโนโลยีระดับโลก เปิดเผยผลการศึกษาการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน (Digital Transformation) จากผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง (CIO) จำนวน 316 คน ของธนาคาร 125 แห่งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยพบว่า 70% ของโปรเจกต์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาแพลตฟอร์มระบบของธนาคารในภูมิภาคนี้ ต้องประสบกับความล้มเหลวจากค่าใช้จ่ายที่สูงและใช้เวลาพัฒนานานเกินไป ขณะที่ 30% ที่จัดว่าประสบความสำเร็จก็มีถึง 52% ที่มีประสิทธิภาพต่ำ และมีอีก 20-25% ที่ไม่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าจากการลงทุน (ROI)

 

รายงานดังกล่าวยังพบว่า ในแต่ละปีธนาคารในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกต้องใช้งบประมาณรวมกันถึง 1 แสนล้านดอลลาร์ไปกับการลงทุนในเทคโนโลยี แต่ประสบการณ์ด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันของธนาคารจำนวนมากไม่ได้ออกมาเป็นเชิงบวก และส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากหลักการ Digitalisation ได้อย่างเต็มที่ ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างธนาคารกับลูกค้าในที่สุด

 

นอกจากนี้ยังพบว่า CIO ในไทยกว่า 71% ไม่เลือกแนวทางการพัฒนาแพลตฟอร์มธนาคารขึ้นเองในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน โดยกว่า 58% เปิดรับแนวทาง ‘การรับมาใช้ควบคู่กับการพัฒนาเอง’ (Adopt and Build) เพื่อการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันระบบธนาคาร โดยคิดเป็นอัตราส่วนที่มากกว่ามาตรฐานค่าเฉลี่ยในเอเชีย-แปซิฟิกที่ 48%

 

โดยกรณีศึกษาจำนวนมากในไทยยังพบว่า การพัฒนาแพลตฟอร์มที่สร้างการมีส่วนร่วมใช้เวลาราว 11-12 เดือน ขณะที่แนวทางการรับมาใช้ควบคู่กับการพัฒนาเองจะใช้เวลาเพียงราว 8 เดือนเท่านั้น ทำให้สามารถเปิดให้บริการสู่ตลาดได้เร็วขึ้นถึง 25% 

 

ขณะที่อุปสรรคสำคัญ 3 ประการที่บริษัทต่างๆ ในไทยต้องเผชิญเกี่ยวกับการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันก็คือ การลดดาวน์ไทม์ของระบบ (61%), ความเสี่ยงในการดำเนินงานอันเนื่องจากการย้ายระบบ (58%) และโครงสร้างระบบยุคเก่า (48%)

 

Ashish Kakar ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัยประจำเอเชีย-แปซิฟิกของ IDC กล่าวว่า การพัฒนาระบบด้วยทีมงานภายในเคยเป็นกลยุทธ์มาตรฐานของธนาคารหลายแห่ง แต่ไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสมอีกต่อไป โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับระยะเวลาที่บีบรัดและการขยายบริการให้รองรับการแข่งขันได้มากขึ้น จุดเปราะบางที่ทำให้ทีมพัฒนาภายในล้มเหลวก็คือ ความซับซ้อนที่เกิดจากจำนวนระดับชั้นและช่องทางข้อมูลอันมหาศาล ตลอดจนการผสานรวมระบบทั้งฝั่งเข้าและออก เพื่อการรองรับทั้งระบบดั้งเดิมและระบบยุคใหม่ ซึ่งต้องจัดการและทำงานผสานกันได้อย่างลงตัวที่สุด

 

“แม้จะมีการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันมาตั้งแต่ช่วงปี 2543 เป็นต้นมาก็ตาม ธนาคารในเอเชีย-แปซิฟิกจำนวนมากยังเดินหน้าไปไม่มาก และไม่สามารถใช้ประโยชน์และสร้างการมีส่วนร่วมแก่ลูกค้าดิจิทัลได้ในแบบที่ต้องการ” Kakar กล่าว

 

Riddhi Dutta รองประธานภูมิภาคเอเชีย Backbase ยูนิคอร์นด้านฟินเทค ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกระบบธนาคารที่สร้างการมีส่วนร่วม (Engagement Banking) กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังร่างกฎระเบียบในการออกใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ซึ่งคาดว่าผู้ที่ผ่านเกณฑ์จะได้รับใบอนุญาตภายในช่วงกลางปีหน้า นั่นหมายถึงสถาบันการเงินและบริษัทที่ไม่ได้อยู่ในภาคการเงินจะมีเวลาประมาณ 1 ปีครึ่งในการเปิดตัวบริการธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา เพื่อรองรับลูกค้ากลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการด้านการเงิน หรือเข้าถึงได้เพียงบางส่วน โดยคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2568

 

Dutta ระบุว่า ระบบที่ถูกพัฒนาขึ้นโดย Backbase จะช่วยให้ธนาคารสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการสู่ตลาดได้เร็วขึ้น 40% โดยใช้เวลาในการเปิดตัวแพลตฟอร์มธนาคารดิจิทัลที่สร้างการมีส่วนร่วมเพียง 11 เดือน จากโดยทั่วไปที่ต้องใช้เวลาในการ ‘พัฒนาเอง’ ถึง 20 เดือน นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าแนวทาง ‘การพัฒนาเอง’ ด้วยทีมพัฒนาภายในแบบเดิมถึง 2.3 เท่า

 

Dutta ระบุอีกว่า ปัจจุบันบริษัทยังอยู่ระหว่างพูดคุยกับสถาบันการเงินและพาร์ตเนอร์หลายรายในประเทศไทย ที่สนใจจะยื่นขอใบอนุญาตดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือ Virtual Bank แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ อย่างไรก็ดี จากประสบการณ์การให้บริการระบบ Virtual Bank ในประเทศอื่นๆ พบว่า ความท้าทายที่ Virtual Bank ในไทยต้องเผชิญคือ การสร้างความคุ้นเคยกับการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลของลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่ม Underserved 

 

“ปัจจัยที่จะช่วยให้ Virtual Bank ประสบความสำเร็จคือ การลงทุนในเทคโนโลยีที่ถูกต้อง และเลือกเจาะกลุ่มลูกค้าให้ถูกเซกเมนต์” Dutta กล่าว

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising