×

ซีอีโอแบงก์-สตาร์ทอัพ มองไทยมีศักยภาพเป็น Digital Asset Hub ของอาเซียนได้หากปัจจัยแวดล้อมหนุน

27.11.2021
  • LOADING...
ซีอีโอแบงก์-สตาร์ทอัพ

อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2021 หัวข้อ ‘The Future of Digital Asset in Thailand’ โดยระบุว่า ประเทศไทยในปัจจุบันมีองค์ประกอบที่ดีในการก้าวขึ้นมาเป็นฮับทางด้านสินทรัพย์ดิจิทัล เนื่องจากคนไทยมีสัดส่วนการเปิดรับโลกออนไลน์และโซเชียลมีเดียสูง และในช่วงวิกฤตโควิดสองปีที่ผ่านมาก็มีการปรับตัวเข้าสู่โลกอีคอมเมิร์ซมากขึ้น

 

โดยมองว่าหากหน่วยงานกำกับดูแลสร้างกติกาที่ช่วยส่งเสริม สินทรัพย์ดิจิทัลจะมีโอกาสก้าวขึ้นมาเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตของไทยได้

 

“ผมมองว่าการที่ไทยมีสตาร์ทอัพที่ได้รับโอกาสและส่งเสริมไปในทาง Innovation มากกว่า Speculation จะเป็นประโยชน์ในระยะยาว การมีโครงสร้างพื้นฐานและการกำกับที่เหมาะสมจะเอื้อต่อการเติบโตของสตาร์ทอัพเป็นระบบนิเวศ” อาทิตย์กล่าว

 

อาทิตย์ยังเชื่อว่า ความร่วมมือธนาคารและสตาร์ทอัพที่เพิ่มขึ้น จะช่วยพัฒนาระบบนิเวศด้านสินทรัพย์ดิจิทัลของไทยได้ เนื่องจากธนาคารเป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้การกำกับมายาวนาน ทำให้เข้าใจแนวทางของหน่วยงานกำกับดูแลได้ดีกว่า ขณะที่สตาร์พอัพก็จะมีจุดแข็งในด้านความคล่องตัวและบุคลากรที่ธนาคารไม่มี ทำให้เกิดประโยชน์จากการทำงานร่วมกัน

 

“เรากำลังอยู่ในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีด้วยสปีดที่ไม่เคยมีมาก่อน คนรุ่นก่อนที่ไม่คุ้นเคยอาจก่อให้เกิดช่องว่าง การเข้ามาของธนาคารจะช่วยปิดช่องว่างระหว่างหน่วยงานกำกับและคนรุ่นใหม่ได้ ผมเชื่อว่าเราจะมีประโยชน์ในมิตินี้ เมื่อปิดช่องว่างตรงนี้ได้ ไทยจะเป็นศูนย์กลางทางเทคโนโลยีที่จะเป็นอนาคตของโลกได้” อาทิตย์กล่าว

 

ด้าน จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ในอนาคตเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Digital Economy จะมีขนาดที่ใหญ่กว่าเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม หรือ Physical Economy หลายเท่าตัว ซึ่งเรื่องนี้จะส่งผลให้เงินในโลกต้องถูกปรับเปลี่ยนและอัปโหลดมูลค่าให้อยู่ในรูปแบบโลกเสมือน กลายเป็นคอมพิวเตอร์โปรแกรมหรือเป็นสินทรัพย์ทรัพย์ดิจิทัลที่สามารถเขียนโค้ดควบคุมได้โดยไม่ต้องมีตัวกลาง

 

“สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตทำให้เราเริ่มเห็นเทรนด์การจับมือกันระหว่างสตาร์ทอัพและสถาบันการเงินมากขึ้นในโลก เช่น ธนาคารใหญ่อย่าง Goldman Sachs จับมือกับ Apple, Google ก็ร่วมมือกับธนาคารใหญ่เช่นกัน ผมเชื่อว่าในอนาคตบริษัทเทคโนโลยีจะกระโดดเข้ามาทำเรื่องการเงินมากขึ้น โดยมีธนาคารแบบดั้งเดิมทำหน้าเป็น Utility Provider อยู่ข้างหลัง เมื่อพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยน ผู้ให้บริการที่จะอยู่รอดคือคนที่เปลี่ยนตามลูกค้าได้” จิรายุสกล่าว

 

จิรายุสกล่าวอีกว่า การแข่งขันทางธุรกิจภายใต้ New Economy ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มประเภทต่างๆ จะมีเรื่องของ Network Effect และ Economy of Scale เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยผู้ให้บริการจะไม่ได้มีเป็นจำนวนมาก แต่จะเหลือการแข่งขันระหว่างรายใหญ่จำนวนไม่มาก ซึ่งประเด็นที่น่ากังวลในเวลานี้คือแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ให้บริการอยู่ในเมืองไทยเป็นของต่างชาติเกือบทั้งหมด

 

“สิ่งที่น่ากังวลคือประเทศไทยจะอยู่อย่างไรถ้าเราไม่ได้เป็น Tech Provider แต่เป็น User อย่างเดียว ถ้าเรายังยึดติดกับเศรษฐกิจแบบเก่า ขนาดเศรษฐกิจจะค่อยๆ เล็กลงจนกลายเป็น Zero Sum Game ต้องถามว่าทำไม Grab และ Gojek จึงเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจของมาเลเซียและอินโดนีเซีย เพราะเขาเป็นสิ่งที่เรียกว่า National Champion หรือ Scale Up แต่ไทยเรายังคงพูดถึงแต่สตาร์ทอัพอยู่เลย” จิรายุสกล่าว

 

จิรายุสกล่าวว่า การที่ไทยจะก้าวไปสู่การเป็นฮับด้านสินทรัพย์ดิจิทัลของอาเซียนได้นั้นจำเป็นต้องมีหลายปัจจัยที่เกื้อหนุน เช่น

 

  1. การกำกับดูแล เพราะประเทศที่หน่วยงานกำกับเข้าใจเทคโนโลยีและนวัตกรรมจะปรับตัวได้ก่อนและได้ประโยชน์มากที่สุด

 

“ขอยกตัวอย่างเป็นเรื่องไฟฟ้ากับเทียนไขในหมู่บ้านหนึ่ง ถ้าผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านนั้นไม่เข้าใจและกลัวไฟฟ้า ก็จะส่งเสริมให้คนยึดติดกับเทียนไข มัวแต่คิดจะทำให้เทียนไขยาวขึ้น ใหญ่ขึ้น เพื่อที่สว่างได้นานขึ้น ขณะที่อีกหมู่บ้านที่เข้าใจไฟฟ้าก็จะส่งเสริมให้คนพัฒนาไฟฟ้าเพราะรู้ว่ามันดีกว่ากันมาก เปลี่ยนกลางคืนเป็นกลางวันได้ แถมยังส่งไปขายหมู่บ้านอื่นทำเงินได้อีกด้วย” จิรายุสกล่าว

 

  1. เรื่องแรงงานทักษะสูง โดยมองว่าไทยควรเร่งเปิดรับคนกลุ่มนี้เข้ามา เนื่องจากปัจจุบันไทยยังมีช่องว่างเรื่องทรัพยากรมนุษย์ที่ใหญ่และต้องใช้เวลานานหากจะเปลี่ยนแปลงผ่านระบบการศึกษา ดังนั้นวิธีการที่จะปิดช่องว่างนี้ได้คือการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำจากการเอาคนเก่งเข้ามาในประเทศ 

 

  1. รัฐบาลควรตั้งกองทุนส่งเสริมสตาร์ทอัพ เพื่อให้คนที่มีไอเดียสามารถผลักดันไอเดียต่างๆ ให้กลายธุรกิจจริงได้

 

  1. การให้สิทธิพิเศษทางภาษีที่จูงใจ เพื่อกระตุ้นให้คนที่ทำงานบริษัทใหญ่กล้าออกไปพัฒนาสตาร์ทอัพของตัวเอง

 

  1. การมีสิ่งที่เรียกว่า Universal Basic Income ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นเหมือนเบาะรองรับเวลาที่คนล้ม เพราะถ้าคนมั่นใจว่าล้มเหลวแล้วไม่ถึงตาย คนจะมีความกล้าทดลองสร้างนวัตกรรมต่างๆ ออกมา

 

เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) กล่าวว่า วิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบันที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงเข้าสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น จะทำให้บริการทางการเงินในอนาคตจะต้องตามเข้าไปอยู่ในวงจรชีวิตของลูกค้า เนื่องจากสิ่งที่ธนาคารให้ความสำคัญกันมากในเวลานี้คือ Financial Inclusion หรือการให้บริการที่ครอบคลุมและทั่วถึง 

 

“ถ้าลูกค้าเริ่มเข้าสู่โลกใหม่ เราก็จะต้องตามไปให้บริการ เพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าได้ลงทุน เช่น NFTs, GameFi หรือแม้กระทั่งที่ดินในโลกเสมือนต่อไปอาจมีมูลค่ามากกว่าที่ดินในโลกความจริง ไม่ว่าโมเดลทางธุรกิจในโลกดิจิทัลจะเป็นอย่างไร ธนาคารจะต้องตามลูกค้าไป” เรืองโรจน์กล่าว

 

เรืองโรจน์กล่าวว่า ปัจจุบันไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ Active ที่สุดในแง่ของสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ยังมีคนอีกราว 99% ที่ยังเข้าไม่ถึงบริการในด้านนี้ ทำให้ยังมีช่องว่างและโอกาสการเติบโตอีกมาก พร้อมมองว่าดีลใหญ่ที่เกิดขึ้นในวงการสินทรัพย์ดิจิทัลเมื่อเร็วๆ นี้ ถือเป็นเรื่องดีสำหรับประเทศไทยและวงการสินทรัพย์ดิจิทัล 

 

“ถ้าระบบนิเวศขยาย ทุกคนจะวินหมด เป็นโอกาสที่ไทยจะเปลี่ยนตัวเองเป็น Producer จากที่เราเป็น Consumer มาตลอด เราควรใช้โอกาสนี้ผลักดันให้เกิดสตาร์ทอัพในแวดวงนี้แล้วปลี่ยนตัวเองไปสู่การเป็นฮับด้านสินทรัพย์ดิจิทัลของอาเซียน” เรืองโรจน์กล่าว

 

อย่างไรก็ดี เรืองโรจน์ระบุว่า การจะผลักดันให้ไทยกลายเป็น Digital Asset Hub ได้นั้นจะต้องอาศัยองค์ประกอบในหลายๆ ด้าน เช่น หน่วยงานกำกับต้องเป็นมิตร บริษัทขนาดใหญ่ต้องช่วยกันสร้างระบบนิเวศให้รายอื่นๆ เติบโตได้ การเปิดให้แรงงานทักษะสูงต่างชาติเข้ามา นอกจากนี้จะต้องแก้ระบบการศึกษาเพื่อพัฒนาคนในระยะยาว

 

ขณะที่ เอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งซิปเม็กซ์ (Zipmex) ประเทศไทย ระบุว่า 5 เรื่องที่ไทยต้องเร่งทำเพื่อยกระดับตัวเองสู่การเป็นฮับด้านสินทรัพย์ดิจิทัล คือ

  1. ต้องปรับปรุงกฎระเบียบให้มีความชัดเจน
  2. ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินและดิจิทัลที่ดี ซึ่งปัจจุบันไทยทำเรื่องนี้ได้ดี
  3. เรื่องภาษีที่ต้องจูงใจให้มีบริษัทเกิดขึ้นใหม่
  4. ความง่ายในการทำธุรกิจ หรือ Ease of Doing Business ที่ควรลดขั้นตอนต่างๆ ให้มีความง่ายยิ่งขึ้น
  5. การศึกษาที่ต้องพัฒนาองค์ความรู้ของคนในประเทศเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล

 

“ถ้าเราเป็นฮับได้ จะมีคนเก่งจากทั่วโลกเข้ามาในประเทศ ทักษะของคนไทยจะดีขึ้น เศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตคนจะดีขึ้น มีเม็ดเงินจากนักลงทุนเข้ามา รัฐเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น เกิดเป็น Trickle-Down Economics และเราจะได้เห็นบริษัทไทยที่เป็นยูนิคอร์นออกไปทั่วโลก เป็นความภาคภูมิใจของประเทศ ตอนนี้เรายังเห็นแต่ยูนิคอร์นเจ้าอื่นที่เข้ามาในไทย ผมว่าโอกาสมันมีอยู่และเราสามารถคว้ามันได้” เอกลาภกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X