×

ต้อง ‘Made in Bangladesh’ เท่านั้น! รัฐบาลบังกลาเทศ ตั้งกำแพงภาษีนำเข้า ดึงค่ายมือถือยักษ์ใหญ่มาตั้งฐานการผลิตในประเทศ

30.06.2021
  • LOADING...
บังกลาเทศ ภาษีนำเข้า

ภาษีนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศแถบเอเชียใต้ ส่งผลให้ค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ของโลกเริ่มมองหาตลาดฐานการผลิตแห่งใหม่ ซึ่งหนึ่งในตัวเลือกที่น่าดึงดูดอย่างเลี่ยงไม่ได้คือดินแดนชมพูทวีปอย่าง ‘บังกลาเทศ’ 

 

ด้วยจำนวนประชากรที่ไต่ขึ้นไปถึงอันดับที่ 8 ของโลก โดยมีประชากรกว่า 163 ล้านคน ตลอดจนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่สุดในเอชีย และนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ทั้ง Nokia, Samsung, Vivo และแบรนด์จีนอีกหลากหลายแบรนด์พากันตบเท้าหันมารุกตลาดตั้งฐานการผลิตที่บังกลาเทศ 

 

ปัจจัยสำคัญอยู่ที่โปรแกรม ‘Made in Bangladesh’ ที่ภาครัฐจัดตั้งขึ้นเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ อีกทั้งส่งเสริมการผลิตและการบริโภคภายในประเทศ โดยมีมาตรการสำคัญที่ดึงดูดการเข้ามาลงทุนของเหล่าค่ายมือถือคือ ปรับขึ้นภาษีนำเข้าโทรศัพท์มือถือ ลดการจัดเก็บชิ้นส่วนอุปกรณ์นำเข้า และยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศ

 

ทางรัฐบาลบังกลาเทศเล็งเห็นถึงความสำคัญของการลงทุนเชิงรุกในครั้งนี้ว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงมีแผนขยายขอบเขตมาตรการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มต่อไปอีก 2 ปีนับตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยสินค้าอุปโภคบริโภคที่ผลิตในประเทศทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นผลไม้สด วัสดุก่อสร้าง ชิ้นส่วนผลิตเครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า ตลอดจนรถจักรยานยนต์ จะได้รับการยกเว้นภาษี ( VAT) ทั้งนี้เพื่อลดการพึ่งพาสินค้านำเข้าและส่งเสริมสภาพคล่องธุรกิจในประเทศ

 

ด้วยมาตรการการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่งผลให้ผู้ผลิตในประเทศทำราคาเครื่องได้ถูกลง ควบคู่ไปกับการปิดกั้นกระบวนการลักลอบนำเข้าโทรศัพท์มือถือ ด้วยการลงทะเบียนตัวเครื่องผ่านโครงข่ายในประเทศเท่านั้น ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป สองมาตรการนี้เองเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ช่วยเปิดช่องทางการครอบงำตลาดใหม่ของกลุ่มธุรกิจโทรศัพท์มือถือภายในประเทศ 

 

“การทำเช่นนี้จะช่วยปิดกั้นกระบวนการนำเข้าโทรศัพท์อย่างผิดกฎหมาย และสร้างขวัญกำลังใจกับผู้ผลิตในประเทศจากส่วนแบ่งการตลาดที่สูงขึ้น” Shahidul Alam ผู้อำนวยการกำกับดูแลกิจการเครือข่ายโทรคมนาคมบังกลาเทศกล่าว 

 

ด้วยว่างของราคาระหว่างมือถือนำเข้ากับมือถือที่ผลิตในประเทศมีมากถึง 15-26% ทำให้ปัจจุบันยอดขายกว่า 80% มาจากมือถือที่ผลิตในบังกลาเทศเอง

 

องค์การกำกับดูแลกิจการเครือข่ายโทรคมนาคมบังกลาเทศเปิดเผยว่า เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาบังกลาเทศมีบัญชีมือถือที่เคลื่อนไหวอยู่จำนวน 175.27 ล้านเครื่อง จัดอยู่ใน 10 อันดับสูงสุดของตลาดเอเชีย ซึ่งนี่คงเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่ดึงดูดการลงทุนของเหล่าค่ายมือถือ

 

ขณะเดียวกันเมื่อค่ายมือถือต่างพากันตั้งฐานผลิตในบังกลาเทศกันมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการแข่งขันในตลาดอย่างดุเดือด การแข่งขันเชิงธุรกิจนี้เองทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพและปรับระดับราคาของสินค้าในตลาด ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผลดีต่อผู้บริโภคทั้งสิ้น ทำให้คนบังกลาเทศที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงสมาร์ทโฟนคุณภาพสูงในราคาที่จับต้องได้

 

การรุกตลาดขยายฐานผลิตมาที่บังกลาเทศนี้เองทำให้เศรษฐกิจในประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง หลายปีก่อนหน้าจะมีการระบาดของโรคโควิด-19 GDP บังกลาเทศเติบโตมากกว่า 7% มาโดยตลอด ทว่าในไตรมาสที่ 3 ปี 2020 ที่ผ่านมา GDP ขยายตัว 5.2%    

 

“แม้ว่า GDP เราจะต่ำกว่าปีก่อนหน้า แต่ถือว่าเติบโตแข็งแกร่งที่สุดในเอเชีย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของบังกลาเทศกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการผลิตสินค้าป้อนตลาดภายในประเทศ ผู้ผลิตมือถือในประเทศเริ่มพิจารณาถึงเรื่องการส่งออกด้วย Walton ผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และโทรศัพท์มือถือสัญชาติบังกลาเทศเริ่มบุกตลาดส่งออกโทรศัพท์มือถือไปต่างประเทศแล้ว โดยประเดิมตลาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาเป็นที่แรกในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา 

 

ขณะที่ Fair Group กลุ่มบริษัทในเครือ Samsung กล่าวว่า “เราคาดว่าจะเริ่มส่งออกโทรศัพท์จากบังกลาเทศให้ได้ภายในปี 2023 หรือ 2024” พร้อมย้ำอีกว่า 95% ของสมาร์ทโฟนของตลาดบังกลาเทศจะถูกผลิตขึ้นภายในประเทศ 

 

ด้าน Jakaria Shahid กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทสัญชาติอเมริกัน Edison ได้กล่าวว่า “เรามีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะสร้างบังกลาเทศให้เป็นศูนย์กลางการผลิตโทรศัพท์มือถือในภูมิภาคให้ได้” 

 

ภาพ: K M Asad / LightRocket via Getty Images

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X