บทเรียนราคาแพงจากปัญหาหม้อแปลงไฟฟ้า และสายต่างๆ บนเสาไฟ ไม่ว่าจะเป็น สายสื่อสาร สายเคเบิล สายโทรศัพท์ ที่ระโยงระยางยุ่งเหยิงในหลายจุด ได้กลายเป็นชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดเหตุอัคคีภัย สูญเสียทั้งทรัพย์สินและชีวิต โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เรียกได้ว่ากลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติหรือคนดังระดับโลกเคยถึงขนาดออกปากพูดถึงมาแล้ว
THE STANDARD ลองสำรวจในหลายจุดทั่ว กทม. ตั้งแต่ย่านตลิ่งชัน ปิ่นเกล้า สะพานผ่านฟ้า บางกอกน้อย เยาวราช สามยอด หลังกองบัญชาการทหารบก (บก.ทบ.) ย่านบางขุนพรหมและบางลำพู พบความวุ่นวายยุ่งเหยิงเหล่านี้ที่ยังรอการแก้ไข
ขณะที่วันนี้ (4 กรกฎาคม) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ได้เดินสายหารือหลายหน่วยงาน ตั้งแต่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ชัยวุฒิ-ชัชชาติ ร่วมหารือจัดระเบียบสายสื่อสารใน กทม. ชัชชาติรับกังวล 800 กิโลเมตร ตามเป้าปีนี้อาจทำไม่ทัน แต่พร้อมสนับสนุนเต็มที่, ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT และโอเปอเรเตอร์ค่ายต่างๆ เพื่อหารือในประเด็นนโยบายการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน
ชัชชาติกล่าวว่า วันนี้เป็นโอกาสดีที่จะจัดการสายสื่อสาร และเป็นสิ่งที่ประชาชนถามและต้องการให้จัดการ ซึ่งที่ผ่านมามีเรื่องไฟไหม้ที่มีผลต่อเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ดังนั้นการเอาสายลงดินก็ต้องมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กสทช., โอเปอเรเตอร์, เจ้าของท่อ และ กทม.
วันนี้ กทม. มาในฐานะผู้ดูแลความสะอาดของเมือง เพราะตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความสะอาด มาตรา 39 กำหนดว่าห้ามพาดสายไฟ เว้นได้รับอนุญาตจาก กสทช. และสายที่ไม่ถูกต้องต้องเอาออกให้หมด แล้วค่อยเอาสายลงใต้ดิน เพราะสุดท้ายไม่อยากให้มีค่าใช้จ่ายที่แพง ต้องเอาประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง ทั้งนี้จะต้องทำเป็นขั้นตอน ถ้ามีแนวทางชัดเจนเชื่อว่าผลประโยชน์จะอยู่กับพี่น้องประชาชน
ส่วนกรณีที่ กสทช. รายงานว่ามีการดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสาร 800 กิโลเมตรภายในปีนี้ ชัชชาติกังวลว่าอาจจะทำไม่ได้ตามเป้าในแผน 800 กิโลเมตร แต่ กทม. จะสนับสนุนเต็มที่ เพื่อให้ในอนาคตจะสามารถเพิ่มเป้าหมายต่อได้เป็น 1,000 กิโลเมตร และอยากให้กำหนดตัวชี้วัดให้ชัดเจน
ด้าน ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวในที่ประชุมช่วงหนึ่งว่า กสทช. ไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ด้วยอำนาจหน้าที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล มองว่า กทม. กับ NT อาจจะคิดค่าบริการสูง จึงอยากขอให้ NT ลดค่าเช่าท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน ส่วนการกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ที่จะทำคือ หากผู้ประกอบการจะมาขอพาดสายใหม่จะต้องให้ไปถอนสายเก่าก่อน และเส้นบางเส้นมีทั้งเสาและท่อด้วย