วันนี้ (14 มกราคม) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย พรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร รวมทั้ง วรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม แถลงความพร้อมโครงการ ‘บ้านนี้ไม่เทรวม แยกขยะลดค่าธรรมเนียม’
ชัชชาติกล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้ปรับปรุงข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครว่าด้วยค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนร่วมมือลดและคัดแยกมูลฝอยที่แหล่งกำเนิดอย่างจริงจัง รวมทั้งปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น สอดคล้องกับสภาวการณ์และภาระค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน
โดยสภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. …. เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 และข้อบัญญัติฯ จะมีผลบังคับใช้ภายหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 180 วัน หรือประมาณช่วงปลายปี 2568
สำหรับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมอัตราใหม่ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 บ้านพักอาศัยทั่วไปที่มีปริมาณขยะไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน หรือไม่เกิน 4 กิโลกรัม หากไม่คัดแยกขยะจะจ่ายค่าธรรมเนียมรวม 60 บาท (ค่าเก็บและขนเดือนละ 30 บาท ค่ากำจัดเดือนละ 30 บาท) หากคัดแยกขยะและลงทะเบียนตามหลักเกณฑ์ที่กรุงเทพมหานครกำหนดจะจ่ายค่าธรรมเนียมเดือนละ 20 บาท (ค่าเก็บและขนเดือนละ 10 บาท ค่ากำจัดเดือนละ 10 บาท)
กลุ่มที่ 2 ปริมาณขยะเกิน 20 ลิตรต่อวัน แต่ไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือเกิน 4 กิโลกรัม แต่ไม่เกิน 200 กิโลกรัมต่อวัน จ่ายค่าธรรมเนียม 120 บาทต่อ 20 ลิตร (ค่าเก็บและขน 60 บาทต่อ 20 ลิตร ค่ากำจัด 60 บาทต่อ 20 ลิตร)
กลุ่มที่ 3 ปริมาณขยะเกิน 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวันขึ้นไป หรือเกิน 1,000 ลิตร หรือเกิน 200 กิโลกรัมต่อวัน) จ่ายค่าธรรมเนียม 8,000 บาทต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร (ค่าเก็บและขน 3,250 บาทต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร ค่ากำจัด 4,750 บาทต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร)
ซึ่งกลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3 เมื่อมีการคัดแยกและนำขยะไปใช้ประโยชน์ จะส่งผลให้ปริมาณขยะที่ทิ้งให้กรุงเทพมหานครนำไปกำจัดลดลง อัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการขยะก็จะลดลงตามไปด้วย
ด้านพรพรหมระบุว่า ปัญหาขยะล้นเมืองเป็นหนึ่งในปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพมหานคร โดยปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นภาระต่องบประมาณที่นำมาจัดการขยะ
จากข้อมูลของกรุงเทพมหานครมีปริมาณขยะที่เก็บขนและนำไปกำจัดประมาณ 9,000-10,000 ตันต่อวัน และมีการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ ณ แหล่งกำเนิดประมาณ 4,000 ตันต่อวัน ประกอบด้วย ขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ประมาณ 2,000 ตันต่อวัน และขยะอินทรีย์ประมาณ 2,000 ตันต่อวัน
อย่างไรก็ตาม ปริมาณขยะที่นำไปกำจัดยังมีปริมาณสูง สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาขยะของกรุงเทพมหานครยังเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไข ดังนั้นเพื่อรับมือกับวิกฤตขยะ กรุงเทพมหานครจึงได้กำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นไปที่การจัดการขยะอย่างยั่งยืน 2 นโยบายหลัก ได้แก่
มุ่งเน้นการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง เน้นให้ประชาชนและองค์กรต่างๆ ร่วมมือกันแยกขยะตั้งแต่แหล่งกำเนิด เพื่อลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัด และเพิ่มปริมาณขยะรีไซเคิล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมุ่งเน้นขยะเปียกจากองค์กรต่างๆ เพื่อนำไปผลิตเป็นปุ๋ยหมัก และนโยบายสร้างต้นแบบการแยกขยะ เป็นการสร้างต้นแบบการแยกขยะในระดับเขต เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีและส่งเสริมให้ประชาชนคนอื่นๆ ได้ปฏิบัติตาม
ซึ่งที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้ดำเนินการกับแหล่งกำเนิดมูลฝอย โดยเฉพาะแหล่งกำเนิดขนาดกลางและขนาดใหญ่ อาทิ สถานประกอบการต่างๆ โดยการขอความร่วมมือ แต่การขอความร่วมมือเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน ดังนั้นกรุงเทพมหานครจึงออกข้อบัญญัติค่าธรรมเนียมขยะฉบับใหม่ ซึ่งเป็นการยกระดับจากมาตรการขอความร่วมมือ มาเป็นการบูรณาการมาตรการทางเศรษฐศาสตร์และมาตรการทางกฎหมาย เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แหล่งกำเนิดมูลฝอย โดยเฉพาะแหล่งกำเนิดมูลฝอยขนาดเล็ก
ชัชชาติกล่าวเสริมว่า ข้อบัญญัติค่าธรรมเนียมขยะฉบับใหม่นี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการแก้ไขปัญหาขยะของกรุงเทพมหานคร โดยจะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนและชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของการแยกขยะ และมีส่วนร่วมในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมขยะ โดยผู้ที่แยกขยะจะเสียค่าธรรมเนียมน้อยกว่าผู้ที่ไม่แยกขยะ
ประชาชนสามารถเข้าร่วมโครงการ ‘บ้านนี้ไม่เทรวม แยกขยะลดค่าธรรมเนียม’ ด้วยตนเองได้ทางแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ BKK WASTE PAY ระบบรองรับข้อมูลการจัดเก็บขยะจากประชาชนที่ร่วมคัดแยกขยะ กรณีไม่มีสมาร์ทโฟนสามารถลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ที่จัดเก็บค่าธรรมเนียมหรือลงทะเบียนที่สำนักงานเขตที่บ้านเรือนตั้งอยู่
โดยลงทะเบียนล่วงหน้าได้ตั้งแต่วันนี้ และระบบจะแจ้งเตือนให้ส่งภาพหลักฐานการคัดแยกขยะตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2568 และเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมอัตราใหม่เมื่อข้อบัญญัติมีผลบังคับใช้
สิ่งที่ต้องใช้ในการลงทะเบียนประกอบด้วย รหัสประจำบ้าน (House ID) 11 หลัก, ชื่อ-นามสกุล, เบอร์โทรศัพท์ และภาพถ่ายการคัดแยกขยะ (ขยะเศษอาหาร ขยะรีไซเคิล และขยะอันตราย หรือขยะทั่วไป) บ้านเรือนที่ลงทะเบียนจะได้รับถุงใส่ขยะเศษอาหารสำหรับ 1 ปีแรก ทั้งนี้ ระบบจะมีการสุ่มตรวจการคัดแยกขยะทุกๆ 3 เดือน
ในส่วนของการลงทะเบียนแบบกลุ่ม สำหรับหมู่บ้านจัดสรร อาคารชุดพักอาศัย ที่มีนิติบุคคล และชุมชนตามระเบียบกรุงเทพมหานคร ที่มีปริมาณขยะไม่เกิน 20 ลิตรต่อวันต่อหลังหรือต่อห้อง กลุ่มนี้จะเริ่มลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2568 และเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมอัตราใหม่เมื่อข้อบัญญัติมีผลบังคับใช้ โดยสำนักงานเขตพื้นที่จะเชิญนิติบุคคลมาประชุมเพื่อแจ้งรายละเอียดและแนวทางการจัดที่พักรวมมูลฝอยที่คัดแยก 4 ประเภท รวมถึงขั้นตอนและวิธีการลงทะเบียน หลักฐานที่ต้องแนบ เช่น รายงานการประชุมลูกบ้านที่มีมติ รหัสประจำบ้าน (House ID) 11 หลัก และหลักฐานการใช้ประโยชน์ขยะ
ด้านวรนุชกล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้จัดระบบรองรับขยะที่ประชาชนคัดแยก ประกอบด้วย ขยะเศษอาหารให้เทน้ำทิ้ง กรองเฉพาะเศษอาหารนำไปใช้ประโยชน์ ทำน้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยหมัก และเป็นอาหารสัตว์ หรือใส่ถุงสีเขียวมัดปากถุงให้แน่นทิ้งในถังสีเขียวหรือจุดทิ้งที่เขตกำหนด เพื่อรอสำนักงานเขตเข้าไปจัดเก็บตามรอบเวลา
ขยะรีไซเคิล เช่น ขวดพลาสติก ขวดน้ำ และขวดแก้ว ฯลฯ สามารถนำไปขายหรือแยกทิ้งให้กับสำนักงานเขต โดยฝากไปกับรถขยะของกรุงเทพมหานครที่วิ่งเก็บขยะตามเส้นทาง ซึ่งรถทุกคันจะมีช่องทิ้งขยะรีไซเคิล หรือทิ้งในการจัดกิจกรรมเก็บขยะชิ้นใหญ่ทุกวันอาทิตย์ จัดตลาดนัดรีไซเคิลในชุมชน
นอกจากนี้ยังได้ประสานกับแอปพลิเคชันรับซื้อหรือรับบริจาคขยะมารับขยะถึงหน้าบ้าน หรือสามารถขายให้กับร้านหรือรถรับซื้อของเก่า ขยะอันตราย เช่น ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ ยาหมดอายุ และกระป๋องแก๊สหรือกระป๋องสเปรย์ ฯลฯ รวบรวมใส่ถุงใสหรือถุงที่มองเห็นขยะด้านใน หรือเขียนข้อความติดที่ป้าย นำไปทิ้งในจุดทิ้งขยะอันตราย (ถังสีส้ม) ในชุมชน หมู่บ้าน สำนักงานเขต หรือฝากไปกับรถขยะของกรุงเทพมหานครที่วิ่งเก็บขยะตามเส้นทาง ซึ่งรถทุกคันจะมีช่องทิ้งขยะอันตราย หรือทิ้งในการจัดกิจกรรมเก็บขยะชิ้นใหญ่ทุกวันอาทิตย์
ขยะทั่วไป เช่น ซองขนม เศษผ้า แก้วกาแฟ ถุงแกง กล่องโฟม หรือถุงพลาสติก ฯลฯ ให้รวบรวมใส่ถุงใสหรือถุงที่มองเห็น มัดปากถุง และนำไปทิ้งลงถังขยะทั่วไปสีน้ำเงิน ในชุมชนหรือหมู่บ้าน แล้วรอการจัดเก็บตามที่สำนักงานเขตกำหนด