×

Creative + Technology วิสัยทัศน์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ นิ่งนอนใจเมื่อไร คุณเสร็จแน่ [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
12.07.2019
  • LOADING...
Bangkok University creative technology

ในยุคที่หลายคนกำลังวิตกกังวลราวกับโลกกำลังล่มสลายจากกระแส Digital Disruption ที่เทคโนโลยีใหม่ๆ หมุนโลกให้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หลายคนไม่อาจฝืนกระแสความเปลี่ยนแปลง ต้องเปลี่ยนแปลง ยุติบทบาทในสิ่งที่ทำมาตลอดลงไปอย่างน่าเสียดาย 

 

คนที่เหลือต่างก็กำลังดิ้นรน พัฒนาตัวเองอย่างเร่งด่วนเพื่อปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วยการหา ‘เครื่องมือใหม่ๆ’ โดยมองข้ามไปว่า แท้จริงแล้วสิ่งสำคัญในการอยู่รอดในยุคเปลี่ยนผ่านไม่ใช่ครอบครองเทคโนโลยีที่เหนือกว่า หากแต่เป็นการใช้ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ เพื่อทำความเข้าใจ และเชื่อมโยงทุกศาสตร์ที่มีอยู่เข้าด้วยกัน

 

Creative + Technology คือการเชื่อมโยงสู่อนาคตของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ชูธงเรื่องการเป็น Creative University มาตลอดระยะเวลา 50 ปี ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเชื่อมโยงความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าด้วยกัน เพื่อผลักดันให้นักศึกษาเข้าใจโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว เปลี่ยนเทคโนโลยีเป็นเพียง ‘เครื่องมือ’ แสดงผลของความคิดสร้างสรรค์ออกมา 

 

THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยกับทีมคณาจารย์ผู้เป็นหัวเรือใหญ่ในการประสานมิติเรื่องเทคโนโลยีเข้ากับความคิดสร้างสรรค์ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ 3 ท่านคือ เพชร โอสถานุเคราะห์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ, ผศ.สรรเสริญ มิลินทสูต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และ ผศ.ดร.ปกรณ์ ยุบลโกศล รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ที่เชื่อว่าหากเรารู้เท่าทัน เทคโนโลยีไม่ใช่สิ่งน่ากลัว หากแต่เป็นโอกาสหอมหวานที่จะช่วยสร้างตัวตนและผลงานในอนาคต 

 

ในขณะเดียวกันถ้ามัวแต่นิ่งนอนใจ พายุลูกใหม่ที่กำลังรุนแรงก็พร้อมจะซัดคุณจนแน่นิ่งได้ทุกเมื่อเช่นเดียวกัน! 

 

Creative + Technology ความเชื่อมโยงเพื่อรู้เท่าทันและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ 

เพชร: จุดยืนที่ ม.กรุงเทพ ยึดถือมาตลอด คือการเป็นมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์ หรือ Creative University เพราะเรามองว่าความคิดสร้างสรรค์คือสิ่งสำคัญที่สุดที่มนุษย์เรามี เป็นจุดศูนย์กลางที่สามารถใช้เชื่อมโยงกับศาสตร์ทุกศาสตร์บนโลกใบนี้

 

Bangkok University creative technology

 

ก่อนหน้านี้เราเคยแนะนำ C + E (Creativity + Entrepreneurship) ความคิดสร้างสรรค์เชื่อมโยงกับจิตวิญญาณของผู้ประกอบการ ตอนนี้เราก็แค่เอา Technology มา + เพิ่มเป็นอีกมิติหนึ่ง เพราะเทคโนโลยีเองก็เป็นศาสตร์หนึ่ง เป็นเครื่องมือหนึ่งที่มีความสำคัญในโลกยุคปัจจุบัน 

 

สรรเสริญ: อย่างที่รู้กันว่าทุกวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงเร็ว เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิต การทำงาน ธุรกิจต่างๆ นานาเยอะแยะมากมาย บางอย่างที่เราไม่เคยว่าจะใช้ ก็กลายเป็นสิ่งที่ไม่ใช้ไม่ได้ ถ้าเราไม่สามารถเข้าใจความเปลี่ยนแปลงหรือเข้าใจตัวเทคโนโลยีที่เป็นแก่นของการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาได้ มันมีความเสี่ยงว่าเราจะหลุดไปจากวงโคจรของโลกที่กำลังเกิดขึ้นได้ 

 

ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องไปสร้างเทคโนโลยีใหม่ แต่เป็นการเข้าใจ และรู้จักที่จะใช้มันเป็นโอกาส ซึ่งความคิดสร้างสรรค์จะเป็นตัวเปิดหน้าต่างของโอกาสให้มองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่เราจะทำให้เทคโนโลยีกลายร่างมาเป็นเครื่องมือ หรือเป็นระบบที่มารองรับสนับสนุนให้เราใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้น แน่นอนว่าทั้งเพื่อตัวเองและเพื่อประโยชน์ของสังคมต่อไป

 

เพชร: พูดง่ายๆ คือในยุคที่ทุกคนกำลังวิตกเรื่อง Technology Disruption ถ้าเราไม่มีความคิดสร้างสรรค์ หรือผนวกความคิดสร้างสรรค์กับเทคโนโลยีไม่เป็น เราจะถูก Disrupt และเราก็ตกงาน แต่เรามองว่ามันเป็นโอกาส เพราะเราจะเป็นผู้ใช้มัน เราจะเป็นผู้กำหนดว่าจะใช้เทคโนโลยีนั้นอย่างไร โดยไม่จำเป็นต้องเรียนคณะที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีโดยตรง เราจะสอนเด็กในทุกหลักสูตร ทุกคณะ ให้ใช้เทคโนโลยีเป็น รู้ว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างไร และเข้าใจการหาและเชื่อมโยงข้อมูล

 

เตรียมพร้อมรับมือ รู้เท่ากันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา 

เพชร: เมื่อก่อนเราเคยแบ่งยุคสมัยเป็นเจเนอเรชันทุกๆ 10 ปีที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้น แล้วมันก็สั้นลงเรื่อยๆ เหลือ 5 ปี 3 ปี 1 ปี จนตอนนี้มันเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นทุกวัน เราต้องทันมันตลอดเวลา ถ้าเกิดเราจะมัวอัปเดตตัวเองทุก 3 ปี 5 ปี เราจะตกยุคทันที เพราะทุกอย่างเปลี่ยนไปหมดแล้ว ตอนนี้เด็กที่เกิดต่างกันแค่ 1 หรือ 2 ปี ก็มีลักษณะนิสัยไม่เหมือนกันแล้ว 

 

สรรเสริญ: พอทุกอย่างเปลี่ยนไปเร็วมาก สิ่งที่เราทำตอนนี้คือประเมินว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่เด็กควรต้องรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี ทั้งในเชิงสร้างระบบคิด การสร้างสกิล หรืออะไรก็ตาม ตอนแรกเรามองประมาณ 5-6 ประเด็น แล้วภายใน 1 ปีที่ผ่านมา เราก็ขยายมาเป็น 10 ประเด็น แทบจะเรียกว่าเราพยายามทบทวนในเชิงวิชาการกันแทบทุกวัน 

 

ซึ่งเราจะเริ่มปูพื้นฐานความรู้ความเข้าใจที่เป็น Logic ในเทคโนโลยีปัจจุบันที่เรียกว่า  Domain Knowledge เข้าไปในหลักสูตร เป็นวิชาหมวด General Education ที่นักศึกษาปี 1 ของทุกคณะต้องเรียน ทั้งหมด 10 อย่างคือ Coding, AI, Cloud Service, Blockchain, Mobile App, Big Data/Data Analytics, 5G, Internet of Things, UX UI, VR/AR เพื่อเป็นพื้นฐานแรกให้เขาเท่าทัน สามารถเป็นเจ้านายของเทคโนโลยีได้ เพราะรู้ว่าจะสามารถเอาไปปรับได้อย่างไร 

 

พอขึ้นชั้นปีที่ 2 เขาก็จะได้เลือกว่าจาก 10 หัวข้อในตอนนี้ มีหัวข้อไหนบ้างที่เขาจะดึงอะไรบางอย่างเข้าไปเป็นตัวเชื่อมกับหลักสูตรและสาขาวิชาของเขา เพื่อทำให้ตัว Domain Knowledge สามารถนำไปสู่การปรับใช้เข้ากับเทคโนโลยีเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดขึ้นมาได้ เช่น สาขานิเทศศาสตร์ ที่แน่นอนว่าถ้าเขามีความเข้าใจเพิ่มเติมเรื่อง Big Data/Data Analytics ก็จะทำให้เขาสามารถเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลของเขา เพื่อนำไปสร้างและพัฒนาคอนเทนต์ในรูปแบบต่างๆ ของเขาให้มีความลุ่มลึก และมีลักษณะของการเจาะหากลุ่มผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น

 

Bangkok University creative technology

 

ความคิดสร้างสรรค์ทำให้เข้าใจความเป็นมนุษย์

ปกรณ์: ยกตัวอย่างภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ ที่มีพื้นฐานเป็นเทคโนโลยีอยู่แล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้หน้าที่ของเราคือการสร้างเพลย์กราวด์ หรือย่อยหน่วยการเรียนรู้ เครื่องมือ เทคโนโลยีใหม่ๆ ให้เขาสามารถหยิบไปเล่น หยิบไปทดลองใช้ได้ ให้เขาคุ้นเคย แต่นักศึกษายังใช้ไม่เป็น เพราะยังไม่มีจุดเชื่อมโยง 

 

พอมีวิชาหรือเวิร์กช็อปที่ ม.กรุงเทพ มีอยู่แล้ว เช่น Idea-generation, Design Thingking หรือ Storytelling ซึ่งเมื่อก่อนจะถูกใช้กับสายนิเทศศาสตร์ หรือสายศิลปกรรมเป็นหลัก แต่ตอนนี้เราพยายามเพิ่มสกิลเหล่านี้ให้กับสาขาวิชาที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีมากขึ้น ดึงโมดูลเหล่านี้มาปรับให้เข้ากับจริตของแต่ละคณะอีกทีหนึ่ง

 

Bangkok University creative technology

 

ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างการแข่งขันเรื่อง Service Robot ที่เมื่อก่อนเราก็ทำแบบทื่อๆ ตรงๆ ซึ่งก็ตอบโจทย์ในยุคนั้นนะครับ คือให้เดินไปเสิร์ฟอาหาร เสิร์ฟน้ำตามโต๊ะ ไปทักทายลูกค้าได้อย่างแม่นยำ ไม่ผิดพลาด แต่ปัจจุบันเราทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว Service Robot จะไม่ใช่แค่หุ่นยนต์ที่เดินทางตามคำสั่งที่ตั้งไว้ แต่ต้องไปถึงขั้นรู้จักลูกค้ามากกว่านี้ ต้องรู้โปรไฟล์พื้นฐาน เป็นเพศอะไร อายุประมาณเท่าไร น้ำเสียงเป็นแบบไหน อารมณ์ดีหรือไม่ดี ชอบเซอร์วิสที่เรากำลังบริการให้อยู่หรือเปล่า 

 

อันนี้คือโจทย์สำคัญที่ความคิดสร้างสรรค์จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ตรงนี้ได้ และมันจะไม่ใช่แค่คิดคำนวณ เขียนโปรแกรม สร้างกลไกที่สมบูรณ์แบบ แต่มันรวมไปถึงการวิเคราะห์ การสังเกต การใช้ไอเดีย เพื่อสร้างโซลูชันที่เราสามารถตอบโจทย์ของลูกค้าได้มากขึ้น จากที่เมื่อก่อนเราเคยแต่สร้างโซลูชันเพื่อตอบโจทย์ตัวเองอย่างเดียว 

 

ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้แบบนี้คือ Ecosystem นะครับ ซึ่ง ม. กรุงเทพ พยายามสร้าง Ecosystem ที่ดีระหว่างนักศึกษาในคณะ ต่างคณะ ระหว่างมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งพาร์ตเนอร์ในวงการธุรกิจที่เขาอยู่กับโจทย์และความต้องการของลูกค้าจริงๆ ซึ่งหลายครั้งที่เราเอาโจทย์ที่พวกเขาเจออยู่ มาส่งต่อให้นักศึกษาได้ลองคิด ลองแก้ไข ซึ่งโซลูชันบางอย่างที่เกิดขึ้นอาจนำไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในอนาคตได้ 

 

Ecosystem ที่ดีนำไปสู่การพัฒนาที่หลากหลาย 

สรรเสริญ: อย่างสาขานิเทศศาสตร์ หรือสาขาที่เกี่ยวกับการจัดอีเวนต์ ไม่ว่าจะเป็นการจัดประชุม คอนเสิร์ต เปิดตัวสินค้า เขามีความจำเป็นต้องเอาตัวเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น VR, AR หรือโดรน ไปจนถึงเรื่องซาวด์บางอย่าง ที่ต้องผสมผสานผัสสะของการรับรู้ให้เกิดประสบการณ์ใหม่ๆ ที่หลากหลาย เมื่อคนได้เข้าไปอยู่ในกิจกรรมนั้นๆ พวกนี้ล้วนแล้วแต่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเป็นส่วนประกอบ โดยเฉพาะงานคอนเสิร์ตที่มีโปรดักชัน แสง สี เสียงแบบเต็มที่ ซึ่งพาร์ตเนอร์ของเราที่อยู่ในธุรกิจเหล่านี้ ไม่ว่าจะรายเล็กหรือใหญ่ ก็จะเป็นคนช่วยมอบโจทย์ให้นักศึกษาของเราได้เข้าไปเรียนรู้ ไปช่วยแก้ปัญหาจากสถานการณ์จริง 

 

หรืออย่างวงการเกม ผมเพิ่งเห็นเคสเกมหนึ่งที่ไม่ได้เน้นเรื่องการขายด้วยนะ เป็นเกมที่ทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้าเขามีความรู้สึกอย่างไร เด็กของเราก็พยายามสร้างเกมที่สร้างความเข้าใจของคนในสังคม ให้มองเห็นความแตกต่างของคนเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งเขาก็ต้องไปคุยกับพาร์ตเนอร์ของเราที่เป็นหมอ เป็นโรงพยาบาลต่างๆ นานา มันจะมีวงของ Ecosystem ที่หมุนเข้าหากัน ทั้งให้โอกาสช่วยคิดหลักสูตร ช่วยมาสอน ช่วยให้โจทย์ ช่วยพัฒนาโซลูชัน ไปจนถึงช่วยจ้างไปทำงานด้วยหลังเรียนจบแล้ว 

 

เพชร: Ecosystem ของเรามันเป็น Win-win Situation เราปูพื้นฐานให้เด็กมีความรอบรู้เรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ มีความสามารถในการเชื่อมโยงความคิดสร้างสรรค์กับเทคโนโลยี พาร์ตเนอร์ก็มีโจทย์ที่เจอในการทำงานจริงมาคุยกับอาจารย์ มาคุยกับเด็ก แล้วก็ให้โอกาสได้ใช้มันสมองของเด็กรุ่นใหม่ช่วยคิด ซึ่งกว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ เด็กก็ต้องมีพื้นฐานที่เราปูให้ก่อนถึงจะไปช่วยเขาคิดได้ 

 

เพราะฉะนั้นเราเลยชูธงเลยว่า ตอนนี้ต้อง Creative + Technology เท่านั้น แล้วคุณถึงจะไปต่อได้ เพราะถ้าคุณมีแต่ความคิดสร้างสรรค์ ไม่มีเทคโนโลยี คุณก็จะทำอะไรได้น้อย แต่ถ้ามีเทคโนโลยีอย่างเดียว คุณก็จะกลายเป็นแค่เครื่องมือที่ให้คนที่มีความคิดสร้างสรรค์มาฉวยใช้

 

Bangkok University creative technology

 

Soft Skills ทักษะสำคัญแห่งศตวรรษที่ 21  

ปกรณ์: นอกจาก Creativity ที่เป็นหนึ่งใน Soft Skills สำคัญ ยังมี Soft Skills อื่นๆ อีกมากมาย เช่น Negotiation, Leadership, Collaboration, Flexibility ฯลฯ ที่จะเป็นส่วนเสริมให้เด็กที่จบไปมีโอกาสประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน หรือการทำธุรกิจส่วนตัว 

 

แต่ทัศนคติที่ผมอยากให้นักศึกษาของเรามีมากที่สุดคือ ให้เขามีความรู้สึกว่าสามารถเรียนรู้ได้ทุกอย่างที่เขาอยากเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี, แอปพลิเคชัน, รูปแบบการใช้ใหม่ๆ, วิถีชีวิตที่ไม่เหมือนเดิม และทุกอย่างที่เข้ามาใหม่ ถ้าเราทำให้เขามีแก่นตรงนี้ได้ เขาจะกล้าเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่กลัว และรู้เท่าทันกับทุกๆ การเปลี่ยนแปลง 

 

สรรเสริญ: อีกเรื่องที่ผมอยากเพิ่มขึ้นนอกจากความคิดสร้างสรรค์ ความหยืดหยุ่น การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เป็นทัศนคติอย่างหนึ่งที่ทำให้เราเหนือและเป็นเจ้านายเทคโนโลยีได้คือ ความมีเมตตาและความมีหัวใจของการเป็นมนุษย์ ผมคิดว่าเป็นแกนกลางอีกอันหนึ่งของมนุษย์ ที่ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม แต่เรายังควรรักษามันไว้ 

 

ในช่วงที่คนกำลังกังวลว่า AI จะเข้ามาแย่งงานมนุษย์ทั้งหมด อย่างน้อยมันมี 3 เรื่องที่ไม่ว่าอย่างไรคนก็เหนือกว่า AI ไม่สามารถทำได้คือ งานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์, งานที่ต้องใช้วิสัยทัศน์ และสุดท้ายคืองานที่ใช้ใจ ใช้ความเป็นมนุษย์ 

 

เพชร: แต่หนุ่มสาวก็อย่านิ่งนอนใจ ผมอยากจะฝากอย่างนี้ มนุษย์เรา โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ คุณมีโอกาสแล้วก็ต้องฉวยมันเอาไว้ เรียนรู้ ทำความเข้าใจ เพื่อใช้เทคโนโลยีต่างๆ ที่กำลังพัฒนาเป็นเครื่องมือ เพราะถ้าขี้เกียจและไม่ยอมฉวยโอกาส แน่นอนล่ะว่า AI จะมาแทนคุณแน่ เพราะจะไม่มีใครจ้างงานง่ายๆ ให้กับคนขี้เกียจอีกต่อไป

 

Bangkok University creative technology

 

เพราะฉะนั้นถ้าคุณฉวยโอกาสและกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ ผสมผสาน เชื่อมโยงความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยี คุณจะอยู่ได้ในโลกอนาคต เทคโนโลยีจะกลายเป็นโอกาสที่หอมหวาน แต่ถ้านิ่งนอนใจเมื่อไร ไม่มีความสร้างสรรค์ ไม่ใช้มันผนวกกับอย่างอื่นเมื่อไร คุณเสร็จแน่ 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X