×

กทม. ผนึกกำลัง UddC ชวนคนเมืองร่วมคิดและปลดล็อกการพัฒนาพื้นที่สีเขียว ทำสวน 15 นาที

โดย THE STANDARD TEAM
04.09.2022
  • LOADING...
UddC

วานนี้ (4 กันยายน) ที่อาคารทรู ดิจิทัล พาร์ค ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดโครงการ Greener Bangkok Hackathon 2022: แฮคกรุงเทพเพื่อเมืองที่เขียวกว่า โดยกล่าวว่า โครงการ Greener Bangkok Hackathon เป็นโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายของ กทม. ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว จัดทำสวน 15 นาที มีสวนสาธารณะใกล้บ้าน ประชาชนสามารถเข้าถึงได้สะดวกภายใน 15 นาที หรือประมาณ 800 เมตร 

 

ซึ่งเรื่องนี้มีความท้าทายมาก ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน ความร่วมมือของเอกชน ภาครัฐ หน่วยงานอื่นๆ ความท้าทายด้านงบประมาณ ความท้าทายเรื่องสวนจะออกแบบมาเป็นอย่างไร จะตอบโจทย์ประชาชนในพื้นที่ได้หรือเปล่า วันนี้จึงเปิดโอกาสมาดูว่าแต่ละเขตที่มีความท้าทายแบบนี้ เราจะดำเนินการได้อย่างไร

 

ศานนท์กล่าวต่อไปว่า ความร่วมมือเป็นสิ่งสำคัญ กทม. มีภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ สุดท้ายแล้วคือภาคประชาสังคม ซึ่งจะเป็นมิติที่จะทำให้ผู้ใช้ได้มาร่วมออกแบบด้วย นับว่าเป็นความท้าทายของคนในกรุงเทพฯ ทำให้ฝันของประชาชนทุกคนเป็นจริง

 

ทั้งนี้ พื้นที่สีเขียวของเมืองเป็นโจทย์สำคัญในการสร้างสุขภาวะที่ดีแก่คนเมือง และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมที่เป็นนโยบายของเมืองทั่วโลก องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดแนวทางการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเมืองไว้ 2 แนวทาง คือ

 

  1. พื้นที่สีเขียวต่อประชากร กำหนดให้มีมาตรฐานขั้นต่ำ 9 ตารางเมตรต่อคน 

 

  1. ความสามารถในการเข้าถึง โดยพื้นที่สีเขียวของเมืองที่นำมาคำนวณ ต้องเป็นพื้นที่ที่ผู้คนสามารถเข้าไปพักผ่อนหย่อนใจและใช้ประโยชน์ได้จริง และควรมีพื้นที่สีเขียวกระจายตัวอยู่ในระยะการเดินเท้า 300-500 เมตร หรือประมาณ 10-15 นาที 

 

ซึ่งใน 5 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์พื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ ดีขึ้นเรื่อยๆ พื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นทุกปี เป็นสัญญาณที่ดีของการพัฒนา แต่ค่าเฉลี่ยพื้นที่สีเขียวยังไม่ถึงมาตรฐาน WHO มีเพียง 7.6 ตารางเมตรต่อคน ขณะที่ระยะทางการเข้าถึงสวนสาธารณะเฉลี่ยของคนกรุงเทพฯ ก็อยู่ที่ 4.5 กิโลเมตร หรือ 50-60 นาที 

 

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ กทม. มีนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองสู่การเป็นมหานครสีเขียว (Green Bangkok 2030) โดยมุ่งเพิ่มเป็น 10 ตารางเมตรต่อคน และตามนโยบายผู้ว่าฯ กทม. ก็ยังมีโครงการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น และการพัฒนาสวน 15 นาที เพื่อให้คนที่ใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น และลดระยะเวลาในการเข้าถึงสวน 

 

ศานนท์กล่าวด้วยว่า ด้าน UddC ได้ศึกษาความเป็นไปได้ของการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ผ่านการใช้ฐานข้อมูลเปิดของเมือง เสนอยุทธศาสตร์การเพิ่มพื้นที่สีเขียวระดับเมือง จากการพัฒนาที่ดินภาครัฐ กึ่งรัฐ และเอกชนขนาดใหญ่ ที่สามารถผลักดันการพัฒนาพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ ให้เทียบเท่ากับกรุงลอนดอนที่ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 18.9 ตารางเมตรต่อคน

 

ซึ่งจะทำให้ค่าเฉลี่ยการเข้าถึงพื้นที่สีเขียวอยู่ที่ 2.5 กิโลเมตร หรือประมาณ 30 นาที หากต้องการตอบโจทย์การเข้าถึงพื้นที่สีเขียว 15 นาที ต้องผลักดันยุทธศาสตร์ระดับย่าน ที่เสนอให้ภาคเอกชนนำที่ดินรอการพัฒนามาร่วมพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวผ่านปัจจัยส่งเสริม ไม่ว่าจะเป็นระเบียบ กทม. หรือ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564 

 

แต่การผลักดันยุทธศาสตร์นี้ยังต้องการผู้ร่วมคิดและข้อเสนอใหม่ๆ ที่จะเข้ามาช่วยปลดล็อกการพัฒนาพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ ในเงื่อนไขต่างๆ ดังนั้น โจทย์สำคัญของกรุงเทพฯ คือ พื้นที่ใดบ้างที่มีศักยภาพนำมาพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวได้ จะทำอย่างไรให้ได้มาซึ่งการใช้ที่ดิน และจะพัฒนาอย่างไรให้เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน จะบริหารจัดการอย่างไรให้มีความยั่งยืนในอนาคต เกิดความคุ้มค่าการลงทุนของทั้ง กทม. และเจ้าของที่ดิน 

 

ศานนท์กล่าวต่ออีกว่า งาน Greener Bangkok Hackathon 2022 นี้ จึงชวนคนเมืองมาร่วมคิดและค้นหาข้อเสนอที่จะช่วยปลดล็อกการพัฒนาพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ ในเงื่อนไขต่างๆ ในงานจะพบกับข้อมูลเปิดของเมืองที่แสดงพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาทั้ง 50 เขต พร้อมผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาที่จะมาให้คำแนะนำและพัฒนาไอเดียไปพร้อมกัน อีกทั้งข้อเสนอที่ชนะการประกวดจะได้รับรางวัลและผลักดันสู่การปฏิบัติจริงต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising