เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา THE STANDARD ได้มีโอกาสเข้าร่วมพิธีเปิดนิทรรศการ Bangkok That Was: Photographs 1956-1961 ผลงานโดย ฟาบริซิโอ ลา ตอร์เร ช่างภาพชาวอิตาลีที่มาใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในประเทศไทยระหว่างปี 1956-1961
ประวัติของผู้บันทึกภาพถ่ายชาวอิตาลีผู้นี้น่าสนใจไม่น้อย ด้วยความหลงใหลในศิลปะเอเชีย ฟาบริซิโอจึงได้รู้จักและกลายเป็นเพื่อนกับ คอร์ราโด เฟโรชี หรืออาจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้ก่อตั้งและอาจารย์สอนวิชาศิลปะที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ซึ่งภายหลังได้รับการยกฐานะให้เป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร รวมถึงยังมีโอกาสได้รู้จักกับ จิม ทอมป์สัน นักธุรกิจชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงจากการทำธุรกิจผ้าไหมในไทย และก่อตั้งบริษัทผ้าไหมไทยภายใต้ชื่อเดียวกับตัวเขาอีกด้วย
ภายในนิทรรศการเต็มไปด้วยภาพการบันทึกความทรงจำที่ฟาบริซิโอรวบรวมไว้ในช่วงเวลาที่เขาใช้ชีวิตในประเทศไทย
นิทรรศการได้จัดแสดงภาพถ่ายกรุงเทพฯ ที่เคยเป็นตามชื่อของนิทรรศการ ทั้งหมดนั้นถูกแช่แข็งไว้ผ่านแผ่นฟิล์มของช่างภาพชาวอิตาลีที่ไม่เพียงแค่บันทึกภาพแบบแลนด์สเคปที่ทำให้เราเห็นเมืองกรุงเทพฯ ในแบบที่เคยเป็น แต่ในแต่ละภาพยังมีเหตุการณ์บางอย่างและเรื่องราวของผู้คนซ่อนอยู่ตามจุดต่างๆ ของภาพด้วย
แต่ระหว่างที่ THE STANDARD กำลังสำรวจภาพถ่ายต่างๆ เราได้รับโอกาสสำคัญ เมื่อทางผู้จัดงานเผยว่าวันนี้ ฟรองซัว เบย์เล่ หลานแท้ๆ ของฟาบริซิโอที่เสียชีวิตไปเมื่อปี 2014 มาร่วมงานเปิดนิทรรศการในวันนี้ด้วย
ด้วยความสงสัยในหลายๆ ภาพว่าแท้จริงแล้วสิ่งที่ฟาบริซิโอต้องการจะสื่อในวันนั้นคืออะไร เราจึงไม่รอช้าที่จะเข้าไปพูดคุยเพื่อหาความหมายเบื้องหลังภาพถ่ายต่างๆ ที่ช่างภาพชาวอิตาลีผู้นี้ได้บันทึกไว้ ซึ่งรอดพ้นความท้าทายของกาลเวลามาสู่สายตาของเราในวันนี้
ฟาบริซิโอเคยกล่าวไว้ว่า “หายใจเข้า สูดอากาศเข้าไปในปอด และเข้าไปในภาพของคุณ ให้โอกาสชีวิตในการผูกติดเข้าไปอยู่บนแผ่นฟิล์มของคุณ” (Breath! Draw air into your lungs and into your photos, give life a chance to attach itself to your film.) เขาต้องการจะสื่ออะไรกันแน่ เราเริ่มถาม
“ทุกวันนี้คุณมีเครื่องมือที่อัตโนมัติไปทั้งหมด คุณไม่ต้องใช้เวลาในการถ่ายภาพเลย คุณรอผมแป๊บหนึ่งนะ ไม่ต้องลุกไปไหน เดี๋ยวผมจะให้ดู”
ฟรองซัวตอบกลับมาก่อนจะลุกไปหยิบหนังสือรวบรวมผลงานภาพถ่ายทั่วโลกของฟาบริซิโอที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2014 มาเปิดให้เราได้ทำความเข้าใจกับเบื้องหลังแต่ละภาพ
“คุณเห็นภาพนี้ไหม ผู้หญิงคนหนึ่งในกรุงโรม เธอกำลังรอคอยอะไรบางอย่าง รออะไรไม่มีใครรู้ ทำไมเธอต้องอยู่ตรงนั้น และทำไมช่างภาพต้องถ่ายภาพนี้ เธอรออยู่ตรงนั้นไม่ขยับ เขาอยู่ตรงข้ามเธอเพื่อรอ รอให้พระอาทิตย์ส่องสว่างผ่านมาถึงตัวเธอ นั่นแหละคือสิ่งที่ช่างภาพต้องการ
“ในช่วงเวลาที่เขาเดินทางเมื่อช่วงปี 1970 เขาเดินทางพร้อมกับกล้องถ่ายภาพราคาถูกๆ เขาบอกผมว่าเมื่อคุณถ่ายภาพ คุณจะหยุดทำอย่างอื่น ทุกอย่างไม่สำคัญอีกต่อไป คุณรอจังหวะและโอกาส สูดกลิ่นเข้าไป ดื่มด่ำกับบรรยากาศและเหตุการณ์ที่อยู่ตรงหน้าคุณ
“เขาเลือกใช้คำพูดที่ไม่อยู่ในหนังสือภาพอื่นๆ เขาไม่เคยนั่งพูดถึงเรื่องแสง เทคนิคต่างๆ ถ้าคุณเห็นกล้องของเขา คุณจะรู้สึกว่าบ้าไปแล้วที่จะถ่ายภาพกับกล้องแบบนี้ เป็นไปไม่ได้เลย
“หากผมจะสรุปง่ายๆ คือ ใจเย็นๆ สิเวลาถ่ายภาพ ทำไมทุกคนถึงได้รีบร้อน เรารอให้เหตุการณ์มันเกิดขึ้นสิ รอให้มีความเคลื่อนไหว รอให้บางอย่างเกิดขึ้น แล้วนั่นแหละคุณค่อยเริ่มต้นบันทึกมันลงแผ่นฟิล์ม
“แต่คุณไม่ค่อยได้ทำแบบนั้น เพราะคุณรีบตลอดเวลา คุณต้องทำอะไรบางอย่างตลอดเวลา ใจเย็นๆ ซึมซับมันเข้าใป เหตุการณ์และบรรยากาศในเวลานั้น”
เท่าที่ได้สัมผัส ฟาบริซิโอเป็นคนอย่างไร
“ผมจะเล่าไปถึงประสบการณ์ที่ได้พบเจอภาพถ่ายของเขา ผมอยู่กับเขาในวันที่เขาอยู่คนเดียวในแฟลตเล็กๆ ท่ามกลางอากาศที่ย่ำแย่ด้านนอก ทั้งฝนทั้งหมอกลง ฟาบริซิโอไม่มีภรรยาและลูก เขาอยู่ตัวคนเดียว
“ผมนึกขึ้นได้ว่าแม่ผมชอบเล่าให้ฟังว่าลุงฟาบริซิโอเป็นช่างภาพที่เก่งมาตั้งแต่ในอดีต ในวันนั้นที่เรานั่งหลบอากาศที่ย่ำแย่ด้านนอก ผมตัดสินใจถามฟาบริซิโอว่า เล่าให้ฟังหน่อยสิ วันที่คุณถ่ายภาพ คุณเป็นยังไง ถ่ายไปทำไมในวันนั้น
“วันนั้นเขาพาผมลงไปห้องใต้ดิน นำกล่องมาเปิด และพบเจอกับภาพถ่ายจำนวนมาก นั่นคือครั้งแรกที่ผมได้เห็นคลังสมบัติภาพที่ถูกเก็บไว้เป็นเวลาหลายสิบปี
“ผมต้องยกเลิกไฟลต์วันนั้น เพราะต้องใช้เวลานานมากในการเปิดกรุภาพถ่ายที่เหมือนกับสมบัติแห่งกาลเวลานี้
“จากนั้นผมขออนุญาตเขานำภาพมา 50 ภาพ ผมไปที่บรัสเซลส์ เบลเยียม เพื่อเริ่มต้นการฟื้นฟูภาพให้สามารถพิมพ์ออกมาจัดแสดงได้ และผมไปปารีสเพื่อพูดคุยกับเพื่อนสองคนที่มีแกลเลอรีของตัวเอง จากนั้นเราจึงได้เริ่มจัดแสดงภาพพิมพ์หนังสือจนนำพาภาพไปทั่วยุโรป และสุดท้ายก็มาถึงไทยในที่สุด”
ภาพโปรดที่สุดของเขามีไหม
“คุณจะต้องผิดหวัง เพราะเขาไม่มีภาพโปรดที่สุด เขาไม่ได้เห็นภาพ แต่เขาเห็นคนและเหตุการณ์ที่อยู่ในภาพ มีครั้งหนึ่งเราพิมพ์ภาพในบรัสเซลส์ และฝ่ายเทคนิคเอาภาพมาให้ฟาบริซิโอดู ภาพนั้นเป็นภาพที่เขาถ่ายไว้เมื่อ 40-50 ปีก่อน ฟาบริซิโอมองภาพนี้แล้วบอกว่ามันมีข้อผิดพลาดบางอย่าง
“เพราะคุณตัดด้านข้างออกไง ภาพนี้เป็นภาพที่ตรงกลางมีคน 3 คน แต่พอขยายภาพออกให้เห็นเต็มใบจะพบว่าด้านข้างมี 2 คน ด้านซ้ายคนกำลังก้าวออกจากรถ ด้านขวาคนกำลังก้าวขึ้นรถ เห็นไหมว่ามันมีเรื่องราวอยู่ในนั้น คุณตัดมันออกจากภาพนี้ไม่ได้
“ฟาบริซิโอจำได้แม่นว่าเกิดอะไรขึ้นในภาพนั้น เรามาดูภาพตลาดสดในโรมภาพนี้ต่อ เขาเดินผ่านชายหนุ่ม 3 คนนี้ไปตอนแรก ชาย 3 คนนั้นทำเหมือนไม่มีอะไรมาขายในตลาด เพราะไม่มีอะไรวางขาย ดูด้านหน้าพวกเขา
“เขากลับมาพยายามทำความเข้าใจว่าชาย 3 คนนี้ไม่มีอะไรขายแล้วมานั่งทำไม สุดท้ายเขาตัดสินใจถ่ายภาพและเข้าใจในที่สุดว่าสิ่งที่ 3 คนนี้ขายคือตัวพวกเขาเอง ผู้ชาย 3 คนนี้ขายตัวนั่นเอง
“ถ้าคุณเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการถ่ายภาพ จะต้องชื่นชมตำแหน่งแขนของทั้ง 3 คนในภาพนี้อีกด้วย
“50 ปีผ่านไป เขาจำเหตุการณ์ทั้งหมดตอนที่ถ่ายภาพได้ เขาจำได้ทุกคน ทุกเหตุการณ์ ผมเลยไม่คิดว่าเขามีภาพโปรดเพียงภาพเดียว เพราะเขารักทุกภาพที่ถ่าย และเขาจำทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นั่นคือเขาแหละ ฟาบริซิโอ”
คุณล่ะ มีภาพถ่ายที่ชอบไหม
“มีหลายภาพเลยที่ผมชอบ โดยเฉพาะภาพที่ผมรู้เรื่องราวเบื้องหลังของแต่ละภาพที่เขาเล่าให้ฟัง
“หนึ่งในนั้นเราได้นำมาจัดแสดงที่กรุงเทพฯ นี้ด้วย นั่นคือภาพที่ชื่อว่า Love Story คุณเห็นแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งสองนั่งอยู่บนเรือ สิ่งที่เขาชื่นชอบมากที่สุดคือเรื่องราวของความรัก ไม่ใช่ภาพมุมกว้างของแม่น้ำเจ้าพระยาแบบพาโนรามา แต่เป็นความรักของทั้งสองคนนั้น”
ในนิทรรศการ Bangkok That Was: Photographs 1956-1961 นอกจากเราจะได้พบเห็นกาลเวลาของกรุงเทพมหานครที่ถูกแช่แข็งไว้เป็นเวลากว่า 50 ปีแล้ว เรายังได้เห็นแง่คิดเบื้องหลังบางอย่างในการบันทึกเหตุการณ์แต่ละครั้งของช่างภาพชาวอิตาลีผู้นี้
แม้ว่าตัวผู้เขียนจะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านภาพถ่าย การถ่ายภาพ หรือแม้กระทั่งการวิเคราะห์ภาพถ่าย แต่สุดท้ายการเดินทางมาชมนิทรรศการและมีโอกาสได้พูดคุยกับหลานของผู้บันทึกภาพก็หวังว่าจะสามารถทำหน้าที่ของตนเองได้ดีที่สุด
นั่นคือการบันทึกต่อยอดเรื่องราวเบื้องหลังภาพถ่ายในจังหวะต่างๆ ที่ฟาบริซิโอตั้งใจเก็บบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ในอดีต แช่แข็งมันไว้บนฟิล์มเนกาทีฟ จนสุดท้ายได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นใหม่และปรากฏต่อหน้าประชาชนชาวไทยในกรุงเทพมหานครเป็นครั้งแรกที่เซรินเดีย แกลเลอรี ภายในถนนเส้นแรกของประเทศไทย
สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากบทสนทนาและการเสพภาพถ่ายอายุ 50 ปีนี้คือ สำหรับการถ่ายภาพ ในบางครั้งอาจไม่ใช่คนที่อยู่ในจุดที่ดีที่สุดที่จะได้ภาพที่ดีที่สุดเสมอไป แต่กลับเป็นผู้ที่มีมุมมองและความใจเย็นที่จะรอคอยเหตุการณ์บางอย่างในช่วงจังหวะนั้นให้เกิดขึ้น ก่อนจะกดชัตเตอร์เพื่อบันทึกความทรงจำนั้นให้คงอยู่ตลอดไป
สำหรับนิทรรศการ Bangkok That Was: Photographs 1956-1961 โดย ฟาบริซิโอ ลา ตอร์เร ช่างภาพชาวอิตาลีที่บันทึกภาพถ่ายกรุงเทพฯ ช่วงระหว่างปี 1956-1961 จะจัดแสดงตั้งแต่วันนี้ถึง 20 มกราคม 2562 ณ เซรินเดีย แกลเลอรี ซอยเจริญกรุง 36 (ซอยสถานทูตฝรั่งเศส)
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์