วันนี้ (26 เมษายน) เอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร ระบุว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีเป้าหมายในการพัฒนาทางเท้าของกรุงเทพมหานครให้เดินได้ เดินดี และน่าเดิน โดยในระยะแรกตั้งเป้าไว้ 1,000 กิโลเมตรผ่าน 3 วิธี คือ การทำใหม่ทั้งเส้นทาง การปรับปรุงซ่อมแซมจุดที่ชำรุดเป็นการเร่งด่วน และการปรับใช้นวัตกรรมให้เหมาะสมกับพื้นที่
ซึ่งในการปรับปรุงแต่ละเส้นทางจะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป เช่น ถนนเพลินจิตและราชดำริมีการนำศิลปะมาใช้กับฝาท่อ ผ่านการออกแบบให้มีความโดดเด่นและแสดงออกถึงอัตลักษณ์ประจำย่านราชดำริ-เพลินจิต ซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจใจกลางเมือง รวมทั้งจะพัฒนาในเส้นทางอื่นๆ ให้กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของเมืองเหมือนกับญี่ปุ่น ที่มีการดึงเอาฝาท่อกับสัญลักษณ์ประจำเมืองมาผสมผสานกัน
นอกจากนี้ยังปรับรางระบายน้ำตลอดแนวถนน จากรูปแบบเดิมที่เป็นช่องระบายน้ำติดกับทางเท้า มาเป็นรางระบายน้ำตลอดแนวถนน เพื่อช่วยระบายน้ำท่วมขังบนถนนได้เร็วขึ้น
เอกวรัญญูกล่าวต่อว่า กทม. จะยึด 5 แนวทางในการพัฒนาปรับปรุงทางเท้า คือ
- แก้ไขตามประเด็นเรื่องร้องเรียนใน Traffy Fondue
- พัฒนาปรับปรุงตามแนว BKK Trail 500 กิโลเมตร
- ภายในรัศมี 500 เมตรรอบสถานีรถไฟฟ้า ทางเท้าต้องดี
- ปรับปรุงในเส้นทางที่มีคนสัญจรหนาแน่นตามข้อมูล Heatmap ที่เก็บได้นอกเหนือจากรัศมีรถไฟฟ้า
- คืนสภาพจากหน่วยงานสาธารณูปโภค โดยติดตามเร่งรัดการจัดการสาธารณูปโภคที่ทำให้เกิดผลกับพื้นผิวจราจรและทางเท้า เช่น ประปา ไฟฟ้า และการนำสายไฟลงดิน
และมาตรฐานใหม่ของทางเท้ากรุงเทพฯ 10 ข้อ คือ
- ลดระดับความสูงคันหินทางเท้าเป็นแบบรางตื้นสูง 10 เซนติเมตร
- ลดระดับความสูงคันหินทางเท้าบริเวณทางเข้า-ออกอาคารหรือซอยต่างๆ ให้สูง 10 เซนติเมตร จากเดิม 18.50 เซนติเมตร
- เปลี่ยนพื้นทางเท้าเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อเพิ่มความแข็งแรง ด้วยคอนกรีตหนา 10 เซนติเมตร และเสริมเหล็ก 6 มิลลิเมตร
- ปรับทางเข้า-ออกอาคารให้มีระดับเสมอกับทางเท้า เพื่อให้ผู้ใช้ทางเท้าทุกคนสามารถผ่านได้อย่างต่อเนื่องและสะดวกสบาย
- ปรับทุกทางเชื่อมและทางลาดให้มีความลาดเอียง 1:12 ตามมาตรฐานสากล
- เพิ่มรูปแบบทางเลือกวัสดุปูทางเท้าเป็นแอสฟัลต์คอนกรีตพิมพ์ลาย
- เปลี่ยนช่องรับน้ำจากแนวตั้งให้เป็นแนวนอน เพื่อเพิ่มอัตราการไหลของน้ำ
- วางแนวทางการจัดตำแหน่งระบบสาธารณูปโภคบนทางเท้า เพื่อไม่ให้กีดขวางผู้ใช้ทางเท้า
- วางอิฐนำทาง (Braille Block) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการทางสายตา
- ปรับปรุงแบบคอกต้นไม้ด้วยวัสดุพอรัสแอสฟัลต์ เพื่อขยายพื้นที่ทางเท้าให้กว้างขึ้น
เอกวรัญญูกล่าวต่อว่า ในส่วนของการปรับปรุงและซ่อมแซมทางเท้าที่ชำรุด กทม. โดยสำนักการโยธาและสำนักงานเขตที่รับผิดชอบแต่ละพื้นที่ จะใช้หน่วยเคลื่อนที่เร็ว (หน่วย BEST) ออกดำเนินการซ่อมแซมให้เร็วที่สุดและให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานได้อย่างปลอดภัย