×

‘กรุงเทพฯ แซนด์บ็อกซ์’ 15 ตุลาคม ความเป็นไปได้บนเงื่อนไขที่แทบเป็นไปไม่ได้

17.09.2021
  • LOADING...
กรุงเทพฯ แซนด์บ็อกซ์

หากนับจากวันที่ 16 มิถุนายน 2564 ที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศว่าจะเปิดประเทศภายใน 120 วัน กำหนดการที่ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หารือร่วมกับ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะเปิด ‘กรุงเทพฯ แซนด์บ็อกซ์’ รับนักท่องเที่ยวในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ ถือว่าช้ากว่าเป้าหมายไปเพียง 1 วัน

 

ฝ่ายเศรษฐกิจเดินหน้าเต็มที่ แต่ ศบค. ยังไม่ตัดสินใจ ในขณะที่ฝ่ายสาธารณสุขในกระทรวงน่าจะกำลังเตรียมแผนเพื่อรองรับนโยบายเปิดประเทศอยู่ แต่ฝ่ายสาธารณสุขนอกกระทรวงเริ่มออกมาแสดงความกังวลถึงความพร้อมในการเปิดประเทศ ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ยังทรงตัว และความครอบคลุมของวัคซีนครบ 2 เข็มที่ยังต่ำอยู่ (37.9% ข้อมูล ณ วันที่ 14 กันยายน 2564)

 

กรุงเทพฯ แซนด์บ็อกซ์ คืออะไร

 

ชื่อโครงการนี้ทำให้เข้าใจได้ว่ามี ‘ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์’ เป็นต้นแบบ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยเป็นการอนุญาตให้นักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนครบแล้วเดินทางเข้าประเทศโดยไม่ต้องกักตัว แต่จะต้องพักอยู่ในภายในจังหวัดก่อน 14 วัน (ต่อมามีการขยายโครงการเป็น 7+7) และประชาชนภายในจังหวัดจะต้องได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มมากกว่า 70%

 

คำว่า ‘แซนด์บ็อกซ์’ (Sandbox) หมายถึง ‘พื้นที่ทดลอง’ หรือพื้นที่นำร่องในการเปิดประเทศ ถึงแม้ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์จะเปิดเกาะมา 2 เดือนแล้ว แต่ยังไม่มีการสรุปผลการทดลองหรือถอดบทเรียนให้จังหวัดอื่นนำไปต่อยอด ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสาธารณสุข เพราะในระยะหลังภูเก็ตเริ่มมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น จนเหลือเตียงว่างสำหรับผู้ป่วยสีเขียวและสีแดงเพียง 10% และ 30% 

 

ผู้ที่จะเดินทางเข้ามาเที่ยวในแซนด์บ็อกซ์ต้องได้รับวัคซีนครบแล้ว ร่วมกับตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR จากประเทศต้นทาง และจะถูกตรวจในประเทศอีก 3 ครั้ง โรงแรมที่พักต้องผ่านมาตรฐาน SHA+ (มาตรฐานด้านสุขอนามัย + พนักงานได้รับวัคซีนอย่างน้อย 70%) และแบ่งการท่องเที่ยวออกเป็น 2 รูปแบบคือ ค้างในกรุงเทพฯ 14 วัน หรือในกรุงเทพฯ 7 วัน และในพื้นที่นำร่องอื่นอีก 7 วัน (7+7)

 

เดิมมีกำหนดเปิดในวันที่ 1 ตุลาคม แต่เนื่องจากทางกรุงเทพฯ ต้องการให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับวัคซีนครบเกิน 70% ก่อน โดยขณะนี้ถึงแม้จะฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 เกิน 70% ของจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎร์แล้ว (ไม่นับประชากรแฝง) แต่วัคซีนเข็มที่ 2 คาดว่าน่าจะฉีดให้ถึงเป้าหมายดังกล่าวไม่ทัน ความเป็นไปได้คือ ต้องเป็นวันที่ 15 ตุลาคม และเปิดกรุงเทพฯ พร้อมกันทุกเขต

 

สถานการณ์ในกรุงเทพฯ เป็นอย่างไร

 

การประเมินสถานการณ์การระบาดต้องพิจารณาหลายปัจจัยร่วมกัน ทั้งด้านไวรัส คน และมาตรการควบคุมโรค กล่าวคือ 

 

  1. สายพันธุ์ของไวรัส 

ข้อมูลจากการเฝ้าระวังของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 กันยายน พบว่าสายพันธุ์เดลตาเป็นสายพันธุ์หลัก (97.6%) ซึ่งมีความสามารถในการแพร่กระจายสูง หากเกิดการระบาด จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

  1. จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 

ในสัปดาห์นี้เฉลี่ย 3,050 รายต่อวัน ลดลงจากสัปดาห์ก่อนซึ่งประมาณ 3,700 รายต่อวัน ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตรายใหม่เฉลี่ย 40 รายต่อวัน ลดลงจากสัปดาห์ก่อนซึ่งอยู่ที่ประมาณ 53 รายต่อวัน ถือว่ามีแนวโน้มลดลงทั้งคู่ แต่ข้อมูลที่ยังไม่มีการเผยแพร่เป็นประจำคือ จำนวนผู้ป่วยอาการรุนแรง และอัตราการครองเตียง ICU ซึ่งจะสะท้อนภาระงานของโรงพยาบาลได้มากกว่า

 

  1. ร้อยละการตรวจพบเชื้อ (%Positive) 

ในสัปดาห์ที่แล้วเท่ากับ 28.8% (ข้อมูล ณ วันที่ 11 กันยายน) เทียบกับ 31.3% ในสัปดาห์ก่อนหน้า และจุดสูงสุดเมื่อต้นเดือนสิงหาคมเท่ากับ 36.9% ถือว่ามีแนวโน้มลดลง แสดงว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงจริง แต่เนื่องจาก %Positive เกิน 5-10% แสดงว่าการตรวจหาเชื้อยังไม่เพียงพอ และมีโอกาสกลับมาเกิดการระบาดซ้ำได้อีกครั้ง

 

  1. ความครอบคลุมของวัคซีน 

ปัจจุบันในกรุงเทพฯ มีผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม มากถึง 95.7% ตามจำนวนประชากรในทะเบียนราษฎร์และประชากรแฝง แต่ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบแล้วยังมีเพียง 37.9% ซึ่งน่าจะมีสาเหตุมาจากความล่าช้าในการส่งมอบวัคซีน และวัคซีน AstraZeneca ต้องเว้นระยะห่าง 10-12 สัปดาห์ ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนในช่วงแรกเพิ่งจะได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 กันในเดือนนี้ 

 

เป้าหมายของวัคซีนต้องเป็นเท่าไร

 

เนื่องจากสายพันธุ์เดลตาแพร่ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม ระดับภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ที่คาดหวังว่าจะหยุดการระบาดได้ต้องมากกว่า 80-90% ประกอบกับภูมิคุ้มกันจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป ทำให้ภูมิคุ้มกันหมู่จึงอาจเกิดขึ้นได้ยาก แต่วัคซีนยังคงเป็นเครื่องมือที่สำคัญ เพราะแนวทางการอยู่ร่วมกับโควิด (Living with COVID) มีเป้าหมายเพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตและอัตราป่วยตายเป็นหลัก

 

ทว่าการติดตามความครอบคลุมของวัคซีนจะต้องเปลี่ยนจาก ‘ประชาชนทั่วไป’ เป็น ‘กลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง’ ด้วย คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป, ผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ (กระทรวงสาธารณสุขเรียกว่ากลุ่ม 608) และเป้าหมายควรเป็นวัคซีนครบ 2 เข็มให้มากที่สุด ขณะนี้มีผู้สูงอายุในกรุงเทพฯ ที่ได้รับวัคซีนครบแล้ว 276,763 คน หรือคิดเป็น 26.6% 

 

ส่วนผู้มีโรคประจำตัวได้รับวัคซีนครบแล้ว 229,305 คน หรือคิดเป็น 17.0% (ข้อมูล ณ วันที่ 14 กันยายน 2564) ซึ่งความครอบคลุมในทั้งสองกลุ่มถือว่าต่ำกว่าในประชาชนทั่วไป หากต้องการเปิดเมืองอย่างมั่นใจว่าผู้ป่วยอาการหนักจะไม่กลับไปล้นโรงพยาบาลอีก จำเป็นต้องเร่งรัดการฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยงนี้ก่อน และอาจพิจารณาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หากได้รับวัคซีนครบเกิน 6 เดือนไปแล้ว

 

สถานการณ์ในกรุงเทพฯ สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อนับตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมเป็นต้นมาถือว่าดีขึ้น แต่ยังสูงกว่าช่วงก่อนการระบาดระลอกเมษายน 2564 ส่วนความครอบคลุมของวัคซีนเข็มที่ 2 ขณะนี้ยังถือว่าต่ำอยู่ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง ส่วนจะครบตามเป้าหมายเมื่อใด หน่วยงานที่มีข้อมูลยี่ห้อและจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกไปแล้วควรคาดการณ์และเผยแพร่ต่อสาธารณะ

 

ข้อพิจารณาอื่นๆ ในการเปิดเมือง

 

ข้อสังเกตหนึ่งจากภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์คือ การระบาดในระยะหลังน่าจะไม่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากต่างประเทศ เพราะนักท่องเที่ยวได้รับการตรวจหาเชื้อตั้งแต่วันแรกที่มาถึง และตรวจซ้ำอีก 2 ครั้ง โดยตั้งแต่เริ่มดำเนินการมา มีนักท่องเที่ยวทั้งหมด 27,216 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 2 กันยายน) พบผู้ติดเชื้อเพียง 85 ราย คิดเป็น 0.31% และส่วนใหญ่ตรวจพบเชื้อภายใน 7 วันแรก

 

ซึ่งน่าจะสามารถควบคุมโรคได้ทันเวลา ในขณะที่ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นคนไทย และผู้เสียชีวิตมักเป็นผู้สูงอายุ แสดงว่ามีการระบาดเข้าไปในระดับครอบครัว ดังนั้น การระบาดในแซนด์บ็อกซ์น่าจะเริ่มต้นจากผู้ติดเชื้อที่ตกค้างในชุมชน และเกี่ยวข้องกับการเปิดกิจกรรม/กิจการที่ผ่อนคลายมากขึ้นในพื้นที่ (ถ้ามีการถอดบทเรียนจะดีมากว่าสถานที่เสี่ยงที่จังหวัดอื่นต้องเฝ้าระวังคือสถานที่ใดบ้าง) 

 

แต่บทเรียนที่ผ่านมาของกรุงเทพฯ มี 5 สถานที่เสี่ยงหลักคือ สถานบันเทิง ตลาด โรงงาน แคมป์ก่อสร้าง และชุมชนแออัด ถ้าจะเปิดกรุงเทพฯ มาตรการควบคุมและป้องกันโรคในสถานที่เหล่านี้ต้องมีความชัดเจน ทั้งการตรวจหาเชื้อ การสอบสวนโรค และการแยกกักโรค (Test, Trace and Isolation: TTI) และการฉีดวัคซีน ที่สำคัญจะต้องคำนึงถึงการเดินทางข้ามพื้นที่จากเขตปริมณฑลด้วย

 

ถึงแม้แนวคิดการอยู่ร่วมกับโควิดจะเลิกให้ความสำคัญกับจำนวนผู้ติดเชื้อ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะลดจำนวนการตรวจหาเชื้อลง ในทางกลับกันควรจะเพิ่มการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK โดยเฉพาะอาชีพที่สัมผัสใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวหรือคนจำนวนมาก เพื่อให้ตรวจจับการระบาดได้เร็ว และต้องเตรียมความพร้อมสถานที่แยกกักและระบบดูแลผู้ติดเชื้อ เช่น HI/CI หลังจากนั้นด้วย

 

ล่าสุดวันที่ 17 กันยายน พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ตอบคำถามสื่อมวลชนถึงกำหนดการเปิดกรุงเทพฯ แซนด์บ็อกซ์ ในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ว่า ต้องให้ ‘ปลอดภัย’ ก่อน ซึ่งขยายความว่า ประชาชนจะต้องได้รับวัคซีนครบเกิน 70% ทั้งนี้ ใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่ภาครัฐกำหนดไม่ได้ หากกรุงเทพฯ ได้รับการจัดสรรวัคซีนอย่างเพียงพอ มีระบบกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และเน้นที่กลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรงเป็นลำดับแรก

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising