วานนี้ (18 ตุลาคม) ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมศูนย์เฝ้าระวังภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพกรุงเทพมหานคร: Bangkok Health Emergency Operations Center (ศฉส.กทม.: BHEOC) ครั้งที่ 7/65 โดยมีคณะกรรมการร่วมประชุมและเจ้าหน้าที่จากเขตพระนคร
ทวิดากล่าวว่า ค่าฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ จากข้อมูลวันที่ 18 ตุลาคม มีแนวโน้มสูงขึ้น เพื่อเป็นการบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพอนามัยของประชาชน ขอให้สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข และโรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ในเขตที่มีการเตือนค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน ดูแลกลุ่มเปราะบางในพื้นที่เป็นพิเศษ
โดยให้ผู้อำนวยการเขตแจ้งนักประชาสัมพันธ์พร้อมฝ่ายสิ่งแวดล้อมลงพื้นที่ดูแลประชาชนในเชิงรุกร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข รวมทั้งสื่อสารและประชาสัมพันธ์ พร้อมให้คำแนะนำในการป้องกันและดูแลตนเองจากอันตรายที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 แก่ประชาชน
การแจกหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะหน้ากากชนิด N95 ให้กับผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ กลุ่มผู้สูงอายุ และเด็กเล็ก ในพื้นที่เฝ้าระวัง พร้อมทั้งมีการติดตามผลการดำเนินงานด้วย
สำหรับสถานการณ์ไข้เลือดออก ทวิดากล่าวว่า พบว่ามีผู้ป่วยในหลายเขต ขอให้สำนักงานเขตที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ซึ่งปัจจุบันบางพื้นที่น้ำแห้งแล้ว และพบว่ามีน้ำขังตามพื้นที่หรือตามภาชนะที่ถูกทิ้งต่างๆ ซึ่งอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำ ยุงลายได้ ขอให้สำนักงานเขตเร่งดำเนินการรณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งแจกน้ำยาตะไคร้หอมกันยุงและทรายกำจัดลูกน้ำ ยุงลาย แก่ประชาชน รวมทั้งฉีดพ่นหมอกควันกำจัดยุงทันทีในกรณีพบคนไข้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก
ในส่วนของสำนักงานเขตที่ยังประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่ เช่น เขตบางพลัด ขอให้เฝ้าระวังพื้นที่ในจุดที่มีปัญหาน้ำไหลซึมเข้ามาภายในชุมชน ทั้งนี้ หากมีการประสานขอความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเครื่องสูบน้ำหรือการทำสะพานไม้ทางเดิน รวมถึงเรื่องอื่นๆ ขอให้เคลื่อนย้ายทรัพยากรเข้าไปเสริมในพื้นที่โดยเร็ว รวมทั้งสำรวจอุปกรณ์ต่างๆ ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์และพร้อมใช้งานด้วย
ทวิดากล่าวต่อไปว่า สำนักอนามัยมีมาตรการดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานรับเลี้ยงเด็กกลางวัน ประกอบด้วย
- มาตรการเชิงป้องกัน
1.1 หมั่นตรวจสภาพความแข็งแรงของประตูรั้วโดยรอบ ควรปิดประตูและล็อกทุกครั้ง ทั้งนี้ อาจมีเจ้าหน้าที่ประจำบริเวณประตูเข้า-ออก เพื่อคัดกรองบุคคลภายนอกที่มาติดต่อ หรือพิจารณาติดกล้องวงจรปิดในบริเวณจุดเสี่ยง
1.2 อนุญาตให้ผู้ปกครองรับส่งเด็กบริเวณหน้าประตูเท่านั้น
1.3 ติดตั้งกริ่งเตือนภัย และกำหนดทางออกฉุกเฉินที่สามารถออกไปยังที่ปลอดภัยได้
1.4 จัดซ้อมแผนเผชิญเหตุเป็นประจำทุกปี
1.5 จัดทำเบอร์โทรฉุกเฉิน 191 และ 1669 ไว้ในบริเวณที่เห็นได้ชัด
- มาตรการเมื่อเกิดเหตุ
2.1 กรณีพบสิ่งของต้องสงสัยหรือผู้ต้องสงสัย (สังเกตจากการแต่งกาย ท่าทาง และพฤติกรรม) ให้รีบโทรแจ้ง 191 และรายงานผู้บริหารศูนย์บริการสาธารณสุขทราบโดยด่วน เพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่
2.2 หากเกิดเหตุความไม่สงบให้ดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุ เช่น กดกริ่งเตือนและเคลื่อนย้ายเด็กออกไปในที่ปลอดภัยให้เร็วที่สุด
โดยมาตรการดังกล่าวจะมีแนวทางในการดำเนินการที่สอดคล้องกันทั้งในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน