×

ณัฐพงษ์ห่วงคนกรุงเทพฯ สูด PM2.5 ยาวถึงวันเสาร์ ชี้มาตรการแก้ฝุ่นต้องชัดเจน-วางแผนล่วงหน้า

โดย THE STANDARD TEAM
03.12.2024
  • LOADING...
PM2.5

วันนี้ (3 ธันวาคม) ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส. บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวถึงสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่กลับมาทวีความรุนแรงอีกครั้ง โดยค่าคุณภาพอากาศวันนี้เกินกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรทุกพื้นที่ ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจของประชาชน 

 

ณัฐพงษ์กล่าวว่า ตนขอแสดงความห่วงใยถึงประชาชนชาว กทม. ที่อาจต้องเผชิญกับสถานการณ์ฝุ่นปกคลุมไปจนถึงวันเสาร์ที่ 7 ธันวาคมนี้ เพราะจากข้อมูลของกรมป่าไม้ ระหว่างวันที่ 1-3 ธันวาคม พบจุดความร้อน (Hotspot) ทั่วประเทศจำนวน 306 จุด โดย 93% หรือ 284 จุดอยู่ในพื้นที่การเกษตรบริเวณภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง และภาคอีสาน เมื่อผนวกกับทิศทางลมในช่วงนี้ที่พัดจากทิศเหนือลงใต้และจากตะวันออกมายังตะวันตก ทำให้ฝุ่นละอองจากพื้นที่เกษตรพัดลงมาสะสมที่กรุงเทพฯ ขณะที่อัตราการระบายอากาศของกรุงเทพฯ ยังอยู่ในเกณฑ์ย่ำแย่ไปจนถึงวันเสาร์นี้ ซ้ำเติมสถานการณ์ฝุ่นให้หนักหน่วงยิ่งขึ้นไปอีก

 

ณัฐพงษ์กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่พรรคประชาชนเน้นย้ำเสมอมาคือการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 รัฐบาลต้องวางแผนและดำเนินการล่วงหน้าในช่วง 8 เดือนที่ไม่มีปัญหา เพราะหากมาเร่งออกมาตรการในช่วง 4 เดือนที่ปัญหาวิกฤตแล้วจะไม่ทันการณ์ โดย สส. พรรคประชาชนเสนอมาตรการต่างๆ ผ่านการอภิปรายในสภาหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายงบประมาณหรือการอภิปรายนโยบายรัฐบาล แต่มาตรการของรัฐบาลกลับยังไม่มีความชัดเจนและไม่ทันเวลา

 

โดยเฉพาะในภาคเกษตร ฤดูกาลเปิดหีบอ้อยจะเริ่มต้นในวันที่ 6 ธันวาคมนี้แล้ว แต่จนถึงปัจจุบันมาตรการสนับสนุนการตัดอ้อยสดโดยไม่เผาก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะให้ราคาตันละเท่าไร มีเพียงรายละเอียดในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรครั้งที่ผ่านมาว่ารัฐบาลจะให้ 69 บาทต่อตัน ส่วนอีก 51 บาทจะให้ผ่านการรับซื้อใบอ้อยสด โดย 2 ส่วนให้เกษตรกร และอีก 1 ส่วนให้โรงไฟฟ้าชีวมวล แต่ก็ยังไม่มีมติคณะรัฐมนตรีออกมาอย่างเป็นทางการ มาตรการที่ไม่ชัดเจนและล่าช้าเช่นนี้ทำให้เกษตรกรไม่อาจปรับตัวและวางแผนด้านต้นทุนและกำไรล่วงหน้าได้ทัน ขณะเดียวกันมาตรการปรับเงินโรงงานที่รับอ้อยไฟไหม้ในปริมาณมากก็ยังไม่มีออกมา

 

ขณะที่มาตรการด้านข้าว พรรคประชาชนเคยเสนอให้รัฐบาลเพิ่มเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมในการสนับสนุนเงิน 1,000 บาทต่อไร่ เพื่อจูงใจให้เกษตรกรลดการเผา แต่จากการแถลงข่าวมติคณะรัฐมนตรีวันนี้ก็ยังไม่เห็นความชัดเจนในการบรรจุเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมไว้ในมาตรการนี้

 

ส่วนมาตรการห้ามรับซื้อหรือนำเข้าสินค้าเกษตรที่มีที่มาจากการเผา รัฐบาลก็สามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องรอร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด มีผลบังคับใช้ โดยทำได้ผ่านทั้งการใช้ พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ออกมาตรฐานบังคับกับสินค้าเกษตรที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ PM2.5 รวมถึงการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 ที่สามารถกำหนดเงื่อนไขการนำเข้าและห้ามนำเข้าสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งได้

 

“มาตรการต่างๆ เหล่านี้รัฐบาลต้องวางแผนและแสดงความชัดเจนตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะเกษตรกรปรับตัวและคำนวณต้นทุนได้ทัน การแก้ปัญหาฝุ่นไม่ควรรอจนเกิดวิกฤต แต่ต้องเริ่มตั้งแต่ตอนที่ยังไม่เกิดปัญหา” ณัฐพงษ์กล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X