×

กทม. ชี้แจงข้อบัญญัติคุมสัตว์เลี้ยงฉบับใหม่ เริ่ม 10 ม.ค. 69 กำหนดจำนวน-บังคับขึ้นทะเบียน หวังลดปัญหาสัตว์จร-โรคระบาด

โดย THE STANDARD TEAM
02.05.2025
  • LOADING...

วันนี้ (2 พฤษภาคม) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าวเตรียมความพร้อมการบังคับใช้ ‘ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. 2567’ ซึ่งจะเริ่มมีผลในวันที่ 10 มกราคม 2569 เพื่อจัดระเบียบการเลี้ยงสัตว์ ป้องกันการทอดทิ้ง และควบคุมโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน

 

รศ.ทวิดา กล่าวว่า ข้อบัญญัตินี้สอดคล้องกับนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. ในการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงตลอดชีพเพื่อป้องกันการปล่อยทิ้ง และการจัดระเบียบสัตว์จรจัดอย่างเป็นระบบ ผ่านการควบคุมประชากร การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และการหาบ้านใหม่ให้สัตว์ ลดการซื้อสัตว์มาเลี้ยง

 

สาระสำคัญของข้อบัญญัติฯ มีดังนี้:

 

  • กำหนดจำนวนสัตว์เลี้ยง: มีการจำกัดจำนวนสัตว์เลี้ยงประเภทต่างๆ ต่อพื้นที่ เช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ (โค, ม้า) ไม่เกิน 1 ตัวต่อ 50 ตร.ว., สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก (แพะ, สุกร) ไม่เกิน 3 ตัวต่อ 50 ตร.ว., ไก่/เป็ด ไม่เกิน 1 ตัวต่อ 4 ตร.ม.
  • จำกัดจำนวนสุนัขและแมว:

 

  • อาคารชุด/ห้องเช่า 20-80 ตร.ม.: ไม่เกิน 1 ตัว
  • อาคารชุด/ห้องเช่า มากกว่า 80 ตร.ม.: รวมกันไม่เกิน 2 ตัว
  • ที่ดิน น้อยกว่า 20 ตร.ว.: รวมกันไม่เกิน 2 ตัว
  • ที่ดิน 20-50 ตร.ว.: รวมกันไม่เกิน 3 ตัว
  • ที่ดิน 50-100 ตร.ว.: รวมกันไม่เกิน 4 ตัว
  • ที่ดิน มากกว่า 100 ตร.ว.: รวมกันไม่เกิน 6 ตัว

(การเลี้ยงเกินจำนวนเพื่อการค้า ต้องปฏิบัติตามข้อบัญญัติว่าด้วยกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ)

 

  • หน้าที่เจ้าของ: ต้องจัดหาที่อยู่ อาหาร น้ำ ที่เหมาะสม ดูแลความสะอาด ฉีดวัคซีนป้องกันโรค ควบคุมสัตว์ไม่ให้ออกนอกสถานที่โดยไม่มีผู้ดูแล (สัตว์ดุร้ายต้องมีกรงและป้ายเตือน) ไม่ก่อความเดือดร้อนรำคาญ และจัดการซากสัตว์อย่างถูกสุขลักษณะ

 

  • ขึ้นทะเบียนและฝังไมโครชิป: เจ้าของสุนัขและแมวต้องนำสัตว์ไปจดทะเบียนและฝังไมโครชิปภายใน 120 วันนับแต่สัตว์เกิด หรือ 30 วันนับแต่นำมาเลี้ยงใน กทม. ณ สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข หรือสำนักงานเขต เพื่อประโยชน์ในการติดตามและระบุเจ้าของ

 

  • การนำสัตว์ออกนอกสถานที่: ต้องแสดงบัตรประจำตัวสัตว์เมื่อถูกเรียกตรวจ ใช้สายจูง หรืออุปกรณ์ควบคุมอื่นๆ สุนัขควบคุมพิเศษ (พิตบูล, รอตไวเลอร์ ฯลฯ) ต้องสวมที่ครอบปาก ใช้สายจูงสั้น (ไม่เกิน 50 ซม.) และผู้ควบคุมต้องมีอายุ 15-65 ปี

 

  • บทลงโทษ: ผู้ฝ่าฝืนข้อบัญญัตินี้ มีโทษปรับไม่เกิน 25,000 บาท ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535

 

  • ข้อผ่อนผัน: สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์เกินจำนวนที่กำหนดอยู่แล้วก่อนวันที่ 10 มกราคม 2569 ให้แจ้งข้อมูลต่อสำนักงานเขตภายใน 90 วันนับแต่วันที่ข้อบัญญัติใช้บังคับ (ภายในวันที่ 9 เมษายน 2569)

 

ประโยชน์และการดำเนินการของ กทม.: 

 

การฝังไมโครชิปจะช่วยให้ติดตามเจ้าของได้ง่ายเมื่อสัตว์พลัดหลงหรือถูกทิ้ง ลดปัญหาสัตว์จรจัด กทม. ได้เตรียมความพร้อมโดยหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รณรงค์ประชาสัมพันธ์ และจัดหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการจดทะเบียนและฝังไมโครชิปเชิงรุก

 

ประชาชนสามารถรับบริการด้านสุขภาพสัตว์ การทำหมัน และจดทะเบียนได้ที่คลินิกสัตวแพทย์ กทม. ทั้ง 8 แห่ง และ กทม. ยังมีศูนย์ควบคุมสุนัข เขตประเวศ สำหรับจัดการสุนัขที่มีปัญหาหรือสงสัยโรคพิษสุนัขบ้า และดำเนินการหาบ้านใหม่ให้สุนัข/แมวจรจัด (โครงการ BKK Adopter) รวมถึงศูนย์พักพิงสุนัข จังหวัดอุทัยธานี สำหรับดูแลสุนัขที่รับมาจากศูนย์ฯ ประเวศ ตลอดอายุขัย

 

ข้อบัญญัติฉบับนี้จึงนับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับการจัดการสัตว์เลี้ยงในกรุงเทพมหานครให้มีความรับผิดชอบและเป็นระบบมากยิ่งขึ้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising