วันนี้ (26 กรกฎาคม) ที่ห้องนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พร้อมด้วย พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. ผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม ประชุมหารือแนวทางความร่วมมือในการลดฝุ่น PM2.5 รวมถึงการดำเนินการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) กับผู้แทนกรีนพีซ (Greenpeace) นำโดย สมบัติ เหสกุล
ชัชชาติกล่าวภายหลังการประชุมว่า มีจุดมุ่งหมายร่วมกันที่จะทำอย่างไรให้สภาพสิ่งแวดล้อมใน กทม. ดีขึ้น แบ่งเป็น 2 ประเด็นหลักคือ เรื่องฝุ่น PM2.5 กรีนพีซเน้นเรื่องการปรับมาตรฐานให้เข้มข้นตามองค์การอนามัยโลก (WHO) หาพื้นที่ Sandbox ที่จะทำต้นแบบการจำกัดเรื่องฝุ่น PM2.5 ซึ่งสอดคล้องกับ 16 แผนปฏิบัติการของ กทม. ที่เริ่มเดินหน้าการตรวจฝุ่น ควันพิษ การติดตั้งเครื่องวัดฝุ่นเพิ่ม ออกมาตรการเข้มข้นกับสถานประกอบการต่างๆ
ส่วนประเด็นที่ 2 การส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดด้วยการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาจเริ่มจากหน่วยงาน กทม. ก่อน เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ศาลาว่าการ กทม. หรือสวนสาธารณะ ซึ่งมีอยู่ในแนวคิดอยู่แล้วแต่จะดูเรื่องการลงทุน ความคุ้มทุน ปัจจุบันมีหลายรูปแบบ เช่น การลงทุนร่วมกับเอกชน แต่คงไม่ได้หยุดแค่ Solar Rooftop ยังพูดถึงเรื่องพาหนะไฟฟ้า (EV) เพื่อลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากรถยนต์ด้วย
ชัชชาติกล่าวต่ออีกว่า การประชุมครั้งนี้ยังได้พูดถึงเรื่องการกำจัดขยะ หลายอย่างคิดตรงกัน การกำจัดขยะต้นทุนสูงมาก หัวใจหลักคือการลดต้นทุนในการกำจัดขยะ ถ้าลดตั้งแต่ต้นทางได้ทั้งกระบวนการก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีหลายมิติในการจัดการ เป็นแนวทางในการหาเครือข่ายขยายตัวขึ้นการทำงานจะเป็นรูปธรรมขึ้น
“สิ่งแวดล้อม กทม. ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องร่วมมือกับภาคีเครือข่าย มีหลายจุดเริ่มต้นแล้ว มีการพบกับกระทรวงพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงทรัพยากรฯ กับปลัด กทม. ต้องให้มีผลเป็นรูปธรรมในสิ้นปีนี้ มีการไปดูการจัดการขยะของมูลนิธิกระจกเงา พบกรีนพีซ ลงไปดูการกำจัดขยะจริงๆ ในพื้นที่” ชัชชาติกล่าว
ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า ต้องมีการทำแผนระยะยาวซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้วันที่ PM2.5 ยังไม่วิกฤต เพราะถ้าถึงฤดูกาลก็จะหนักขึ้น สิ่งที่จะนำร่องเป็นรูปธรรมและทำร่วมกับกรีนพีซได้ก่อนคือเรือง Sandbox และ Solar Rooftop ดูความเป็นไปได้ว่า กทม. จะลดค่าไฟโดยใช้โซลาร์เซลล์ได้มากน้อยแค่ไหน หาอันที่เป็นรูปธรรม สิ่งที่แต่ละคนมีความเชี่ยวชาญ หลายอย่างสามารถเริ่มได้เลย
ด้านสมบัติกล่าวว่า เมื่อพูดถึงขยะคนจะคิดถึงการกำจัดขยะ ตอนนี้งบประมาณในการจัดการขยะของ กทม. จริงๆ อยู่ที่ 1 หมื่นกว่าล้านบาท ไม่ใช่ 7-8 พันล้านบาท กทม. จัดเก็บรายได้ได้ 1 หมื่นกว่าล้านบาท เงินของ กทม. มีจำกัด หากเอามาจัดการขยะอย่างเดียวคงไม่พอ วันนี้ กทม. เก็บค่าธรรมเนียมจัดการขยะได้ต่ำมากเพียง 500-800 ล้านบาท ทำอย่างไรจะลดต้นทุนการจัดการขยะแล้วสร้างระบบการจัดการขยะจากทุกภาคส่วน ต้องมีแพลตฟอร์มสตาร์ทอัพระดับเขตที่เป็นเส้นเลือดฝอยจริงๆ ยกระดับคนทำงานในพื้นที่อย่างซาเล้งให้เป็นเส้นเลือดฝอยที่สำคัญของ กทม. ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการจัดการขยะได้มากขึ้น
ขณะที่พรพรหมกล่าวว่า นอกเหนือจากการเสนอของกรีนพีซในเรื่อง PM2.5 แล้ว กทม. ได้เสนอ 16 แผนปฏิบัติการ เช่น นักสืบฝุ่นในการหาต้นตอฝุ่น พื้นที่ปลอดฝุ่น การติดเซ็นเซอร์ตรวจวัดค่าฝุ่นเพิ่ม รวมถึงการทำอย่างไรกับรถควันดำเข้ามาในพื้นที่โดยเฉพาะรถบรรทุก ซึ่ง กทม. เองมีมาตรการดูตั้งแต่ต้นทาง ให้ไซต์ก่อสร้างพิจารณา กรีนพีซช่วยแชร์ข้อมูลการตรวจวัดฝุ่นจากสถานีตรวจวัดฝุ่นของ กทม. ที่มีอยู่ 70 แห่ง ส่งเสริมให้ประชาชนรับรู้มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงปลายปี