×

เงินเดือนเท่าไรถึงจะพอใช้ในเมืองกรุง? หนทางเอาตัวรอดที่มนุษย์เงินเดือนควรอ่าน

01.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • จากผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า คนในเมืองหลวงมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 32,091 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คนมีค่าใช้จ่ายมากที่สุด เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ
  • นักวางแผนการเงินจาก K-Expert แนะนำสัดส่วนการใช้จ่ายของมนุษย์เงินเดือนในกรุงเทพฯ ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ โดยแบ่งเป็นค่าอาหารและค่าเสื้อผ้า 30% ค่าใช้จ่ายเพื่อการอยู่อาศัย 40% ค่าใช้จ่ายเพื่อการพักผ่อนและความบันเทิง 5% ค่าใช้จ่ายเพื่อสุขภาพ 5% ค่าเดินทาง 10% และเก็บออม 10% โดยอ้างอิงจากผลสำรวจการใช้จ่ายจริงของคนวัยก่อนเกษียณ
  • นักผังเมืองและนักภูมิศาสตร์เมือง จากศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง หรือ UDDC ระบุว่า โดยเฉลี่ยแล้วคนกรุงเทพฯ ใช้จ่ายไปกับค่าเดินทางประมาณ 20% ของรายได้ นั่นหมายความว่าถ้าเรามีเงิน 100 บาท จะต้องเสียค่าเดินทางประมาณ 20 บาทในแต่ละเดือน ต่างจากเมืองที่พัฒนาแล้วที่คนใช้จ่ายเงินกับการเดินทางเพียง 10% ของรายได้เท่านั้น
  • The Money Coach แนะนำว่า การลดรายจ่ายเป็นเรื่องง่ายกว่าการหารายได้เพิ่ม เพราะการลดรายจ่ายเริ่มต้นได้ด้วยตัวเราเอง แต่การหารายได้เพิ่มเป็นการทำงานสร้างคุณค่าเพื่อจะดึงดูดเงินจากกระเป๋าสตางค์ของคนอื่น

     เคยรู้สึกไหม เมื่อสิ้นเดือนมาถึงเมื่อไร หัวใจมันมักจะเหี่ยวเฉาตามเงินในกระเป๋าสตางค์ที่ร่อยหรอ ยิ่งได้ยินข่าวว่าเงินเดือนจะออกช้ากว่าปกติ ยิ่งรู้สึกหดหู่อย่างบอกไม่ถูก

     เคยไหมที่ก้มหน้าก้มตาทำงานอยู่ดีๆ พอจะเดินไปกดเงินที่เอทีเอ็ม กลับพบตัวเลขในบัญชีที่ไม่ถึงหลักร้อย ทั้งๆ ที่ตอนนั้นกำลังหิวจนไส้กิ่ว

     ยังมีอีกหลากหลายสถานการณ์ที่มนุษย์เงินเดือนต้องพบเจอเมื่อเกิดอาการ ‘ชักหน้าไม่ถึงหลัง’ ก่อนเงินเดือนจะออกอีกครั้ง

     นั่นอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมคำถามเกี่ยวกับเงินเดือนในกระทู้พันทิปจึงมีมากมายจนตามอ่านแทบไม่ไหว แถมเมื่อมีคำถามเกิดขึ้นเมื่อไร ความคิดเห็นมากมายจะหลั่งไหลเข้ามาทุกครั้งไป

     ในฐานะมนุษย์เงินเดือนเช่นเดียวกับคนในเมืองกรุงอีกนับล้าน THE STANDARD จะมาไขคำตอบว่า ทำไมมนุษย์เงินเดือนหลายคนจึงมีเงินไม่พอใช้ แล้วจะทำอย่างไรให้เดือนหน้าดีกว่าเดือนที่ผ่านมา นี่อาจเป็นทางรอดเดียวที่เหลืออยู่ก่อนเงินเดือนเดือนถัดไปจะมาถึง

 

 

คนกรุงหมดเงินไปกับค่าอะไรบ้างในแต่ละเดือน

     ก่อนจะตอบคำถามว่ามนุษย์เงินเดือนในกรุงเทพฯ ต้องมีเงินเดือนเท่าไรจึงจะมีชีวิตรอดในแต่ละเดือน เรามาดูกันก่อนว่าในแต่ละเดือน ชาวกรุงเทพฯ ใช้จ่ายเงินไปกับค่าอะไรบ้าง

     จากผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในหัวข้อภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2559 พบว่า ครัวเรือนทั่วประเทศมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 21,144 บาท โดยค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ 36.1% เป็นค่าอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ รองลงมาคือค่าที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ภายในบ้าน 19.7% ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินทางและยานพาหนะ 17.4% ค่าของใช้ส่วนตัว เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า 5.2% ค่าใช้จ่ายด้านการสื่อสาร 3.4% การศึกษา 1.7% ค่ายาและค่ารักษาพยาบาล 1.4% ความบันเทิงและการจัดงานพิธี 1.2% และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับกิจกรรมทางศาสนา 1%

     เมื่อเจาะจงตัวเลขค่าใช้จ่ายเฉพาะของคนที่อาศัยในกรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ พบว่าคนในเมืองหลวงมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 32,091 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คนมีค่าใช้จ่ายมากที่สุด เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ

     ด้าน YouGov บริษัทสำรวจและวิจัยทางอินเทอร์เน็ต ได้จัดทำการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคในปี 2558 ในนามของ Visa ผู้ให้บริการด้านเครือข่ายและการชำระเงินเผยข้อมูลว่า คนไทยมีค่าใช้จ่ายปริศนา หรือค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถระบุได้ว่าใช้ไปกับสิ่งใดสูงถึง 72% ของรายจ่ายทั้งหมด

     ซึ่งจากการสำรวจยังพบว่า คนไทยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อสัปดาห์อยู่ที่ 1,588 บาท นั่นหมายความว่าค่าใช้จ่ายปริศนาที่ระบุไม่ได้ว่าจ่ายไปกับอะไรจะอยู่ที่ประมาณ 1,143 บาท ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าค่าใช้ดังกล่าวน่าจะมาจากค่าอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค ค่าขนมขบเคี้ยว หรือการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย

     เช่นเดียวกับ K-Expert ที่เคยทำการสำรวจค่าใช้จ่ายตามจริงของคนทำงานก่อนวัยเกษียณอายุระหว่าง 40-59 ปี ที่อาศัยในกรุงเทพฯ พบตัวเลขที่น่าสนใจว่า กลุ่มคนที่ไม่มีรถยนต์ส่วนตัวจะใช้จ่ายเงินไปกับค่ากินอยู่และค่าเสื้อผ้าประมาณ 6,783.5 บาท หรือคิดเป็น 27.6% ของรายจ่ายทั้งหมด ค่าใช้จ่ายเพื่อการอยู่อาศัย 9,159 บาท คิดเป็น 37.% ค่าใช้จ่ายเพื่อการพักผ่อนและความบันเทิง 3,600 บาท คิดเป็น 14.7% ค่าใช้จ่ายเพื่อสุขภาพ 3,294.833 บาท คิดเป็น 13.4% และค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางอีก 1,732 บาท คิดเป็น 7% รวมแต่ละเดือนจะใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 24,569.33 บาท

     ส่วนคนที่มีรถยนต์ส่วนตัวจะมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มขึ้นเป็น 11,800.167 บาท คิดเป็นสัดส่วน 34.1% ของรายจ่ายทั้งหมด และเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุดทันที

 

 

40-30-10-10-5-5 สูตรลับบริหารเงินของผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน

     จากผลสำรวจของ K-Expert เมื่อ 3 ปีที่แล้วที่เจาะกลุ่มคนวัยก่อนเกษียณ อายุระหว่าง 40-59 ปี ที่หากคาดคะเนดู พวกเขาน่าจะผ่านการทำงานมาหลายปี และมีรายได้มากพอที่จะอยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ได้อย่างสบายๆ แม้จะไม่สามารถใช้สะท้อนค่าใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ได้ทั้งหมด แต่ผลลัพธ์นี้กลับเป็นประโยชน์อย่างมากต่อมนุษย์เงินเดือนวัยอื่นๆ

     วีระพล บดีรัฐ รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล K-Expert ธนาคารกสิกรไทย ได้นำผลลัพธ์ดังกล่าวมาถอดรหัสจนกลายเป็นสูตรลับบริหารการเงินสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานใหม่ โดยจัดสรรค่าใช้จ่ายต่างๆ ออกเป็น 5 กลุ่ม และกำหนดสัดส่วนโควตาที่มนุษย์เงินเดือนทุกคนสามารถนำไปปรับใช้กับตัวเองได้ง่ายๆ ดังนี้

     ค่าอาหาร และค่าเสื้อผ้า 30%

     ค่าใช้จ่ายเพื่อการอยู่อาศัย 40%

     ค่าใช้จ่ายเพื่อการพักผ่อนและความบันเทิง 5%

     ค่าใช้จ่ายเพื่อสุขภาพ 5%

     ค่าเดินทาง 10%

     เก็บออม 10%

     นั่นหมายความว่า หากเด็กจบใหม่ที่ได้เงินเดือนเดือนแรกอยู่ที่ 15,000 บาท พวกเขาจะสามารถใช้จ่ายเป็นค่าอาหารและค่าเสื้อผ้าได้ไม่เกิน 4,500 บาทต่อเดือน จ่ายค่าเช่าห้อง รวมน้ำ ไฟ ค่าโทรศัพท์ และของใช้ภายในบ้านได้ไม่เกิน 6,000 บาทต่อเดือน สามารถกินข้าวนอกบ้าน ดูหนัง แฮงเอาต์กับเพื่อนฝูงได้ไม่เกิน 750 บาทต่อเดือน หากเจ็บป่วย ต้องการซื้อยา หรือหาหมอก็ต้องไม่เกิน 750 บาทต่อเดือน หมดเงินกับค่ารถในการเดินทางไปทำงานได้ไม่เกิน 1,500 บาทต่อเดือน และที่เหลือควรเก็บออมไว้ใช้ยามฉุกเฉิน

     วีระพลให้ความเห็นว่า เอาเข้าจริงคงตอบไม่ได้ชัดๆ ว่าเงินเดือนเท่าไรถึงจะพอใช้ในกรุงเทพฯ แต่ถ้ามองเป็นเปอร์เซ็นต์แบบนี้ก็น่าจะเริ่มตอบตัวเองได้ว่าควรจะใช้เงินที่มีอยู่จำกัดอย่างไร หากคิดว่าแบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ตามที่ให้ไว้แล้วไม่พอใช้แน่ๆ เมื่อเทียบกับรายได้ที่จะได้รับ การอยู่อาศัยในกรุงเทพฯ อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีสำหรับคนเพิ่งเริ่มต้นทำงานใหม่ๆ แต่ควรสั่งสมประสบการณ์จากเมืองรอบนอก ก่อนจะขยับเข้ามาในเมืองเมื่อมีประสบการณ์ และมีคนพร้อมจะจ่ายเงินเดือนให้เรามากขึ้น

     “เรากำลังคุยกันแบบนักวางแผนการเงินที่ไม่ได้ปล่อยให้ความอยากมันดูดเงินเราไปเรื่อยๆ เพราะในชีวิตจริง คนเมืองหรือคนทำงานที่มีรายได้ประจำจะมีความสะดวกในการใช้เงินมากกว่าคนที่เป็นฟรีแลนซ์หรือเจ้าของกิจการ หลายคนมีบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล แปลว่าถ้าอยากเที่ยวต่างประเทศในงบ 50,000 บาท ก็สามารถเที่ยวได้ในวันนี้เลย ทั้งๆ ที่ยังมีเงินเดือนแค่ 15,000-20,000 บาท แล้วค่อยมาผ่อนใช้คืนทีหลัง

     “ฉะนั้นลองจินตนาการดูว่า ถ้ากันเงินไว้ใช้ตามสัดส่วนที่บอกแล้วยังต้องจ่ายค่าบัตรเครดิตอีกเดือนละ 4-5 พัน มันจะเกิดอะไรขึ้น เพราะฉะนั้นกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย ยังบริหารจัดการเงินได้ไม่ดี สินเชื่อเพื่อการบริโภคและบัตรเครดิตควรจะมีเอาไว้ใช้สำหรับรายการที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น เช่น เจ็บป่วยแล้วเงินสำรองไม่พอจริงๆ ถึงจะใช้ได้”

     ซึ่งสัดส่วนทั้งหมดของค่าใช้จ่ายนี้ยังไม่นับรวมการซื้อของฟุ่มเฟือย การเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือ หรือแม้แต่การไปท่องเที่ยวต่างประเทศหรือต่างจังหวัด ที่วีระพลแนะนำว่าสามารถใช้จ่ายกับสิ่งเหล่านี้ได้จากสัดส่วนเงินออม 10% ที่สำรองไว้ หรือสามารถออมเพิ่มได้โดยลดรายจ่ายด้านอื่นๆ ให้น้อยลงในเดือนนั้นๆ

     “การอยู่ในกรุงเทพฯ โดยไม่วางแผนว่าเราควรใช้เงินเท่าไร อยู่ยังไงก็ไม่พอ แล้วสุดท้ายปัญหาที่ตามมาคือ พอแก่ตัวลงแล้วเราจะหยุดทำงานไม่ได้ เพราะไม่มีเงินสำหรับใช้ในวัยเกษียณ ต้องทำงานต่อแม้จะเลยวัย 60 ไปแล้ว เพราะฉะนั้นคนที่ออมเงินไม่พอ บริหารเงินไม่ดีในวันนี้ เมื่อแก่ตัวลงก็จะออกจากกรุงเทพฯ ไปใช้ชีวิตสบายๆ ที่ต่างจังหวัดไม่ได้ เพราะต้องหางานทำต่อ ซึ่งมันเป็นวังวนที่น่ากลัว”

     นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญจาก K-Expert ยังแนะนำว่า ไม่จำเป็นต้องเชื่อตามสูตรนี้ทั้งหมด เพราะหนทางการบริหารจัดการเงินที่ดีที่สุดคือการจดบันทึกค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันด้วยตัวเอง จากนั้นค่อยนำมาถอดเป็นเปอร์เซ็นต์การใช้จ่ายที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด

     “สิ่งสำคัญสำหรับคนที่อยากจะควบคุมการใช้จ่ายเงินของตัวเองคือการจด เมื่อจดแล้วจะตอบตัวเองได้ว่าเราควรวางแผนการใช้จ่ายของเราเองอย่างไร แต่ถ้าเริ่มต้นจากการมีรายได้เท่านี้ ต่อไปเงินเดือนขึ้น แล้วเราขยับคุณภาพชีวิตขึ้นมาโดยไม่ได้วางแผน แทนที่จะกินไม่ต่างจากเดิม กลับใช้ชีวิตหรูมากกว่าเดิม จากนั่งรถเมล์ พอเงินเดือนขึ้นนิดหน่อยก็ซื้อรถยนต์ แบบนี้อาจจะทำให้เราบริหารเงินผิดพลาด เพราะไม่เคยรู้ว่าตัวเองใช้จริงๆ เท่าไร”

 

 

ค่าเดินทาง ภาระสูงลิ่วของมนุษย์เงินเดือนกรุงเทพฯ

     ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานและกลับบ้านในแต่ละวันถือเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นที่มนุษย์เงินเดือนยากจะหลีกเลี่ยงได้ ยกเว้นมีที่พักใกล้ๆ กับที่ทำงานจนสามารถเดินหรือขี่จักรยานไปทำงานได้ ซึ่งถ้าให้เลือกตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปบ้าง ค่าเดินทางอาจเป็นตัวเลือกท้ายๆ ที่มนุษย์เงินเดือนจะนึกถึง

     ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า คนไทยใช้จ่ายเงินไปกับค่าเดินทางคิดเป็น 17.4% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่นั่นเป็นตัวเลขของคนทั่วประเทศ ซึ่งหากเจาะเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล เราอาจต้องจ่ายค่าเดินทางมากกว่าที่คิดไว้

     อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ นักผังเมืองและนักภูมิศาสตร์เมือง ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง หรือ UDDC ระบุว่า โดยเฉลี่ยแล้วคนกรุงเทพฯ ใช้จ่ายไปกับค่าเดินทางประมาณ 20% ของรายได้ นั่นหมายความว่าถ้าเรามีเงิน 100 บาท จะต้องเสียค่าเดินทางประมาณ 20 บาทในแต่ละเดือน ซึ่งอาจจะจ่ายน้อยกว่านี้ได้ แต่ก็ต้องแลกมากับการใช้ระยะเวลาในการเดินทางที่ยาวนานขึ้น กลายเป็นค่าเสียโอกาสที่อาจจะมากกว่าตัวเลข 20% ที่ว่าด้วยซ้ำ

     ขณะที่ถ้าเทียบกับเมืองอื่นๆ ที่มีระบบขนส่งสาธารณะที่ดี มีการจัดสรรฟังก์ชันของเมืองอย่างลงตัว คนที่อยู่อาศัยในเมืองเหล่านั้นจะใช้จ่ายเงินกับการเดินทางเพียง 10% ของรายได้เท่านั้น ซึ่งเงินที่เหลือสามารถนำไปลงทุนหรือทำอย่างอื่นเพื่อให้ตัวเองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

     “เมืองที่ดีควรจะรับผิดชอบค่าเดินทางให้กับประชากรที่อยู่ในเมือง ความจริงมันเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของคนในพื้นที่เมือง แต่เราเคยชิน คิดว่าเป็นความจำเป็นที่เราต้องจ่าย ทั้งที่ในความเป็นจริงเราไม่จำเป็นต้องจ่ายเยอะขนาดนี้ถ้าเราอยู่ในเมืองที่ดี นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมคนในชนบทที่เงินเดือนน้อยกว่าคนในเมืองถึงสามารถอยู่ได้แบบสบายๆ มีเงินเหลือเก็บมากกว่า แต่พอมาอยู่ในเมืองกลับมีภาวะเสี่ยงที่จะเป็นหนี้มากกว่า

     “ดังนั้นในอนาคต เมืองขนาดใหญ่จะไม่ใช่ทางเลือกที่ปลอดภัยสำหรับเด็กจบใหม่ที่จะมาเป็นมนุษย์เงินเดือนอีกต่อไป โจทย์ของเด็กรุ่นใหม่อาจจะต้องหาทางเลือกในการอยู่อาศัยในเมืองอื่นๆ กันมากขึ้น เมืองที่สามารถเดินทางในระยะทางสั้นๆ ไม่แพง และไม่เสียเวลาขนาดนี้”

 

 

     อดิศักดิ์ให้ความเห็นว่า จริงๆ แล้วระบบขนส่งมวลชนหลักๆ ในกรุงเทพฯ ถือว่ามีแนวโน้มดีขึ้นจากการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายต่างๆ ให้ครอบคลุมมากขึ้น แต่สิ่งที่ยังขาดคือระบบ feeder ที่จะขนย้ายคนจากหน้าประตูบ้านไปสู่ระบบขนส่งมวลชนหลักๆ ซึ่งตัวเลือกที่ดีที่สุดตอนนี้กลับกลายเป็นวินมอเตอร์ไซค์ที่ต้องแลกมาด้วยราคาที่อาจจะสูงกว่าค่ารถไฟฟ้า ทั้งๆ ที่เดินทางในระยะทางที่สั้นกว่า

     “ทางออกที่ดีที่สุดตอนนี้คือเราต้องปรับที่ตัวเอง โดยบริหารจัดการเวลาให้ลงตัวเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด เช่น อาจจะต้องตื่นเช้าขึ้น หรือเดินทางในเวลาที่ไม่ตรงกับคนอื่น เพราะระบบโครงสร้างของเราไม่เอื้อเท่าไร และดูจะมีจุดอ่อนเยอะเกินไป

     “คนมักจะคิดว่าเวลาที่คุณทำงานในเมืองหรือในย่านเศรษฐกิจ แสดงว่าชีวิตคุณจะดี เพราะน่าจะได้เงินเดือนสูง แต่กลับไม่ได้โฟกัสกันในเรื่องรายจ่าย โดยเฉพาะค่าเดินทางที่ต้องเสียไปมากกว่าคนอื่น คุณภาพชีวิตก็แย่กว่า ต่อไปถ้าจะเลือกงาน คงเลือกที่เงินเดือนอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องเลือกสถานที่ทำงานให้สอดคล้องกับระดับรายได้ที่ได้รับจริงๆ ในแต่ละเดือนด้วย” อดิศักดิ์ทิ้งท้าย

 

 

จิตแข็ง ตั้งเป้าหมาย ลดรายจ่าย หารายได้เพิ่ม ทางรอดของมนุษย์เงินเดือนกรุงเทพฯ

     ในฐานะที่เคยให้คำปรึกษาด้านการเงินกับคนจำนวนมาก จักรพงษ์ เมษพันธุ์ หรือ The Money Coach แชร์ประสบการณ์ที่เคยพบเจอมาว่า รายได้ขั้นต่ำ 15,000 บาทต่อเดือน ยังคงเป็นตัวเลขที่คนมากมายใช้ชีวิตอยู่ได้จริงในกรุงเทพฯ

     แต่มีข้อแม้ว่าคนที่จะอยู่รอดได้ด้วยเงิน 15,000 บาทต้องไม่มีภาระก้อนใหญ่ๆ อย่างเช่น ค่าผ่อนรถ ค่าผ่อนบ้าน หรือไม่ต้องส่งเงินให้คนในครอบครัวที่ต่างจังหวัด ซึ่งหากมีภาระต่างๆ เหล่านี้เข้ามารบกวน การใช้จ่ายเงินของคนที่เริ่มต้นทำงานใหม่ก็จะเริ่มผิดเพี้ยนและหาทางแก้ลำบากในอนาคต

     “เท่าที่ดู หนี้ตัวใหญ่ที่มักจะทำให้คนมีปัญหาเรื่องการเงินคือหนี้ 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือค่าผ่อนรถ และค่าผ่อนบ้าน บางทีเงินเดือน 20,000 นิดๆ พอมีรถยนต์หรือซื้อบ้าน ก็ต้องผ่อนเกือบ 10,000 บาทต่อเดือน ทำให้การใช้ชีวิตผิดเพี้ยนไปหมด แล้วมนุษย์เงินเดือนก็ไม่ได้เงินเต็มๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนกับที่เราคิดไว้ เช่น บอกว่าเงินเดือน 25,000 บาท แต่ในความเป็นจริงจะต้องถูกหักค่าประกันสังคม ภาษี หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปอีก สุดท้ายเหลือประมาณ 23,000 บาท ก็จะทำให้การกินอยู่ผิดเพี้ยนไปจากที่ตั้งไว้ พอมีรถก็ต้องเปลี่ยนที่พักให้มีที่จอดรถ จากเคยอยู่อพาร์ตเมนต์เดือนละ 3,000 พอมีรถก็ต้องอยู่ในที่ที่แพงขึ้น ทำให้เกิดปัญหาทางการเงินตามมา”

     ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้มนุษย์เงินเดือนสามารถใช้ชีวิตอยู่รอดได้ในเมืองกรุงคือต้องมีจิตใจที่แข็งแกร่ง มีวินัยทางการเงิน และมีเป้าหมายที่ชัดเจนในชีวิต

     “ผมเคยยกตัวอย่าง รปภ. คนหนึ่งที่อาศัยอยู่ที่ระยอง ซึ่งค่าครองชีพก็สูงไม่แพ้กรุงเทพฯ แต่เขาสามารถมีเงินเก็บเป็นล้าน แถมยังเอาไปลงทุนสร้างรายได้ให้ตัวเองเพิ่มขึ้นอีก

     “สิ่งที่ผมสังเกตเห็นคือ คนที่ทำได้แบบนี้คือกลุ่มคนที่มีเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจน ซึ่งวินัยจะเกิดขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อเขารู้ว่าเขามาทำงานที่นี่ กินอยู่ใช้จ่ายเพื่ออะไร อย่าง รปภ. คนนี้ เป้าหมายของเขาคือต้องการจะอยู่ที่ระยองประมาณ 10-15 ปี เก็บหอมรอมริบเพื่อที่จะกลับบ้าน คนที่มีเป้าหมายทางการเงินชัดเจนจึงเป็นคนที่ไม่ได้ใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ แต่รู้ว่าทำงานไปเพื่ออะไร และถ้าอยากได้สิ่งที่อยู่ปลายทาง เขาควรต้องทำอะไรบ้างเพื่อไปให้ถึง คนกลุ่มนี้จะมีวินัยทางการเงินที่สูงมาก”

     แต่แค่เป้าหมายทางการเงินอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะภายใต้สภาพแวดล้อมและโฆษณาต่างๆ ที่ยั่วยุให้เราอยากจะใช้จ่ายอยู่ตลอดเวลา การจะควบคุมจิตใจไม่ให้ใช้จ่ายเพื่อตอบสนองความอยากอาจเป็นเรื่องยากเกินกว่าที่มนุษย์เงินเดือนจะต่อสู้อยู่เพียงลำพัง ดังนั้นต้องอาศัยเครื่องมือที่จะมาช่วยให้เป้าหมายในฝันเป็นไปได้จริงง่ายยิ่งขึ้น

     “มนุษย์ชอบคิดว่าตัวเองมีเหตุมีผล ควบคุมตัวเองได้ แต่ความจริงแล้วเรามักจะมีปัญหาเรื่องการควบคุมตัวเอง ดังนั้นผมจึงมักจะแนะนำว่าอย่าเชื่อมือตัวเองมากนัก โดยเฉพาะเรื่องเงิน ถ้าเป็นไปได้ให้ตัดออมไปตั้งแต่แรกเลย วิธีการคือรับเงินเดือนจากที่ไหน ให้เปิดบัญชีแยกไว้ หรือจะซื้อกองทุนรวมของธนาคารไหนก็ได้ แล้วให้เขาตัดเงินไปสะสมไว้ในวันที่เงินเดือนออก ภายใต้หลักคิดคือ เงินที่เราไม่เห็นคือเงินที่เราไม่ได้ใช้ เป็นแนวคิดเดียวกันกับที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพทำกับเรา แม้แต่มันนี่โค้ชเองก็ยังต้องหักเงินก่อนใช้จ่ายเหมือนกัน

     “เพราะฉะนั้นวินัยมันต้องบวกด้วยเครื่องมือที่ช่วยให้เราจัดการตัวเองได้อย่างรู้เท่าทัน ใครที่บอกว่าฉันควบคุมตัวเองได้ ลองมาเช็กตัวเองดูซิว่าผ่านมากี่ปีแล้ว ได้ออมจริงๆ บ้างไหม ถ้าไม่ได้ออมเลยก็ให้รู้เท่าทันตัวเองว่าเราเป็นคนแบบนี้ แล้วพยายามใช้เครื่องมือต่างๆ มาช่วยฝึกวินัยทางการเงินที่จะทำให้เราดูแลตัวเองได้ดีขึ้น”

     นอกจากนี้มันนี่โค้ชยังแนะนำว่า การลดรายจ่ายเป็นเรื่องง่ายกว่าการหารายได้เพิ่ม เพราะการลดรายจ่ายเริ่มต้นได้ด้วยตัวเราเอง แต่การหารายได้เพิ่มเป็นการทำงานสร้างคุณค่าเพื่อจะดึงดูดเงินจากกระเป๋าสตางค์ของคนอื่น

     “คนที่คิดว่าวันนี้เงินไม่พอใช้ แต่ไม่เป็นไร เดี๋ยวหาเงินเพิ่มให้มากขึ้นแล้วก็จะรวยเอง คนแบบนี้ได้มาเท่าไรก็จะใช้ไม่เคยพอ เปรียบเหมือนคนที่ตักน้ำด้วยถังที่รั่ว ต่อให้เปลี่ยนไปใช้ถังใหญ่ขึ้น จุน้ำได้มากขึ้น คุณตักน้ำใส่ไปเท่าไรมันก็รั่วออกหมด รอยรั่วของถังก็คือนิสัยทางการเงิน ถ้าเราไม่เปลี่ยนที่นิสัยก็ไม่มีทางใช้เงินพอ

     “ดังนั้นการจะมั่งคั่งร่ำรวยได้ต้องเกิดจากนิสัยพื้นฐาน คือการบริหารเงินเท่าที่มีให้ได้ก่อน ถ้าคิดว่ามันกระเบียดกระเสียรจริงๆ ค่อยหารายได้เพิ่ม ไม่ใช่พอบอกว่าไม่พอใช้ แต่เมื่อมาดูในรายละเอียดกลับพบว่าที่ไม่พอเพราะใช้จ่ายเงินเกินตัว ต้องเริ่มปรับที่ตรงนี้ก่อน ทำถังน้ำของเราไม่ให้รั่วก่อน เมื่อถังไม่รั่ว ตักยังไงก็มีวันเต็ม”

     สุดท้าย คำถามที่มนุษย์เงินเดือนควรสงสัยอาจไม่ใช่แค่ ‘ต้องมีเงินเดือนเท่าไรถึงจะพอใช้?’ แต่ต้องเปลี่ยนเป็น ‘จะใช้ชีวิตอย่างไรกับเงินที่มีอยู่อย่างจำกัด?’ เพราะคำตอบที่ได้อาจเป็นทางรอดที่ดีที่สุดที่จะรับมือกับภาวะคับขันตอนสิ้นเดือนครั้งถัดไป

 

Photo: AFP

ภาพประกอบ: Karin Foxx

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X