×

ตรวจการบ้าน 1 ปี ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ดูแลกรุงเทพฯ ‘9 ด้าน 9 ดี’ ก้าวไปแค่ไหน?

15.06.2023
  • LOADING...
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2566 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหาร แถลงผลงานเนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปีของการเข้ารับตำแหน่งดูแล จัดการ บริหารกรุงเทพมหานคร

 

โดยใช้เวลาบรรยายทั้งสิ้น 1 ชั่วโมง 17 นาที ผ่านสไลด์นำเสนอ 280 หน้า ด้วยผู้บรรยาย 5 คน ทีมข่าว THE STANDARD ได้สรุปรายละเอียดผลงานทั้งหมดแบ่งเป็น 9 ด้าน ตามนโยบาย ‘9 ด้าน 9 ดี’ ดังนี้

 

1. ปลอดภัยดี

 

กรุงเทพมหานครสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลโคมไฟ 7,066 เส้นทาง 146,000 ดวง พบไฟที่ต้องซ่อม 28,266 ดวง ทำการแก้ไขแล้ว 28,000 ดวง (ข้อมูลวันที่ 31 พฤษภาคม 2566) มีการเปลี่ยนเป็นหลอด LED พร้อมติดตั้งระบบติดตามสถานะหลอดไฟแล้ว 11,400 ดวง

 

ประชาชนขอดูภาพจากกล้อง CCTV ทำได้ผ่าน 2 ช่องทางคือ cctv.bangkok.go.th และ LINE @CCTVBANGKOK โดยเจ้าหน้าที่จะแจ้งผลการขอไฟล์ภาพภายใน 24 ชั่วโมง และสามารถรับไฟล์ภาพผ่านออนไลน์ ทั้งนี้ กทม. ได้ติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มอีก 160 ตัว รวมที่มีอยู่เดิมเป็น 60,972 ตัว

 

ที่ผ่านมา กทม. ได้เชิญผู้แทนสมาคมป้ายและโฆษณามาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานความสว่างของป้ายโฆษณา ได้สาระสำคัญว่า ช่วงเวลาตั้งแต่ 06.01-18.00 น. ความสว่างไม่เกิน 5,000 แคนเดลาต่อตารางเมตร ช่วงเวลาตั้งแต่ 18.01-06.00 น. ความสว่างไม่เกิน 500 แคนเดลาต่อตารางเมตร (เทียบเท่าความสว่างจากโทรทัศน์ในครัวเรือน) ขณะนี้ กทม. กำลังจัดร่างข้อบัญญัติเสนอสภากรุงเทพมหานคร

 

ใช้ข้อมูลอาชญากรรมกำหนดพิกัดอันตรายรอบกรุงเทพมหานครทั้งหมด 309 จุด ปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย มีการซ่อมแซมไฟฟ้าส่องสว่าง 143 จุด ติดป้ายประชาสัมพันธ์ 168 จุด ทำความสะอาดพื้นที่ 54 จุด ตัดต้นไม้ที่รกทึบ 27 จุด ส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจ 2 ครั้งต่อวันต่อจุด

 

ระบบอาคารสาธารณะ กทม. มีอาคาร 9 ประเภท คิดเป็น 11,500 อาคาร มีการตรวจสอบอาคารเก่า 3,000 อาคาร ออกใบรับรอง ร.1 (ใบรับรองการตรวจสอบอาคาร) ต่อปี และสุ่มตรวจ 10% ของอาคารที่ออกใบรับรองในแต่ละปี และมีการนำแบบแปลนอาคารเข้าสู่ระบบปี 2565 ทั้งหมด 5,000 อาคาร

 

ทางข้ามตามถนนทาสีขาวให้ชัดเจนดำเนินการแล้ว 378 ทาง จาก 500 ทาง ทาสีทางข้ามสีแดงดำเนินการแล้ว 156 ทาง จาก 210 ทาง ติดตั้งสัญญาณไฟจราจรทางข้ามเสร็จแล้ว 52 เสา ติดตั้งสัญญาณไฟกะพริบเตือนทางข้ามดำเนินการเสร็จแล้ว 50 ป้าย

 

กำหนดหน่วยงานรับผิดชอบโครงสร้างพื้นฐานให้ชัดเจน โดยสำนักการโยธารับผิดชอบดูแลสะพานข้ามแยก ทางเท้า สะพานข้ามคลอง สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักงานเขตดูแลสวนสาธารณะ สำนักระบายน้ำดูแลทางเดินริมคลอง ระบบระบายน้ำ คลอง สำนักจราจรและขนส่งดูแลทางม้าลาย ป้ายจราจร สำนักงานเขตดูแลระบบระบายน้ำ ถนน และไฟซอย 

 

ปัญหาสายไฟและสายสื่อสารที่รกรุงรัง จากการสำรวจพบว่ามากกว่า 50% เป็นสายสื่อสารเก่าที่ไม่ใช้แล้ว ในส่วนโครงการนำสายสื่อสารลงดินมีการยุติการดำเนินการเนื่องด้วยต้นทุนที่สูง ไม่มีงบประมาณ ไม่มีอำนาจบังคับใช้ และเอกชนจะต้องมีต้นทุนสูงขึ้น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดำเนินการจัดระเบียบสายไฟแล้วเสร็จ 30 กิโลเมตร อีก 759.24 กิโลเมตรอยู่ในแผนปี 2566-2570 ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำแผนของ กสทช.

 

สะพานลอยที่ กทม. สำรวจ 703 สะพานพบว่าใช้งานได้ดี 635 สะพาน พอใช้งานได้ 47 สะพานจะต้องมีการตรวจสอบเป็นประจำทุกปี สะพานลอยที่ควรมีการปรับปรุง 18 สะพาน 5 สะพานแก้ไขแล้วเสร็จ 10 สะพานกำลังแก้ไข 3 สะพานกำลังประสานเจ้าของ 

 

การสนับสนุนการใช้ชีวิตและเศรษฐกิจกลางคืน มีการตรวจสถานประกอบการสถานบันเทิง 300 ครั้งก่อนเทศกาลสำคัญ จัดรถเทศกิจรับส่งจุดเสี่ยง ช่วงเวลา 21.00-02.00 น.

 

เขตที่อยู่อาศัยหนาแน่น ปัจจุบันมีประปาหัวแดง 23,871 จุด จะมีการติดตั้งประปาหัวแดงเพิ่ม 258 จุดในปีนี้ รวมทั้งมีการจัดหาถังดับเพลิงแบบหิ้ว 42 เขต รวม 9,979 ถัง ตั้งเป้าการฝึกอบรมสาธารณภัย 6 หลักสูตร 2,100 ราย ประกอบด้วย อาสาสมัคร 1,350 ราย ตำรวจ 150 ราย เจ้าหน้าที่เขต 150 ราย และเจ้าหน้าที่สำนักป้องกัน 450 ราย มี 43 สำนักงานเขตจัดทำแผนซ้อมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแล้ว 410 ชุมชน ดำเนินการซ้อมเผชิญเหตุแล้ว ตลอด 1 ปีที่ผ่านมามีการออกรถครัวสนามในพื้นที่ประสบสาธารณภัย 47 ครั้ง ผลิตอาหารทั้งหมด 15,770 กล่อง

 

2. โปร่งใสดี

 

ประชาชนรายงานปัญหาผ่านแพลตฟอร์ม Traffy Fondue แก้ปัญหาเสร็จสิ้น 217,930 เรื่อง จากการแจ้งปัญหา 301,649 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการ 9,327 เรื่อง (ข้อมูลวันที่ 11 มิถุนายน 2566) ความพึงพอใจในการแก้ไขปัญหา 3.84 คะแนน

 

ประเด็นการทุจริตในองค์กรสามารถแจ้งผ่าน Traffy Fondue, War Room และ ทำหนังสือตรงถึงผู้ว่าฯ กทม. มีเรื่องร้องเรียนรวม 132 เรื่อง 30% เป็นเรื่องเรียกรับผลประโยชน์ เรื่องที่มีมูลประสานดำเนินการแล้ว 5 เรื่อง 

 

ประชาชนสามารถดำเนินการขอใบอนุญาตผ่านช่องทางออนไลน์ได้ 109 ฟอร์ม เช่น การขออนุญาตก่อสร้างอาคารขนาดเล็ก ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้ายอาคาร และขึ้นทะเบียนระบบเงินช่วยเหลือ

 

เว็บไซต์ data.bangkok.go.th เปิดเผยข้อมูลสำคัญให้เข้าถึงได้ 721 ข้อมูล และดูสรุปข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างที่สำคัญผ่าน egp.bangkok.go.th  

 

3. เศรษฐกิจดี

 

กทม. มีการจ้างงานคนพิการแล้ว 489 คน ตั้งเป้ารับ 660 คน คิดเป็น 1% ของข้าราชการและลูกจ้างทั้งหมด

 

จัดทำฐานข้อมูลผู้ค้า 19,414 ราย มีผู้ค้าในพื้นที่จุดผ่อนผัน 55 แห่ง 3,817 ราย อยู่นอกจุดผ่อนผัน 15,597 ราย สามารถประสานพื้นที่เอกชน 39 แห่งเพื่อขยับผู้ค้าประมาณ 2,841 รายออกจากพื้นที่สาธารณะ

 

ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2565 มีการจัดตลาดนัดชุมชนรวม 103 แห่ง มีผู้ค้า 1,543 ราย ตลาดนัดเขตรวม 85 แห่ง มีผู้ค้า 1,731 ราย ถนนคนเดิน 26 เขต และตลาดนัดเกษตรกรรวม 50 แห่ง 

 

12 เทศกาลตลอดปีทั่วกรุงเทพฯ เดือนมิถุนายน 2565 Bangkok Pride Month, เดือนกรกฎาคม 2565 กรุงเทพกลางแปลง, สิงหาคม 2565 บางกอกวิทยา, เดือนกันยายน 2565 BKK เรนเจอร์, เดือนตุลาคม 2565 กีฬากรุงเทพฯ, เดือนพฤศจิกายน 2565 – มกราคม 2566 Colorful Bangkok, เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ออกแบบดี กรุงเทพฯ ดี, เดือนมีนาคม 2566 บางกอกวิทยา, เดือนเมษายน 2566 สงกรานต์กรุงเทพฯ 66, เดือนพฤษภาคม 2566 Food Fest, เดือนมิถุนายน 2566 Bangkok Rride

 

4. เดินทางดี

 

ตั้งเป้าพัฒนาทางเท้าคุณภาพ 1,000 กิโลเมตร ทางตัดผ่านเรียบเสมอทางเท้า คอนกรีตเสริมเหล็ก ลดความสูงทางเท้าเหลือ 10 เซนติเมตร ทุกถนนในซอยมีทางเดินปั่นสะดวกเชื่อมขนส่ง ถนนเลียบคลองเปรมประชากรตั้งแต่ถนนเทศบาลสงเคราะห์ถึงถนนรัชดาภิเษกระยะทาง 1.8 กิโลเมตร ก่อสร้างทางเดินแล้วเสร็จ คลองโอ่งอ่างและคลองบางลำพูช่วงสะพานดำรงสถิตถึงป้อมพระสุเมรุดำเนินการก่อสร้างแล้ว 74%

 

ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 จับกุมมอเตอร์ไซค์บนทางเท้า 7,893 ราย ตักเตือน 150 ราย ปรับ 7,743 ราย เป็นเงิน 9,782,200 ราย

 

จัดการจราจรด้วยระบบอัจฉริยะ (ITMS) ระยะสั้นเก็บข้อมูลจราจรวันธรรมดา วันหยุด ประสานตำรวจปรับตั้งให้สอดคล้องกับข้อมูล ระยะยาวทดลองเทคโนโลยีข้อมูลจราจรแบบเรียลไทม์ ส่วนเทศกิจผู้ช่วยจราจรผ่านอบรมแล้ว 806 นาย จัดการจุดฝืดบนถนน 266 จุด ใช้ CCTV กวดขันวินัยจราจรและฝ่าฝืนสัญญาณไฟทางม้าลาย 20 แห่ง

 

คืนพื้นผิวจราจรการก่อสร้างเพื่อการจราจรที่คล่องตัว ส่วนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มคืนพื้นที่เกือบ 100% และรถไฟฟ้าสายสีเหลืองถนนศรีนครินทร์คืนพื้นที่แล้วประมาณ 81%

 

เพิ่มรถเมล์สายหลักและรองราคาถูกราคาเดียว แบ่งเป็น 4 เส้นทาง บีทีเอสสนามเป้า-กทม. (ดินแดง) 635 คนต่อวัน, APL ลาดกระบัง-เคหะร่มเกล้า 868 คนต่อวัน, MRT บางขุนนนท์-4 ตลาดน้ำ 1,353 คนต่อวัน (วิ่งเฉพาะวันหยุด) 10 ร.ร.เขตดุสิต-ฝั่งธนบุรี ถนนสิรินธร 265 คนต่อวัน (เช้า-เย็น วันราชการ)

 

แก้ไขจุดเสี่ยงน้ำท่วม 737 จุด แบ่งเป็นท่วมจากน้ำฝนแก้ไขถาวร 90 จุด ท่วมจากน้ำหนุนแก้ไขถาวร 29 จุด สำรวจพื้นที่ในกรุงเทพฯ พวกพื้นที่ต่ำทั้งหมด 183 จุด มีถนนสายหลัก 31 จุด 6 จุดแก้ไขแล้ว 

 

การขุดลอกและทำความสะอาดท่อระบายน้ำจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2566 ระยะทาง 7,115.4 กิโลเมตร เพิ่มการขุดลอกคลองรองรับฝนตกจะแล้วเสร็จเดือนมิถุนายน 2566 ระยะทาง 2,948 กิโลเมตร ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีพื้นที่รับน้ำ 13,697,205 ลูกบาศก์เมตร ยังต้องหาพื้นที่รับน้ำอีก 8,600,000 ลูกบาศก์เมตร เริ่มทบทวนแผนการก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์แก้ปัญหาน้ำท่วม

 

5. สิ่งแวดล้อมดี

 

ปัจจุบันมีการปลูกต้นไม้แล้ว 408,922 ต้น อยู่ระหว่างอบรมรุกขกรดูแลต้นไม้ประจำเขต 126 คน สวนสาธารณะปัจจุบันมี 203 แห่ง ตั้งเป้า 500 แห่ง สวนใหม่ที่ดำเนินการสร้างแล้ว 131 แห่ง เสร็จแล้ว 28 แห่ง มองหาพื้นที่สร้างสวนใหม่อีก 166 แห่ง

 

เพิ่มเวลาเปิด-ปิดสวน 7 สวน มีผู้ใช้บริการมากขึ้น 10,000 ครั้งต่อเดือน เพิ่มม้านั่งในสวนสาธารณะ 41 สวน รวม 650 ตัว เพิ่ม Dog Park 4 แห่ง Pet Park 1 แห่ง มีสัตว์มาใช้งานเดือนละมากกว่า 4,500 ครั้ง

 

ถนนสวย 50 เขตอยู่ระหว่างดำเนินการ 14 เขต 13 สายทาง ความยาวรวม 34 กิโลเมตร

 

ตรวจจับฝุ่นละอองขนาดเล็กจากควันดำรถยนต์ 69,024 คัน รถโดยสาร 14,848 คัน รถบรรทุก 47,665 คัน สถานประกอบการ โรงงาน 6,623 ครั้ง แพลนต์ปูน 870 ครั้ง ไซต์ก่อสร้าง 1,703 ครั้ง ถมดิน 95 ครั้ง

 

ระบบการติดตามแจ้งเตือนฝุ่น กทม. มีเครื่องตรวจวัดฝุ่น PM2.5 แบบมาตรฐาน 70 สถานี ระบบเซ็นเซอร์รวม 65 จุด นำเข้าข้อมูลติดตามฝุ่น 622 จุด สามารถพยากรณ์แจ้งเตือนฝุ่น PM2.5 ได้แม่นยำมากขึ้นล่วงหน้า 3 วัน

 

แนวโน้มปริมาณขยะลดลง 300-700 ตันต่อวัน มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ ‘ไม่เทรวม’ 930 ราย แยกขยะเศษอาหารได้เฉลี่ย 1,650 ตันต่อเดือน เดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 2566 ประหยัดเงินค่าจัดการขยะได้ 85 ล้านบาท ติดตั้งกรงตาข่ายทิ้งขยะ 99 จุด 152 คอก ขยะรีไซเคิลที่จัดเก็บได้ สามารถผลิตชุดพนักงานกวาดสะท้อนแสงได้แล้ว 840 ชุด

 

กวดขันจับ/ปรับ การทิ้งขยะลงแหล่งน้ำ 39 คลอง 237 ครั้งต่อเดือน ปี 2565 ปรับ 205 รายเป็นเงิน 506,500 บาท ปี 2566 ปรับ 52 รายเป็นเงิน 196,500 บาท

 

6. สุขภาพดี

 

เปิดคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย 22 แห่ง ให้บริการแล้วมากกว่า 5,900 ครั้ง เช่น ปรึกษาสุขภาพจิต ปรึกษาปัญหาขอรับฮอร์โมน ปรึกษาการทำงานของไตและตับอักเสบ ปรึกษาศัลยกรรมความผิดปกติหลังผ่าตัด

 

เพิ่มจุดฉีดวัคซีนโควิด-19 ในโรงพยาบาล กทม. และศูนย์บริการสาธารณสุข 81 แห่ง ห้างสรรพสินค้า 7 แห่ง มีผู้ใช้บริการมากกว่า 296,000 ราย สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 4,943 เตียง

 

ชมรมผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 32 ชมรม รวมเป็น 254 ชมรม สมาชิกเพิ่มขึ้น 1,292 คน รวมเป็น 17,112 คน

 

รถตรวจสุขภาพ Mobile Medical Unit ตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 ให้บริการประชาชนไปแล้วมากกว่า 1,300 ครั้ง ปัจจุบันโรงพยาบาลใน กทม. รองรับผู้ป่วยได้ 2,634 เตียง คาดว่าในปี 2569 จะรองรับผู้ป่วยได้รวม 3,178 เตียง

 

เพิ่มจำนวนยกระดับศูนย์เวชศาสตร์เขตเมืองปี 2565 มี 12 แห่ง ปี 2566 เพิ่มมาอีก 3 แห่ง รวม 15 แห่ง ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 มีผู้เข้าใช้งานมากกว่า 49,000 ครั้ง

 

จัดระเบียบสัตว์จร ทำฐานข้อมูลฟาร์มเลี้ยงสัตว์และร้านค้าจำหน่ายสัตว์เลี้ยง เพิ่มเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ ออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่เชิงรุกผ่าตัดทำหมันสัตว์จร ผ่าตัดทำหมันแล้ว 21,698 ตัว ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 172,316 ตัว ฉีดไมโครชิปและขึ้นทะเบียนสุนัข 1,601 ตัว

 

7. สังคมดี

 

จัดดนตรีในสวน 13 สวน 51 ครั้ง 156 วง จัด Bangkok Street Performer 12 จุด เปิดหมวก 200 คนต่อกลุ่ม 370 ครั้ง จัดทำเว็บไซต์รวบรวมกิจกรรมศิลปะที่เกิดขึ้นในเมือง Bangkok Art City

 

พัฒนา 1,034 ลานกีฬา ลานกีฬาโรงเรียนกุหลาบวิทยาสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์, ลานกีฬาบางแค, ลานกีฬาบึงกุ่ม, ลานกีฬาพญาไทภิรมย์เขตพญาไท, ลานกีฬารวมน้ำใจพระราม 3 เขตธนบุรี และลานกีฬาเคหะฉลองกรุงโซนห้าเขตหนองจอก

 

ปรับ 15 ห้องสมุดเป็น Co-working Space สำรวจบ้านหนังสือ 139 แห่ง

 

เปลี่ยนศาลาว่าการกรุงเทพมหานครและลานคนเมือง สู่พิพิธภัณฑ์เมืองกรุงเทพฯ และพื้นที่สร้างสรรค์ โดยตั้งคณะทำงาน คณะกรรมการศึกษาประเด็นที่เกี่ยวข้อง

 

จุดบริการคนไร้บ้านที่ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า ตรอกสาเก แจกข้าวกล่อง 17,325 กล่อง แจกน้ำดื่ม 10,069 ขวด ชุดตรวจคนไร้บ้านลงพื้นที่สำรวจแล้ว 5,131 ครั้งใน 50 เขต ส่งตัวคนไร้บ้านให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ 473 ราย จัดทำฐานข้อมูลห้องเช่าราคาถูกเก็บข้อมูลได้แล้ว 427 แห่งใน 36 เขต พัฒนาต้นแบบ BKK Food Bank นำร่องแล้วใน 6 เขต บริจาคอาหารไปมากกว่า 11,446 มื้อ รวม 2,225 กิโลกรัม

 

น้ำสะอาดปลอดภัยฟรีทั่วกรุงเทพฯ รวม 9 เครื่อง ที่สวนรถไฟ, สวนเบญจกิติ, สวนเบญจสิริ, อุโมงค์หน้าพระลาน, ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า), สวนจตุจักร, สวนธนบุรีรมย์ และสวนหลวง ร.9 

 

รถรับ-ส่งคนพิการมีบริการ 10 คัน ยอดให้บริการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 จำนวน 3,600 ครั้ง ปรับปรุงอาคารสถานที่ของ กทม. รองรับผู้พิการ 62 แห่ง จาก 169 แห่ง จะปรับปรุงให้เสร็จในปี 2570 จำนวน 107 แห่ง

 

สร้างอาสาสมัครเทคโนโลยี (อสท.) ในชุมชน ช่วยด้านเทคโนโลยี 42 เขต 525 คน เพิ่มเงินสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการชุมชนปรับการจ่ายเงินให้เป็นรายปี 200,000 บาทต่อชุมชนต่อปี

 

8. เรียนดี

 

ส่งเสริมหลักสูตรสำหรับเด็กช่วงศูนย์ถึงแปดปี ขยายชั้นเรียนอนุบาล ปรับลดอายุนักเรียนอนุบาลลงหนึ่งปีทุกชั้น

 

พัฒนาศูนย์เด็กอ่อน นำร่องหลักสูตรส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ปรับค่าอาหารกลางวันและอาหารเช้าเป็น 32 บาท จากเดิม 20 บาท ค่าวัสดุอุปกรณ์เฉลี่ยไม่เกิน 600 บาทต่อคนต่อปี จัดซื้อสื่อการเรียนการสอนเพิ่ม

 

กทม. ตั้งงบประมาณอุดหนุนอุปกรณ์การเรียนและเครื่องแบบ 1,171 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าอาหารกลางวันเพิ่มเติมและอาหารเช้า 1,003 ล้านบาท ค่าชุดลูกเสือ/เนตรนารี/ยุวกาชาด/ชุดพละ 114 ล้านบาท (คนละ 450 ล้านบาท) ค่าเครื่องหมายสัญลักษณ์ของสถานศึกษา 15 ล้านบาท ค่าประกันอุบัติเหตุ 38 ล้านบาท (คนละ 150 บาท)

 

จ้างเหมาธุรการช่วยครูทำงานเอกสารจ้างแล้ว 339 คน จ้างเพิ่มอีก 312 คน ลดจำนวนเอกสารเบิกจ่ายค่าฎีกาอาหารเฉลี่ย 76.21% ออกเอกสารทางการศึกษา ปพ.1-9 ในระบบ BEMIS ได้ เพิ่มที่พักครูให้ครูที่ต้องการที่พัก 5,961 คน ปรับหลักเกณฑ์การเลื่อนวิทยฐานะ

 

กทม. ในปี 2565 แจกผ้าอนามัยฟรี 380,772 ชิ้นให้นักเรียน 23,455 คน ซึ่งไม่เพียงพอ ปี 2566 คาดว่าจะแจก 820,000 ชิ้น

 

ส่งเสริมสิทธิความปลอดภัยของเด็ก สามารถแต่งกายได้อิสระอย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์เพื่อลดภาระผู้ปกครอง ทรงผมได้อิสระ ใส่ชุดนักเรียนกับผ้าพันคอแทนชุดลูกเสือได้ แจกหมวกกันน็อก 126,117 ใบ

 

จัดกิจกรรมหลังเลิกเรียนนำร่อง 35 โรงเรียน เปิดห้องเรียนวันเสาร์นำร่อง 17 โรงเรียน มีอาสาสมัครแล้ว 143 คน นักเรียนเข้าร่วม 1,141 คน ติดตั้งคอมพิวเตอร์ 21,553 เครื่องในห้องคอมพิวเตอร์ 598 ห้อง ติดตั้งครบ 437 โรงเรียนในเดือนสิงหาคม 2566 พัฒนาโรงเรียนสามภาษาสอนผ่านหลักสูตรไทย-ต่างประเทศนำร่อง 63 โรงเรียน

 

ห้องสมุดออนไลน์อ่านอีบุ๊กได้ทุกที่ BKK x Hibrary มีหนังสือมากกว่า 1,500 เล่ม

 

9. บริหารจัดการดี

 

ข้าราชการ กทม. ทุกคนสามารถแต่งกายได้ตามความเหมาะสม เพิ่มหลักสูตรพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้ทุกคนเคารพความแตกต่างทำงานร่วมกันอย่างเสมอภาค ออกประกาศนโยบายการไม่เลือกปฏิบัติทางเพศและป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน

 

ปรับปรุงข้อบัญญัติเกี่ยวข้องกับผังเมืองและการควบคุมอาคาร ลดขั้นตอนการทำงานตามดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ เชื่อมข้อมูลหน่วยงานต่างๆ เน้นความปลอดภัยในตึกที่สร้างใหม่ ปรับปรุงกฎหมายควบคุมอาคารให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

 

จัดทำงบประมาณแบบเริ่มจากศูนย์ เปลี่ยนงบประมาณ 1,022 ล้านบาทจากงบประมาณประจำปีของเขต 39 รายการให้ใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น ค่าใช้จ่ายในพิธีทบทวนคำปฏิญาณและสวนสนามลูกเสือ ค่าใช้จ่ายในการประชุมครู ค่าใช้จ่ายจัดประชุมสัมมนาคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร

 

สำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแล้ว 99.42% ในปี 2566 ประชาชนสามารถชำระภาษีของ กทม. ผ่านระบบ e-Payment 

 

สายด่วน 1555 รองรับการใช้งานภาษามือ แก้ไขข้อจำกัดการแจ้งเรื่องของผู้พิการ เพิ่มการจ้างงานผู้พิการด้านการเคลื่อนไหว

 

เพิ่มสวัสดิการพนักงานเก็บขยะและขนขยะ เพิ่มสัดส่วนของลูกจ้างชั่วคราวเปลี่ยนเป็นลูกจ้างประจำ 565 อัตรา เพิ่มวงเงินประกันอุบัติเหตุพนักงานกวาดถนน

 

ผู้ว่าฯ สัญจรประจำเขต สัญจรแล้ว 28 เขตจาก 50 เขต สัญจรหน่วยงานแล้ว 20 หน่วยงานจาก 30 หน่วยงาน

 

งบประมาณสำหรับการดูแลเส้นเลือดฝอย 5,024 ล้านบาท แบ่งเป็น ปรับปรุงถนน ตรอก ซอกซอย และสิ่งสาธารณประโยชน์ 4,435 ล้านบาท ขุดลอกคู คลอง 437 ล้านบาท ล้างทำความสะอาดท่อ 152 ล้านบาท

 

ยกเลิกแก้ไขกฎหมายข้อบัญญัติกรุงเทพฯ เกี่ยวข้องกับผังเมืองแล้ว 11 ฉบับ เพราะไม่มีความจำเป็นและไม่สอดคล้องกับผังเมืองรวม อยู่ระหว่างพิจารณายกเลิกระเบียบกรุงเทพฯ เกี่ยวกับสารบัญ 1 ฉบับ และทบทวนกฎหมายอีก 82 ฉบับ

 

ความพึงพอใจของประชาชนที่มีต่อผู้ว่าฯ ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2566 อยู่ที่ 72.40% ความพึงพอใจของประชาชนที่มีต่อสำนักงานเขต ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2566 อันดับที่หนึ่งเขตทวีวัฒนา อยู่ที่ 91.9%

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X