×

กทม. เตรียมแผนป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ 2 มาตรการรับมือน้ำเหนือ-น้ำหนุน 3 มาตรการรับมือน้ำฝน

โดย THE STANDARD TEAM
10.10.2024
  • LOADING...

วันนี้ (10 ตุลาคม) อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย เอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของ กทม. และ เจษฎา จันทรประภา ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ ร่วมแถลงถึงความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำเหนือ-น้ำหนุนของ กทม. พร้อมนำสำรวจการเตรียมพร้อมบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใต้สะพานพระราม 8 เขตบางพลัด

 

สืบเนื่องจากสถานการณ์พื้นที่ทางภาคเหนือมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และทำให้เกิดน้ำท่วม และส่งผลกระทบให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กทม. ได้ติดตามสถานการณ์และประสานข้อมูลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมชลประทาน ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อยู่ตลอดอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำที่อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่ของ กทม. ได้

 

สถานการณ์น้ำ 4 เขื่อนหลักและลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนเข้าสู่ กทม. ยังรับมือได้

 

สำหรับสถานการณ์น้ำเหนือใน 4 เขื่อนหลัก (ภูมิพล, สิริกิติ์, แควน้อย และป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำกักเก็บคิดเป็น 81% และยังสามารถรองรับน้ำเพิ่มได้อีก แต่ทั้งนี้ต้องคอยเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ปริมาณน้ำที่ระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และการบริหารจัดการของกรมชลประทาน

 

สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาก่อนเข้าสู่กรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 10 ตุลาคม 2567 มีดังนี้

 

  • ปริมาณน้ำผ่านจังหวัดนครสวรรค์ 2,338 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) /วินาที (เพิ่มขึ้น 20 ลบ.ม./วินาที) ปริมาณการระบายสูงสุดที่แม่น้ำรับได้คือ 3,660 ลบ.ม./วินาที

 

  • ปริมาณน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 2,199 ลบ.ม./วินาที (ทรงตัว) ปริมาณการระบายสูงสุดที่แม่น้ำรับได้คือ 2,730 ลบ.ม./วินาที

 

  • ปริมาณน้ำผ่านจุดวัดน้ำบางไทร 1,830 ลบ.ม./วินาที (เพิ่มขึ้น 39 ลบ.ม./วินาที) ซึ่งวันเดียวกันนี้เมื่อปี 2554 ปริมาณน้ำที่บางไทรอยู่ที่ 3,288 ลบ.ม./วินาที โดยปริมาณน้ำผ่านจุดวัดน้ำบางไทรที่ กทม. ต้องเฝ้าระวังคือ 2,500 ลบ.ม./วินาที

 

2 มาตรการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำเหนือ-น้ำหนุน

 

1. ตรวจสอบแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา และเฝ้าระวังจุดเสี่ยงน้ำท่วม โดยแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ของ กทม. จากด้านใต้ถึงด้านเหนือ มีระดับสูง +2.80 ถึง 3.50 เมตรเทียบกับระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) แนวริมแม่น้ำ 88 กิโลเมตรเป็นแนวป้องกันของ กทม. 80 กิโลเมตร แนวฟันหลอ 4.35 กิโลเมตร (32 แห่ง) แนวของเอกชนและหน่วยงานอื่น 3.65 กิโลเมตร (12 แห่ง)

 

สำหรับแนวฟันหลอ 32 แห่ง กทม. ได้ดำเนินการก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมแล้วเสร็จ 14 แห่ง เช่น สะพานปลาและชุมชนวังหลัง กำลังจะแล้วเสร็จอีก 2 แห่ง อาทิ วัดเทพนารี (รวมความยาวที่แก้ไขได้ 2 กิโลเมตร) และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 9 แห่ง ส่วนแนวป้องกันของ กทม. ที่รั่วซึม 76 แห่ง ได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขแล้วเสร็จ 45 แห่ง กำลังจะแล้วเสร็จอีก 2 แห่ง และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 7 แห่ง

 

ทั้งนี้ จุดเสี่ยงน้ำท่วมจากน้ำเหนือ-น้ำหนุนบริเวณช่องเปิดท่าเรือต่างๆ รวมถึงบริเวณที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ได้เตรียมพร้อมรับมือด้วยมาตรการชั่วคราวโดยการเรียงกระสอบทรายที่ระดับความสูง +2.30 ถึง +2.70 ม.รทก. และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ทั้งนี้ปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ระดับน้ำสูงสุดที่จุดวัดน้ำปากคลองตลาด สูงประมาณ +1.50 ม.รทก. จากอิทธิพลน้ำทะเลหนุนสูง (ระดับคันกั้นน้ำ +3.00 ม.รทก.) ไม่กระทบต่อแนวพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาใน กทม.

 

2. การเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดย กทม. ได้ออกคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสำนักงานเขตที่มีชุมชนอยู่นอกแนวคันกั้นน้ำหรือชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ คอยติดตามสถานการณ์และแจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระวัง เตรียมการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง รวมทั้งดูแลอุปกรณ์ไฟฟ้าและปลั๊กไฟ

 

พร้อมทั้งให้สำนักงานเขตตรวจสอบการเรียงกระสอบทรายให้มีความสูงเพียงพอและมีความแข็งแรงที่จะสามารถป้องกันน้ำได้ พร้อมทั้งจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เช่น การจัดทำคันกั้นน้ำชั่วคราวด้วยกระสอบทราย, การทำสะพานทางเดินชั่วคราว, การให้ความช่วยเหลือประชาชนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ตลอดจนแจกจ่ายยารักษาโรค พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำรับทราบสถานการณ์น้ำเหนือ-น้ำหนุน และจัดเจ้าหน้าที่ให้เฝ้าระวังตามจุดอ่อนหรือจุดเสี่ยงน้ำท่วม รวมทั้งพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

 

3 มาตรการพร้อมรับสถานการณ์น้ำฝน

 

สำหรับสถานการณ์ฝนในพื้นที่ กทม. ณ วันที่ 10 ตุลาคม 2567 ปริมาณฝนใน กทม. เดือนตุลาคม 2567 อยู่ที่ 152 มิลลิเมตร (มม.) มีค่าใกล้เคียงกับปี 2566 ขณะที่ปริมาณฝนสะสมทั้งปี 2567 อยู่ที่ 1,273 มม. มีค่าน้อยกว่าปี 2566 ซึ่งมีค่าอยู่ที่ 1,369 มม.

 

โดย 3 มาตรการรับสถานการณ์น้ำฝน ประกอบด้วย

 

  1. ลดระดับน้ำรองรับสถานการณ์ฝน โดยควบคุมระดับน้ำในคลอง แก้มลิง และ Water Bank

 

  1. เตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำ เช่น สถานีสูบน้ำ, บ่อสูบน้ำ, ประตูระบายน้ำ, ขุดลอกคลอง 225 กิโลเมตร (กม.) และเปิดทางน้ำไหล 2,036 กม. แล้วเสร็จ 100% รวมทั้งล้างทำความสะอาดท่อกว่า 4,300 กม. แล้วเสร็จ 99%

 

  1. เตรียมความพร้อมอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่ เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้าถาวร, รถโมบายล์ ยูนิต, เครื่องสูบน้ำชนิดต่างๆ และหน่วย Best

 

เตือน 16 ชุมชนนอกคันกั้นน้ำ เฝ้าระวังระดับแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูง

 

จากที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในโลกออนไลน์ว่า กทม. จะมีพื้นที่เขตใดที่น้ำไม่ท่วม หรือเขตใดเสียหายบางส่วนจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้น-ลง เขตใดเสียหายบางส่วนจากน้ำเหนือ หรือเขตใดจะรับผลกระทบบ้างนั้น กทม. ขอย้ำว่าไม่เป็นความจริง

 

ทั้งนี้ สำหรับชุมชนนอกคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 16 ชุมชน 731 ครัวเรือน ในพื้นที่ 7 เขต ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากน้ำท่วม ได้สั่งการให้สำนักงานเขตพื้นที่ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนชุมชนหากเกิดปัญหาระดับน้ำขึ้นสูง ซึ่งประกอบด้วยเขตต่างๆ ได้แก่ เขตดุสิต, พระนคร, สัมพันธวงศ์, บางคอแหลม, ยานนาวา, บางกอกน้อย และคลองสาน

 

นอกจากนี้ได้สั่งการสำนักงานเขตที่มีพื้นที่อยู่ตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาสำรวจพื้นที่บ้านเรือนของประชาชน จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนในกรณีฉุกเฉินต่างๆ อย่างทันท่วงที

 

เปิดทุกช่องทาง กทม. ให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำและฝน

 

สำหรับประชาชน สามารถติดตามสถานการณ์น้ำและฝนจาก กทม. ได้ที่ dds.bangkok.go.th/ หรือ pr-bangkok.com/ หรือ Facebook ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม กรุงเทพมหานคร หรือ กรุงเทพมหานคร และ X @BKK_BEST

 

นอกเหนือจากการแจ้งเตือนของ กทม. ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาสามารถติดตามสถานการณ์น้ำแบบ Real Time ได้ที่เว็บไซต์สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) ที่ tiwrm.hii.or.th

 

ทั้งนี้ หากต้องการแจ้งเหตุน้ำท่วมขังในพื้นที่ กทม. โทร. 1555 หรือศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม โทร. 0 2248 5115 หรือแจ้งผ่านระบบทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue)

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising