×

ทีมจัดงานดีเบตผู้ว่าฯ กทม. ตั้งคำถาม ถูกเลือกปฏิบัติหรือไม่ หลังถูกย้ายสถานที่จัดงานกะทันหัน

โดย THE STANDARD TEAM
03.05.2022
  • LOADING...
ดีเบตผู้ว่าฯ กทม.

วันนี้ (3 พฤษภาคม) คณะผู้จัดงานแสดงวิสัยทัศน์ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ที่ใช้ชื่อว่า ‘กรุงเทพฯ เมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ นำโดย ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters พร้อมกับ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, มูลนิธิอิสรชน, สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล, กลุ่มเส้นด้าย, คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเครือข่าย จัดแถลงข่าวที่ห้องกมลทิพย์ 1 โรงแรมเดอะสุโกศล ก่อนเริ่มเปิดเวทีในประเด็นของการเปลี่ยนสถานที่จัดงาน จากเดิมที่จะจัดงานที่ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

โดยฐปณีย์กล่าวว่า เดิมตั้งใจจัดที่ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แต่เกิดปัญหาเรื่องการขอใช้สถานที่จึงต้องย้ายมาจัดในสถานที่ปิด และคณะผู้จัดงานตั้งใจจัดเวทีนี้เพื่อต้องการให้ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. มารับฟังปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน และความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นใน กทม. และมองว่า บริเวณหอศิลป์เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการจัดกิจกรรม จึงได้ขอเช่าสถานที่ ไม่ได้เป็นการไปใช้สถานที่ฟรี 

 

ซึ่งหอศิลป์อนุญาตให้เช่าสถานที่ และได้ไปขออนุญาตการใช้เครื่องขยายเสียงจากสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน ซึ่งได้รับอนุญาตมาแล้ว และนำไปยื่นกับสำนักงานเขตปทุมวัน พร้อมมาตรการป้องกันโควิด และยืนยันว่าได้ยื่นมาตรการไปตามที่สำนักงานเขตต้องการและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ตั้งแต่การติดตั้งจุดวัดอุณหภูมิ และการจัดเก้าอี้แบบเว้นระยะห่าง รวมถึงมาตรการป้องกันความแออัดบนแนวรถไฟฟ้า BTS แม้จะไม่ได้เป็นพื้นที่จัดงานโดยตรง 

 

ซึ่งทางเขตปทุมวัน มีข้อกังวลว่าจะมีประชาชนมามุงดูงานส่วนด้านบนรถไฟฟ้า BTS จึงขอให้ดำเนินการติดตั้งแนวกั้นสูง 2 เมตร และนำผ้ามาคลุมด้านบน ทั้งนี้ ผู้จัดงานมองว่าที่ผ่านมาลานหอศิลป์เป็นพื้นที่เปิด ไม่มีการจัดงานครั้งไหนที่ต้องทำเช่นนั้น และทางคณะผู้จัดงานไม่สามารถทำได้ 

 

ฉะนั้นการที่ทางเขตแจ้งมาที่หอศิลป์ว่าไม่อนุญาตให้จัดงานเมื่อวานนี้ (2 พฤษภาคม) ช่วงเย็น ทำให้ทางคณะผู้จัดงานไม่สามารถหาพื้นที่จัดงานได้ทัน จึงจำเป็นต้องมาจัดในสถานที่ปิดในวันนี้ ทั้งนี้ ผู้จัดงานยังคงยืนยันว่า เวทีนี้เป็นเวทีที่อยากให้ผู้สมัครมาเห็นความสำคัญของสิทธิมนุษยชน

 

ขณะที่ ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า การจัดงานวันนี้จัดเพื่ออยากเห็นวิสัยทัศน์ของผู้สมัครผ่านแนวคิดด้านสิทธิมนุษยชน และอยากเห็นบรรทัดฐานที่ดีในการบริหารจัดการ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เห็นปรากฏการณ์ที่ไม่มีการเหลื่อมล้ำ และได้เห็นถึงความเท่าเทียมที่เกิดขึ้น และมองว่าสิทธิการชุมนุม สิทธิการแสดงความคิดเห็น ควรจะทำให้สามารถจัดงานได้ แต่วันนี้ยอมรับว่าตกใจ เพราะในพื้นที่เขตเดียวกัน ยังมีการจัดเวทีสาธารณะอื่นๆ ได้ ซึ่งเมื่อมีการดำเนินการตามขั้นตอนทุกอย่าง จึงขอตั้งคำถามว่า ในบ้านเมืองนี้ไม่มีพื้นที่ให้กับสิทธิมนุษยชนหรือไม่ และแบบนี้จะช่วยกันสร้างความหวังให้กับกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังได้อย่างไร

 

ด้าน บดินทร์ สายแสง นักปฏิบัติการวิจัย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า กระบวนการเลือกตั้งที่เป็นธรรมจะขาดการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ไม่ได้ และถือว่าเสียดายมากที่ไม่สามารถจัดในพื้นที่สาธารณะ ในประเด็นสำคัญเพื่อให้ประชาชนมารับฟังได้ เพราะงานนี้มีผู้สมัครเข้าร่วมมากกว่า 20 ท่าน มาแสดงวิสัยทัศน์ด้วย รวมถึงในวันที่ 3 พฤษภาคมคือวันเสรีภาพสื่อมวลชน แต่กลับมาถูกปิดกั้นแบบนี้ จึงมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง และหวังว่าเวทีอื่นๆ จะไม่เป็นปัญหาอีก

 

ทั้งนี้ คณะผู้จัดงานยังชี้แจงอีกว่า ที่ขออนุญาตจัดงานที่หอศิลป์นั้น สำนักงานเขตปทุมวันให้เหตุผลว่า ไม่ได้มีการจัดงานมา 3 ปีแล้ว ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า เคยมีการจัดงานทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมาตลอด ตั้งแต่ปี 2563 มาจนถึงปัจจุบัน และยังไม่รวมงานที่ลานพาร์ค พารากอน ก็มีการใช้เครื่องขยายเสียง ที่ประชาชนสามารถมองเห็นได้จากสถานีรถไฟฟ้าเช่นกัน จึงขอฝากไปถึงสำนักงานเขตปทุมวัน ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ เพราะหลังจากนี้ก็ยังมีอีกหลายๆ เวทีที่เตรียมจะจัดเวทีสาธารณะในลักษณะนี้อีก และอยากทราบว่ามีหลักเกณฑ์อย่างไรในการพิจารณา

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X