วันนี้ (31 มีนาคม) เมื่อเวลา 11.30 น. ขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย สมชัย สุรกาญจน์กุล ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวการเปิดรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ประจำปี พ.ศ. 2565 ณ อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)
วันนี้ถือเป็นวันแรกของการรับสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ซึ่งมีผู้สมัครยื่นใบสมัครต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร ก่อนเวลารับสมัคร 08.30 น. ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ให้ถือว่าเป็นผู้มายื่นใบสมัครรับเลือกตั้งพร้อมกัน ซึ่ง ผอ.กกต.ทถ.กทม. ได้จัดให้มีการประชุมผู้สมัครดังกล่าว เพื่อตกลงลำดับการยื่นใบสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งไม่สามารถตกลงกันได้ จึงดำเนินการจับสลาก โดยจับสลาก 2 ครั้ง ดังนี้
การจับสลากครั้งที่ 1 ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เขียนชื่อผู้สมัครที่ต้องจับสลาก แล้วใส่ในภาชนะ แล้วให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เป็นผู้จับสลากชื่อผู้สมัครทีละหนึ่งใบ ชื่อผู้สมัครใดที่ถูกจับเป็นลำดับแรก ผู้สมัครรายนั้นจะเป็นผู้มีสิทธิจับสลากลำดับในการยื่นใบสมัครก่อน ส่วนชื่อผู้สมัครใดที่ถูกจับขึ้นเป็นลำดับถัดไป ให้ถือว่าผู้สมัครนั้น เป็นผู้มีสิทธิจับสลากเป็นลำดับถัดไปตามลำดับจนครบจำนวนผู้สมัคร
การจับสลากครั้งที่ 2 ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร หรือผู้ได้รับมอบหมาย เขียนหมายเลขหนึ่งจนถึงหมายเลขที่เท่ากับจำนวนผู้สมัคร แล้วให้ผู้สมัครทำการจับสลากเรียงลำดับตามผลการจับสลากครั้งที่ 1 ผู้สมัครใดจับสลากได้หมายเลขใด ถือว่าเป็นลำดับในการยื่นใบสมัครของผู้สมัครรายนั้น รวมถึงเป็นหมายเลขประตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งอีกด้วย
ทั้งนี้ ปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เป็นผู้จับสลากครั้งที่ 1 สำหรับผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. รวมทั้งผู้สมัคร ส.ก. โดยในส่วนของ ส.ก. มีการจับสลากเรียงทีละเขตจนครบทั้ง 50 เขต
โดยในช่วงเช้าวันนี้มีผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก่อนเวลา 08.30 น. จำนวน 14 ราย ได้แก่
- หมายเลข 1 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
- หมายเลข 2 พ.ท.หญิง ฐิฏา รังสิตพล มานิตกุล
- หมายเลข 3 สกลธี ภัททิยกุล
- หมายเลข 4 สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
- หมายเลข 5 วีรชัย เหล่าเรืองวัฒนา
- หมายเลข 6 พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง
- หมายเลข 7 รสนา โตสิตระกูล
- หมายเลข 8 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
- หมายเลข 9 วัชรี วรรณศรี
- หมายเลข 10 ศุภชัย ตันติคมน์
- หมายเลข 11 น.ต. ศิธา ทิวารี
- หมายเลข 12 ประยูร ครองยศ
- หมายเลข 13 พิศาล กิตติเยาวมาลย์
- หมายเลข 14 ธเนตร วงษา
ส่วนผู้มาสมัครหลังเวลา 08.30 น. จะได้หมายเลขในลำดับต่อไป จำนวน 3 ราย ได้แก่
- หมายเลข 15 พล.อ.ต. ทูตปรีชา เลิศสันทัดวาที
- หมายเลข 16 ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์
- หมายเลข 17 อุเทน ชาติภิญโญ
ต่อมา ในเวลา 14.00 น. มีผู้สมัครเพิ่มเติมอีก 3 ราย ได้หมายเลขในลำดับถัดไปได้แก่
- หมายเลข 18 สุมนา พันธุ์ไพโรจน์
- หมายเลข 19 ไกรเดช บุนนาค
- หมายเลข 20 อมรพรรณ อุ่นสุวรรณ
ในส่วนของผู้สมัคร ส.ก. มีผู้สมัครจำนวน 327 ราย โดยผู้สมัครสามารถตกลงลำดับการยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งกันได้ 5 สำนักงานเขต ได้แก่ เขตสัมพันธวงศ์ เขตหลักสี่ เขตบางแค เขตบางกอกใหญ่ และเขตบางขุนเทียน นอกนั้นมีการจับสลากเรียงทีละเขตจนครบทั้ง 45 เขต
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง จะตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งว่าขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน จากนั้นจะประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งหรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง หรือสถานที่ที่เห็นสมควร
สำหรับการรับสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร จะมีไปถึงวันที่ 4 เมษายน 2565 ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. โดยไม่เว้นวันหยุดราชการ ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตดินแดง
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม. สังกัดพรรคก้าวไกล) ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนภายหลังจับสลากเบอร์ผู้สมัครผู้ว่าฯ ได้ ‘เบอร์ 1’ ว่า ดีใจที่ได้หมายเลข 1 ตามที่หวัง เพราะเลขนี้ยึดโยงกับแนวคิดที่ประชาชนต้องถูกคิดถึงเป็นลำดับที่ 1 โดยตนและทีมงานมั่นใจมาโดยตลอด เพราะมีความชัดเจนด้านนโยบายมากขึ้น มีการสื่อสารกับประชาชนมากขึ้น ขณะที่ประชาชนเชื่อในแบบที่เราคิดว่าผลประโยชน์ของประชาชนควรถูกคิดถึงเป็นลำดับที่ 1 ได้แล้ว
ด้าน สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) แบบอิสระ หมายเลข 3 ระบุหลังจากได้หมายเลขว่า หมายเลขนี้สามารถเล่นกับชื่อตนได้คือ ‘สกลทรี’ (สกลธี + Three) โดยบอกว่าพอใจและมั่นใจ แต่ก็ยืนยันว่าได้เลขใดก็เหมือนกัน เพราะตอนเป็น ส.ส. ครั้งแรกก็ได้เลข 12 ซึ่งก็ไม่ได้จำง่าย ดังนั้นถ้าประชาชนอยากจะเลือกก็คงจำเบอร์อยู่แล้ว แต่การได้เลขตัวเดียวก็ถือว่าง่ายในการหาเสียง
ส่วน สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จากพรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข 4 ระบุว่าชอบมาก โดยตนเกิดเดือน 4 และเป็น ‘ลูกพระจอมฯ’ ด้วย เมื่อถามถึงความหวัง สุชัชวีร์ระบุว่าเต็มที่ เพราะถือว่าเราได้เลขมงคลที่ตรงกับตัวเอง ก็จะใช้เบอร์ 4 เป็นเลขมงคลให้ได้รับใช้ชาวกรุงเทพฯ ให้ได้
ด้าน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) สังกัดอิสระ ให้สัมภาษณ์หลังจับสลากได้หมายเลข 8 ว่า ได้เบอร์ 8 ก็ดี เพราะเป็นรูป Infinity เพิ่มพลังทำงานให้ไม่หยุดหย่อน ซึ่งทุกเลขเป็นเลขที่ดี ส่วนตัวไม่มีปัญหาเรื่องนี้ ขอแค่ประชาชนจำเราได้ เพราะเบอร์เป็นเพียงตัวแทนสื่อเท่านั้นเอง
ภายหลังผู้สมัครแต่ละคนได้หมายเลขผู้สมัครแล้ว ผู้สนับสนุนได้ทำการติดหมายเลขที่ป้ายแนะนำตัว จากนั้นผู้สมัครได้ออกเดินทางหาเสียงตามสถานที่นัดหมายตามที่กำหนดไว้กับทีมงานทันที นับเป็นการเดินเครื่องหาเสียงภายหลังการได้หมายเลขอย่างเต็มที่
ภาพ: ฐานิส สุดโต, ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม, ศวิตา พูลเสถียร, กฤตย์ ศิริสัจจาพิพัฒน์