×

มินิไกด์เดินทัวร์งาน Bangkok Design Week กับ 8 จุดในเจริญกรุงที่คุณต้องเก็บให้ครบ

18.06.2021
  • LOADING...
Bangkok Design Week 2021

สุดสัปดาห์นี้หากคุณยังไม่มีแพลนไปไหน THE STANDARD POP อยากชวนคุณไปเที่ยวงาน Bangkok Design Week 2021 ในย่านเจริญกรุง เพราะหลายๆ นิทรรศการจะจัดถึงวันอาทิตย์นี้เท่านั้น 

 

เล่ากันอีกสักรอบก่อนว่า เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้งานศิลปะประจำปีอย่างเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ หรือ Bangkok Design Week 2021 ต้องเลื่อนจากกำหนดการเดิมในเดือนมกราคม สู่ตารางใหม่ระหว่างวันที่ 8 พฤษภาคม – 31 กรกฎาคม 2564 โดยในปีนี้คณะผู้จัดงานได้มีการวางแผนให้สอดคล้องเป็นไปตามสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น ด้วยการเริ่มจากจัดงานในรูปแบบออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ในเดือนพฤษภาคม ก่อนจะเปิดนิทรรศการ On Ground สองเดือนหลัง แบ่งออกเป็นย่านหลักอย่างเจริญกรุงในเดือนมิถุนายน และย่านอื่นๆ ได้แก่ สามย่าน อารีย์ ทองหล่อ และเอกมัย ในเดือนกรกฎาคม ภายใต้การควบคุมจำนวนผู้เข้าชมงาน และมาตรการการรักษาระยะห่างอย่างเคร่งครัด 

 

นิทรรศการในปีนี้มาในธีม ‘Resurgence of Possibilities’ หรือ ‘การก้าวสู่ความเป็นไปได้ใหม่’ ซึ่งภายในงานเราจะได้เห็นงานออกแบบที่มาในรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ชุมชน งานออกแบบคอลลาบอเรชันระหว่างดีไซเนอร์หน้าใหม่และผู้ผลิตงานฝีมือเก่าแก่ประจำย่าน การเสวนาตั้งคำถามถึงความเป็นอยู่ใหม่ เทรนด์วัสดุ รวมไปถึงงานที่หยิบเอาสุขภาพจิตมาทำงานร่วมกับศิลปะ ซึ่งทุกๆ นิทรรศการในเดือนมิถุนายนนี้จัดตลอดเส้นเจริญกรุง กินพื้นที่ตั้งแต่บางรักไปจนถึงถนนทรงวาด แต่ละจุดจะมีอะไรบ้าง เราสรุปเป็น 8 จุดคำคัญให้คุณได้เดินตามกันแล้ว

 

ก่อนอื่น ข้อควรปฏิบัติสำหรับการเข้าชมนิทรรศการครั้งนี้คือการจองเข้าชมแต่ละนิทรรศการล่วงหน้าสำหรับนิทรรศการที่จัดในสถานที่ปิด เพราะทุกนิทรรศการจำกัดผู้เข้าชมตามมาตรการการรักษาระยะห่าง และตลอดการเดินชมจะมีเจ้าหน้าที่คอยบอกให้คุณเปิดสัญญาณบลูทูธ นั่นก็เพราะปีนี้ทางคณะผู้จัดได้มีการพัฒนาเว็บไซต์ https://crowdcheck.info/en สำหรับรายงานความหนาแน่นในแต่ละพื้นที่แบบเรียลไทม์ คือหากกำลังจะเดินไปชมงานในจุดไหน ตรวจดูในเว็บไซต์ก่อนได้เลยว่าคนเยอะเกินลิมิตหรือเปล่า เป็นเว็บไซต์ที่เปิดดูไว้ก่อนเลย เพราะคุณต้องได้ใช้ตลอดแน่ๆ   

 

 

#BKKdesignweek #BKKDW21 

 

 

#1 TCDC: จุดเริ่มต้น 

หากคุณไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร เราแนะนำว่าให้ไปเริ่มต้นที่ศูนย์กลางของการจัดงานนั่นก็คือ TCDC ที่นี่จัดนิทรรศการหลักอยู่สองงานได้แก่ 1. ‘เมืองของฉัน’ นิทรรศการที่ว่าด้วยการพัฒนาพื้นที่ย่านเศรษฐกิจไปและการพัฒนาเมือง 2. Made in Charoenkrung นิทรรศการนี้จัดแสดงผลงานออกแบบที่เหล่าดีไซเนอร์หน้าใหม่ได้เข้าไปร่วมทำงานกับช่างฝีมือเก่าแก่ในย่านเจริญกรุงออกมาเป็นสินค้าดีไซน์ใหม่ ซึ่งทั้งสองงานจะจัดแสดงบริเวณชั้น 1 ของ TCDC ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 

 

 

#2 The River View: Envision Bangkok 

จากจุดเริ่มต้น TCDC เราแนะนำให้คุณเดินย้อนขึ้นไปทางตลาดน้อย และแวะจุดริมน้ำ The River View จุดนี้จะเรียกว่าเป็นพื้นที่หลักของการจัดแสดงผลงานนิทรรศการ 3. ‘Envisioning BANGKOK’ โดย Creative Economy Agency (CEA) x Plural Designs งานนี้เป็นงานศิลปะจัดวาง (Installation Art) ที่ตั้งคำถามกับพื้นที่สาธารณะและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ซึ่งทั้งหมดจะมี 10 ผลงานออกแบบ แต่ที่เจริญกรุงจัดแสดงก่อน 6 ผลงาน ส่วนอีก 4 ผลงานจะจัดในเดือนถัดไป 

 

ไฮไลต์หนึ่งของจุดนี้คือ ศาลา คอย(ล์)เย็น โดย Nikken Sekkei Thailand ศาลาสีส้มที่ถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่ส่วนกลาง เลือกใช้วัสดุอย่างอิฐมอญ ที่นอกจากจะนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ก็ยังควบคุมอุณหภูมิและลดความร้อนภายในอาคารได้อีกด้วย ถัดกันนั้นยังมีงาน Activating Vacancies โดย Imaginary Objects โครงสร้างเหล็กสีแดงตกแต่งไฟ งานออกแบบที่เปรียบเหมือนเป็นเฟอร์นิเจอร์สาธารณะ เหมาะสำหรับจุดที่ต้องการแสงสว่างเพิ่มเติมในเวลากลางคืน อีก 4 ผลงานถูกจัดอยู่บริเวณต่างๆ ได้แก่ 

 

 

  • Urban Whispering โดย Wire Knot Studios x Architect Nonsense จัดแสดงที่ O.P. Place 
  • Change for alive โดย Mohostudio จัดแสดงที่ O.P. Place 
  • W$J+uL2-X63, FXR TXMXRRXW (พรุ่งนี้xวย) โดย STUX2 จัดแสดงที่ O.P. Place
  • BOB the nice guy โดย BOB จัดแสดงที่ Public Rooftop ชั้น 5 TCDC

 

 

#3 Warehouse 30: Various Exhibition

Warehouse 30 เป็นอีกจุดรวมสารพัดนิทรรศการต่างๆ โดยจุดแรกคือภายในห้อง A Coffee Roaster by Li-bra-ry ที่จัดแสดงผลงานประกวดภาพโปสเตอร์ภายใต้คอนเซปต์ 4. ‘Dream Thailand’ หรือประเทศไทยในฝัน ใกล้ๆ กันนั้นคือ ATTA ‘N’ ATTA Art Space ที่ในเดือนมิถุนายนนี้มีงานแสดงที่น่าสนใจถึง 3 งาน ได้แก่ งานออกแบบเครื่องประดับจากดิน 5. ‘INDIN นวัตกรรมดิน’ งานออกแบบเฟอร์นิเจอร์สานร่วมสมัย 6. ‘Woven Decorative Items by PAW-DEE x PATAPiAN’ และงานออกแบบเครื่องประดับ 7. ‘KIN by Alexander Blank’ 

 

ทั้งหมดจัดแสดงถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2564       

 

 

#4 ATT19: Design PLANT – DOMESTIC

ใครที่รักในงานออกแบบงานดีไซน์เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน เราขอแนะนำว่าคุณไม่ควรพลาดงานนี้ 8. ‘Design PLANT’ คือการรวมตัวของกลุ่มนักออกแบบที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2556 นำเสนอชิ้นงานดีไซน์ ทั้งเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งที่เน้นงานฝีมือภูมิปัญญาแบบไทยๆ ผ่านสายตาการออกแบบที่ร่วมสมัย ซึ่งปีนี้ธีมกว้างของงานคืองานออกแบบที่ตีความคำว่า ‘Domestic’ นิทรรศการถูกแบ่งออกเป็นย่อยๆ อีก ลึกลงไปในแต่ละระดับอย่าง Nation, Local และ Community ดีไซเนอร์จะเลือกใช้วัสดุต่างๆ และเทคนิคการผลิตหลากหลาย ปีนี้เราเห็นการออกแบบสิ่งพิมพ์ การใช้ขยะต่างๆ ทั้งพลาสติกและเกษตรกรรมมาใช้ในการออกแบบ เพื่อหาความเป็นไปได้ที่จะพาไลน์ผลิตสู่ความเป็น Zero Waste อย่างผลงานถุงยางรักษ์โลก กระเป๋ายางสีสันสดใสที่ผลิตจากถุงมือแพทย์ที่ผลิตเสียภายในโรงงาน 

 

 

งานสาน งานผ้า และการร่วมมือกันระหว่างดีไซเนอร์และช่างฝีมือยังคงกินพื้นที่ใหญ่ๆ ในงาน เกิดเป็นเฟอร์นิเจอร์สวยๆ อย่างฉากกั้นห้อง MITI Screen ออกแบบโดย SARNSARD, โซฟานุ่ม CHUBBY Soft Couch ออกแบบโดย ease studio, เก้าอี้และเฟอร์นิเจอร์ลายจากชนเผ่า From Tribe to Town ออกแบบโดย Atelier2+ และเก้าอี้งานสาน Fat boy และ Nigma ออกแบบโดย Kitt.ta.khon ซึ่งนอกจากบรรดาดีไซเนอร์ที่เราคุ้นตาแล้ว งานนี้ยังมีส่วน Emerging Plant เปิดพื้นที่ให้กับนักออกแบบหน้าใหม่ๆ ด้วย แต่ละผลงานที่จัดแสดงมีรายละเอียดที่ดีมากๆ สามารถอ่านเพิ่มเติมก่อนได้ที่นี่

 

จัดแสดงถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2564       

 

 

#5 River City: 

River City มีอีกสองงานหลักๆ เริ่มจาก 9. ‘CARNIVAL’ งานเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์ที่จัดวางบริเวณลานตรงกลางชั้นล่าง คาร์นิวัล เล่นกับรูปทรงกลมที่เปรียบเหมือนการรวมกลุ่มของคน ที่แม้สถานการณ์จะทำให้การรวมกลุ่มสังสรรค์อันเป็นธรมมชาติของมนุษย์ต้องเปลี่ยนไป แต่ความต้องการในการอยู่ร่วมกันก็ยังคงอยู่เช่นเดิม 

 

 

ไฮไลต์อีกงานที่จัดที่ River City คือ 10. ‘อารามอารมณ์’ งาน Interactive Art ที่เป็นการร่วมงานกันระหว่างสตูดิโอออกแบบ Eyedropper Fill และ OOCA ผลงานนี้เริ่มต้นจากจากการตั้งคำถามหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่นักออกแบบสามารถสื่อสารได้ ซึ่งจากปีที่ผ่านมา การเกิดขึ้นของสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลต่อสุขภาพจิตของคนทั่วไปอย่างมาก และทำให้การรู้เท่าทันสุขภาพจิตเป็นสิ่งจำเป็น งานออกแบบชิ้นนี้จึงเหมือนพื้นที่ปลอดภัยที่เริ่มจากการสำรวจอารมณ์ของผู้เข้าชม ก่อนเดินเข้าไปยังห้องที่แห่งความเงียบที่เปรียบเหมือน ‘อาราม’ พาคุณมีสติอยู่กับความรู้สึกและพื้นที่ตรงหน้า ก่อนเข้าไปสู่ห้องต่างๆ ที่เป็นตัวแทนอารมณ์ของแต่ละคน นอกจากนี้ ด้านนอกยังมีอาสาสมัครจาก OOCA คอยให้คำปรึกษา หากคุณต้องการพูดคุย หรือใช้เวลาเงียบๆ กับตัวเองสักพัก งานออกแบบชิ้นนี้ทำหน้าที่นั้นได้ดีทีเดียว 

 

จัดแสดงถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2564 (หมายเหตุ: อารามอารมณ์จะเปิดให้บริการอีกสองวันคือ 19-20 มิถุนายน 2564 เท่านั้น)     

 

 

#6 ตลาดน้อย: ฮอปปิ้งคาเฟ่ และตามหากาชาปอง 

ออกจาก River City บริเวณด้านหน้าคุณจะเจอกับตู้คล้ายเครื่องขายของอัตโนมัติ (Vending Machine) นั่นเป็นหนึ่งผลงาน 11. ‘Newness’ จาก PHOTON ที่จัดวางตู้อัตโนมัติไว้ใจย่านย่านตลาดน้อย เป็นการใช้ความน่ารักและเทคโนโลยีใหม่มาช่วยในการบอกเล่าประวัติศาสตร์ของย่านตลาดน้อย เมื่อกดตู้แรกเรียบร้อย มิชชันถัดไปคือหาตู้กาชาปองในย่านตลาดน้อยให้เจอ หมุนดีๆ คุณจะได้ของที่ระลึกเป็นโมเดลตึกเก่ายานเจริญกรุงน่ารักๆ กลับบ้านด้วย 

 

จัดแสดงถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2564       

 

 

#7 O.P. Place: ศูนย์รวมงานแสดง 

ห้องในอาคาร O.P. Place เป็นศูนย์กลางที่รวมงานแสดงทั้งหมดไว้ที่นี่ ไฮไลต์ที่เราอยากให้คุณแวะไปชมคือ 12. ‘Pinij’ Mindfulness Quarantine นิทรรศการรวมศิลปินที่ถ่ายทอดมุมมองที่มีต่อการกักกัน ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานั่นเอง นอกจากนี้ยังมีอีก 3 ผลงานจาก Envision Bangkok ที่จัดแสดงที่นี่ด้วยเช่นกัน 

 

 

#8 อาคารอีสต์ เอเชียติก: Bangkok Projection Mapping Competition 2021 (BPMC2021) 

หลังจากเดินดูงานแสดงส่วนอื่นๆ จนครบ เมื่อพระอาทิตย์ตกดินก็ถึงคิวของงานไฟที่เป็นอีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญอย่าง 13. Bangkok Projection Mapping Competition 2021 (BPMC2021) การประกวดออกแบบสื่อภาพเคลื่อนไหว ซึ่งปีนี้มาภายใต้ธีม ‘Wish (คำอธิษฐานและความหวัง)’ ซึ่งผู้ที่เข้ารอบทั้งหมดจะได้จัดแสดงในงานปีนี้ 

 

จัดแสดงถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2564 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมและจองเข้าชมได้ที่ https://www.facebook.com/BPMC.Official/ 

 

ภาพ: รัชพล ตันศิริ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X