วานนี้ (6 กุมภาพันธ์) ทีมช่างภาพข่าว THE STANDARD ได้เก็บภาพกิจกรรม Bangkok Design Week 2023 ภายใต้ธีม ‘urban‘NICE’zation เมือง-มิตร-ดี’ กิจกรรมที่จัดต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 4-12 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อยกระดับพื้นที่นำร่องทั้ง 9 ย่าน สู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ระดับโลก ได้แก่
- เจริญกรุง-ตลาดน้อย
- เยาวราช
- สามย่าน-สยาม
- อารีย์-ประดิพัทธ์
- พระนคร / ปากคลองตลาด / นางเลิ้ง
- วงเวียนใหญ่-ตลาดพลู / คลองสาน
- บางโพ
- พร้อมพงษ์
- เกษตรฯ และพื้นที่อื่นๆ
สำหรับเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ หรือ Bangkok Design Week เป็นเทศกาลสำคัญที่ได้รับการบรรจุไว้ในปฏิทินกิจกรรมของกรุงเทพมหานคร (กทม.) และเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมทั้งร่วมผลักดันกรุงเทพฯ ให้เติบโตและโดดเด่นในฐานะเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network) ในสาขาด้านการออกแบบ (Bangkok City of Design)
ดำเนินการโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับ กทม. และผู้ร่วมจัดเทศกาลฯ ทั้งภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรระหว่างประเทศกว่า 60 หน่วยงาน รวมถึงนักออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์กว่า 2,000 ราย โดยมียอดผู้เข้าชมงานทั้งไทยและต่างประเทศรวมแล้วมากกว่า 4 แสนคนในแต่ละปี
เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ไม่เพียงส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย ทั้งในแง่ของการเป็นเวทีแสดงผลงานของนักออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์ การกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน ตลอดจนการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ และยังส่งผลกระทบเชิงบวกที่ขยายผลสู่ธุรกิจแวดล้อมต่างๆ เช่น การตลาด การพิมพ์ สื่อออนไลน์ แกลเลอรี ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ธุรกิจของฝาก-ของที่ระลึก โลจิสติกส์ การท่องเที่ยว ที่พักโรงแรม บริการขนส่งมวลชน
สำหรับแนวคิดปีนี้ เทศกาลฯ ตีโจทย์ของงานออกแบบที่ต้องสร้างเมืองที่เป็นมิตรต่อคน และสร้างคนที่เป็นมิตรต่อเมือง และทำกรุงเทพฯ ให้กลายเป็นเมืองที่ ‘urban‘NICE’zation เมือง-มิตร-ดี’ ยิ่งขึ้น ผ่าน 6 มิติ ได้แก่ มิตรที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม มิตรที่ดีต่อคนเดินทาง มิตรที่ดีต่อวัฒนธรรม มิตรที่ดีต่อธุรกิจ มิตรที่ดีต่อชุมชน และมิตรที่ดีต่อความหลากหลาย
พร้อมทั้งเป็นแพลตฟอร์มสนับสนุนการรวมตัวของกลุ่มนักออกแบบ นักสร้างสรรค์ และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สาขาต่างๆ แสดงศักยภาพผ่านงานดีไซน์ พร้อมให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมกันคิด ค้น สร้างโมเดลงานออกแบบที่ช่วยพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกๆ คน ไปพร้อมกัน โดยการดึงสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม และอัตลักษณ์วิถีชุมชนมาเป็นต้นทุน
หอเก็บน้ำประปาแห่งแรกในประเทศไทย ที่ประปาแม้นศรี
นิทรรศการหลุดกรอบพร้อมออกคอมฟอร์ตโซน ที่ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ถนนเยาวราช เขตสัมพันธวงศ์
นิทรรศการจากวัสดุเหลือใช้จากอุตสาหกรรมอาหาร สร้างสรรค์เป็นของใช้ของแต่งร้านที่มีประโยชน์ ที่อาคารไปรษณีย์กลางบางรัก ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ
นิทรรศการไม่มีของเสีย แต่มีเพียงทรัพยากรที่มีคุณค่า ที่อาคารไปรษณีย์กลางบางรัก ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ
ผู้เข้าชมสามารถโต้ตอบกับงานศิลปะ เป็นส่วนหนึ่งของสนามพลังธรรมชาติ และสังเกตความเปลี่ยนแปลงของสภาวะมวลรวม ที่อาคารไปรษณีย์กลางบางรัก ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ
โรงเจบุญสมาคม นำเสนอการแสดงงิ้วจากคณะอุปรากรจีนชื่อดัง รูปแบบภาษาไทย ที่โรงเจบุญสมาคม เยาวราช
นิทรรศการการสร้างขอบเขตโดยใช้วัสดุจากในย่าน ก่อให้เกิดการลื่นไหลของพื้นที่ภายในเมือง ที่ประปาแม้นศรี
นิทรรศการว่าด้วย Typography และป้ายบนถนนบำรุงเมือง โดยกลุ่มเซียมไท้ ที่ประปาแม้นศรี
สวนลับ ชวนสัมผัสกับพื้นที่สีเขียวแบบตัวต่อตัว โดยในพื้นที่อุดมไปด้วยพืชพันธุ์ที่เขียวชอุ่ม และความหลากหลายทางชีวภาพที่อุดมสมบูรณ์ ที่ประปาแม้นศรี
พื้นที่ในลานกลางแจ้ง สถานที่แห่งการพักผ่อน และสร้างโอกาสให้ผู้คนที่หลากหลายได้พูดคุยและใช้เวลาร่วมกัน ที่ประปาแม้นศรี
การออกแบบแสงสว่างทางสถาปัตยกรรมโดย FOS Design Studio ส่วนหนึ่งของโครงการ Unfolding Bangkok-Living Old Building ที่ประปาแม้นศรี
กิจกรรมเพนต์หน้ากากงิ้ว ที่โรงเจบุญสมาคม เยาวราช
อุปรากรจีน แสดงวิธีการแต่งหน้าโชว์นักท่องเที่ยว ที่โรงเจบุญสมาคม เยาวราช
ผู้เข้าชมสามารถโต้ตอบกับงานศิลปะ เป็นส่วนหนึ่งของสนามพลังธรรมชาติ และสังเกตความเปลี่ยนแปลงของสภาวะมวลรวม ที่อาคารไปรษณีย์กลางบางรัก ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ
นิทรรศการหลุดกรอบพร้อมออกคอมฟอร์ตโซน ที่ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ถนนเยาวราช เขตสัมพันธวงศ์