คุณคงเคยได้ยินชื่องาน ‘Bangkok Design Week 2018’ หรือ ‘เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2561’ กันผ่านหูมาบ้างแล้ว ซึ่งหลายๆ คนอาจจะไม่เคยรู้ว่ากิจกรรมนี้คืออะไร และเกิดขึ้นมาด้วยจุดประสงค์อะไร? กับกิจกรรมความยาว 9 วันที่จะรังสรรค์พื้นที่ในกรุงเทพฯ ทั้ง 5 พื้นที่ให้กลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์ทั้งงานศิลปะ งานเสวนา การพัฒนาพื้นที่เมือง รวมไปถึงงานตลาดนัดครีเอทีฟที่น่าสนใจ
ภาพโปสเตอร์ของงาน Bangkok Design Week 2018
THE STANDARD ได้รับโอกาสพิเศษจากศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ TCDC นั่งคุยกับ คุณกิตติรัตน์ ปิติพานิช รักษาการผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ และคุณพิชิต วีรังคบุตร ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ เกี่ยวกับเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงปลายเดือนมกราคมนี้ ก่อนจะพบว่านี่ไม่ใช่แค่งานที่รวบรวมผลงานในอุตสากรรมการออกแบบ แต่มันคือการสำรวจวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ ผ่านงานออกแบบ ทั้งยังเป็นการปูพรมแดงให้กรุงเทพฯ ขับเคลื่อนตัวเองไปสู่การเป็นเมืองหลวงของการออกแบบโลกอีกด้วย แต่จะทำด้วยวิธีการอย่างไร และมีอะไรน่าสนใจบ้าง
ทุกคนในกรุงเทพฯ คือเจ้าของร่วม
จริงๆ แล้วเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ นี้จัดขึ้นมาโดยมีแม่งานหลักคือ TCDC หรือ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ก็จริง แต่ TCDC เองก็มีหน้าที่เป็นเพียงตัวกลางที่ควบรวมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนไว้ด้วยกันเพื่อจัดงานดังกล่าวนี้ขึ้นมา โดยจุดประสงค์หลักก็เพื่อแสดงศักยภาพของกรุงเทพฯ ในเรื่องของ ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ (Creative Economy) ผ่านการใช้ความคิดสร้างสรรค์และงานออกแบบ นอกจากนี้ยังส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยให้เป็นหนึ่งในฐานะกลไกขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจภาพรวมทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้รัฐบาลไทยและ TCDC ตั้งเป้าให้เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ กลายเป็นเทศกาลประจำปีที่จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว และสร้างภาพลักษณ์ความเป็นเมืองสร้างสรรค์ให้กับกรุงเทพฯ ให้เทียบเท่าระดับชั้นนานาชาติ โดย TCDC เองยังต้องการจะผลักดันให้สิ่งเหล่านี้ไปไกลถึงการยกระดับให้กรุงเทพฯ เป็น World Design Capital® หรือ ‘เมืองหลวงแห่งการออกแบบโลก’ ในปี 2022 ที่จะถึงนี้อีกด้วย
มิติของงานสร้างสรรค์ที่ไม่ใช่แค่การออกแบบ
คุณอาจจะเข้าใจว่าเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ นั้นจะเป็นเรื่องแค่ของคนในแวดวงการออกแบบเท่านั้น แต่เทศกาลนี้จัดขึ้นให้บุคคลทั่วไปได้เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการฉายภาพอนาคตของกรุงเทพฯ ทางผู้จัดงานนั้นตั้งใจมุ่งไปยังกลุ่มของคนที่ชอบการเคลื่อนไหวใหม่ๆ ในสังคม หรือต้องการสร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคมผ่านมุมมองของงานสร้างสรรค์ รวมถึงการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบแก้ไขปัญหาในสังคม
เทศกาลงานออกแบบครั้งแรกของกรุงเทพฯ นี้ จึงมีธีมงานหลักในชื่อ ‘The NEW-ist Vibes…ออกแบบไปข้างหน้า’ เพื่อสะท้อนความเป็นไปได้ใหม่ของกรุงเทพฯ ต่อสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ภายใต้การหยิบบริบทอันมีเสน่ห์ของวิถีชีวิตกรุงเทพฯ มานำเสนอผ่าน มุมมอง รูปลักษณ์ และวิธีการจัดวาง ที่แตกต่างออกไป เช่น ‘Shading Project’ การเข้าไปร่วมกับชุมชนในการออกแบบเส้นทางเดินเท้าให้กับประชาชนในย่านเจริญกรุง เพื่อต่อยอดการสร้างรายได้ในตรอกซอกซอยที่น่าสนใจ หรืออย่างน้อยที่สุดก็เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับประชาชนด้วยการลงไปทำการวิจัยปัญหาการเดินเท้าในชุมชนเหล่านั้น ซึ่งภายในงานจะมีเส้นทางการเดิน (Walking Route) ให้คุณได้ร่วมดื่มด่ำกับกรุงเทพฯ มุมมองใหม่ๆ อีกด้วย
‘Shading Project’ คือกิจกรรมที่ TCDC และชุมชนย่านเจริญกรุงร่วมกันสร้างพื้นที่ใหม่ในตรอกซอกซอยเล็กๆ
ให้สามารถสัญจรหรือเดินเท้าได้อย่างสะดวกสบาย
ทางกลุ่มผู้จัดงานเชื่อว่าหนึ่งในแรงขับเคลื่อนกรุงเทพฯ เกิดจากคนกลุ่มหนึ่งที่รักในการสร้างสิ่งที่ดีกว่าเพื่อลบล้างสิ่งเก่าที่ล้าสมัย การหาหนทางแก้ไขปัญหาในเมืองด้วยวิธีใหม่ๆ รวมไปถึงยังคาดหวังให้การมาร่วมงานนี้เกิดการวิพากษ์สังคมไปพร้อมๆ กันด้วย อย่างเช่นหนึ่งไฮไลต์ในงานอย่างการจัด ‘สวนสาธารณะลอยน้ำ’ ซึ่งไม่ได้ต้องการสร้างสรรค์สิ่งนี้มาเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดพื้นที่สีเขียวในเมือง แต่เป็นการแสดงภาพให้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวเพื่อต่อยอดไปยังการวิพากษ์และหาหนทางใหม่ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมากกว่า
ภาพต้นแบบของ ‘สวนสาธารณะลอยน้ำ’
ซึ่งจะเทียบท่าอยู่ที่บริเวณท่าน้ำของตึก CAT ย่านเจริญกรุง
9 วัน 5 ย่าน 6 กิจกรรม
Bangkok Design Week จะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ 2561 เพื่อให้คุณได้สัมผัสกรุงเทพฯ ในมุมมองใหม่ ที่เต็มไปด้วยบรรยากาศของความครีเอทีฟใน 5 พื้นที่ของกรุงเทพฯ ได้แก่ เจริญกรุง คลองสาน สามย่าน พระราม 1 และสุขุมวิท โดยมีการรวบรวมผลงานและการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ 6 รูปแบบ ได้แก่
- งานจัดแสดงผลงานสร้างสรรค์และนิทรรศการ (Design Showcase & Exhibition)
- กิจกรรมชุมนุมทางความคิดและทอล์ก (Symposium & Talk)
- กิจกรรมสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ (Business Program)
- กิจกรรมพัฒนาย่านสร้างสรรค์ (Creative District & Social Project)
- กิจกรรมสร้างสรรค์ (Creative Program)
- ครีเอทีฟ มาร์เก็ต (Creative Market)
โดยในแต่ละพื้นที่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในการเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล โดยแต่ละโซนของกรุงเทพฯ จะถูกแบ่งกิจกรรมไว้ดังนี้
เจริญกรุง
เส้นถนนสายหลักของการจัดเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2561 โดยร้านอาหาร แกลเลอรี ชุมชน และสถานที่สำคัญต่างๆ บนถนนเจริญกรุง ตั้งแต่ โซวเฮงไถ่ ชุมชนตลาดน้อย อาคารไปรษณีย์กลาง โอ.พี. เพลส จะถูกเนรมิตเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ มากมาย
- การจัดแสดงศิลปะสถาปัตยกรรมพาวิลเลียนจากขยะพลาสติกรีไซเคิล ‘Waste Side Story by PTTGC’ ณ บริเวณลานหน้าอาคารไปรษณีย์กลาง
- เสวนา ธุรกิจ ‘กินดี’ ทำอย่างไรให้อยู่รอด? จากผู้บุกเบิกการทำอาหาร พล ตัณฑเสถียร และเจ้าของคอฟฟี่บีนส์บายดาว ณ ชั้น 4 ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ
- ‘ลานปล่อยแสง’ ตลาดสินค้าสร้างสรรค์ฝีมือนักศึกษา ณ ลานใบไม้ ยิบอินซอย
คลองสาน
พื้นที่อีกฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีศักยภาพในการพัฒนาสู่ย่านสร้างสรรค์ และเป็นอีกหนึ่งบริเวณหลักในการจัดงานหลักในย่านคลองสาน
- The Jam Factory และ ล้ง 1919 จะเป็นสถานที่หลักในการจัดแสดง ‘International Exhibition’ นิทรรศการแสดงผลงานออกแบบนานาชาติที่สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นตัวตนในด้านความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบจาก 5 ประเทศ ได้แก่ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง และไต้หวัน
สามย่าน
หนึ่งพื้นที่สำคัญที่รวบรวมเยาวชน และเต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งการศึกษาเรียนรู้ ที่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลด้วยการจัดกิจกรรมต่างๆ
- ‘สัมมนาและเวิร์กช็อปจัดแต่งดอกไม้และผลไม้ลงกล่อง’ ณ TCDC COMMONS ที่ Ideo Q จุฬา-สามย่าน
- การเปิดบ้าน และจัดแสดงนิทรรศการผลงานนักศึกษาออกแบบนิเทศศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พระราม 1
คืออีกย่านใจกลางเมืองของกรุงเทพฯ ที่เต็มไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยว และห้างสรรพสินค้าต่างๆ ซึ่งจะถูกเติมเต็มด้วยนิทรรศการ งานโชว์เคส และกิจกรรมสร้างสรรค์มากมาย
- ‘สยามดีไซน์ไซต์’ คือการจัดอาร์ตอินสตอลเลชัน นิทรรศการ และกิจกรรมสร้างสรรค์ยาวรวดไปตั้งแต่ สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ และสยามพารากอน
- นิทรรศการจากลุ่มสถาปนิก ‘Lenarai’ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
- ‘Fuzz Up The Store’ พื้นที่จำหน่ายผลงานของนักออกแบบรุ่นใหม่ที่ได้รับการดูแลจากแบรนด์ที่มีชื่อเสียง ณ ชั้น 3 ห้างสรรพสินค้าสยามดิสคัฟเวอรี่
สุขุมวิท
พื้นที่ธุรกิจสำคัญของกรุงเทพฯ ที่ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการสร้างสรรค์ต่างๆ ในการจัดกิจกรรม เวิร์กช็อป และนิทรรศการ
- เสวนาเทรนด์วัสดุไม้จากสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญงานไม้ชาวญี่ปุ่น ณ ห้องแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์ DEESAWAT
- กิจกรรมเปิดบ้าน ‘THANN Open House’ กับการประยุกต์ใช้ข้าวไทย ต่อยอดภูมิปัญญาสู่ผลิตภัณฑ์ด้านความงาม
- เวิร์กช็อปการทำสบู่จากน้ำมันพืชปรุงอาหาร ‘Soap Making by Recycling Cooking Oil’ ที่ theCOMMONS ในซอยทองหล่อ
กิจกรรมเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ ‘Bangkok Design Week 2018’ เท่านั้น เพราะยังมีกิจกรรมอีกมากมายรอคอยให้คุณไปสัมผัสประสบการณ์ใหม่ของกรุงเทพฯ อยู่ นอกจากจะเต็มไปด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์และน่าสนใจแล้ว คุณเองยังมีส่วนรวมในการขับเคลื่อนประเทศไปพร้อมๆ กันด้วย เพื่อแสดงศักยภาพตลาดของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในกรุงเทพฯ ของเรา ซึ่งเพียบพร้อมและน่าสนใจไม่แพ้ใคร
THE STANDARD จะอัพเดตกิจกรรมจาก Bangkok Design Week 2018 ให้คุณอีกครั้ง ก่อนอื่นลองไปทำความรู้จักกับเทศกาลนี้ได้ที่ www.bangkokdesignweek.com และ www.facebook.com/bangkokdesignweek
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องได้ที่
- โลโก้งานที่คุณเห็นนั้นได้แรงบันดาลใจมาจากการจัดเรียงตัวอักษรให้เป็นเส้นทางคดเคี้ยวของแม่น้ำเจ้าพระยา อันเป็นแม่น้ำสายหลักของกรุงเทพมหานคร
- TCDC คาดหวังว่าจะมีผู้เข้ามาร่วมงาน Bangkok Design Week ราว 500,000 คนในระยะเวลา 9 วัน โดยล่าสุดที่ TCDC จัดงาน ‘Chiangmai Design Week’ เพียง 5 วันเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พบว่ามีเม็ดเงินหมุนเวียนเกิดขึ้นกว่า 900 ล้านบาท!