วันนี้ (11 มกราคม) ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) การประชุมสภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2566
สุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตจอมทอง ได้เสนอที่ประชุมให้รวมญัตติ เรื่องขอให้สภา กทม. ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาระบบขนส่งมวลชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และญัตติของ นภาพล จีระกุล ส.ก. เขตบางกอกน้อย เรื่องขอให้สภา กทม. ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษา เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เนื่องจากทั้งสองญัตติเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดเดียวกัน เพื่อให้ ส.ก. ได้อภิปรายในคราวเดียวกัน
จากนั้นที่ประชุมสภา กทม. ได้มีมติให้ความเห็นชอบ และใช้ชื่อญัตติ เรื่องขอให้สภา กทม. ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว
ที่ประชุมระบุว่า ตามที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ให้บริการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ และเพื่อเพิ่มทางเลือกในการเดินทางที่มีประสิทธิภาพ ประหยัด และปลอดภัยให้ประชาชน
กทม. ได้ดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2566 ลงวันที่ 11 เมษายน 2565 บูรณาการในเรื่องของการบริหารจัดการในเส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามเส้นทางสัมปทาน ส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 เพื่อให้การเดินรถเป็นไปอย่างต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน (Through Operation) และอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน ซึ่งดำเนินการเรียบร้อยแล้วนั้น
ปัจจุบัน กทม. มีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวและภาระหนี้จากโครงการฯ มีมูลค่าสูง เป็นรายจ่ายที่ กทม. ไม่สามารถที่จะจัดสรรงบประมาณของ กทม. เนื่องจาก กทม. มีภารกิจที่ครอบคลุมหลายด้าน ทั้งด้านการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม จึงจำเป็นต้องศึกษาในเรื่องนี้พร้อมเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินโครงการและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
สุทธิชัยกล่าวว่า เรื่องรถไฟฟ้า กทม. ได้ดำเนินการมานาน กทม. จำเป็นต้องศึกษาปัญหา-อุปสรรคที่เกิดขึ้น เนื่องจากมีประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ส.ก. จึงต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของ กทม. ซึ่งก็คือความเดือดร้อนของคนกรุงเทพฯ ด้วย
ทั้งนี้ ส.ก. ได้ร่วมกันอภิปรายประเด็นปัญหาต่างๆ ซึ่งเกิดจากการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว
จากนั้นที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับญัตติ เรื่องขอให้ สภา กทม. ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และเสนอให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญฯ 23 คน โดยเป็น ส.ก. 18 คน และฝ่ายบริหาร 5 คน โดยไม่กำหนดระยะเวลาในการศึกษา