วันนี้ (7 กรกฎาคม) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) นฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตคลองสามวา ในฐานะโฆษกสภากรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 3 (ครั้งที่ 1) ประจำปี 2565 ซึ่งมี วิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม ว่าที่ประชุมใช้เวลาการพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พ.ศ. …. ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2
โดยในวันนี้ ส.ก. ได้ร่วมกันอภิปรายรายละเอียดภาพรวมการตั้งงบประมาณหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ทั้งในระดับสำนักและสำนักงานเขต และปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนควบคู่กัน เช่น ด้านการสาธารณสุข ระบบส่งต่อ การดูแลผู้ป่วยในสถานการณ์ฉุกเฉินและวิกฤต, ด้านความปลอดภัย การอบรมให้ความรู้การป้องกันเหตุอัคคีภัย โดยสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, ด้านการศึกษา การพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และการดูแลสวัสดิการครูพี่เลี้ยง คุณภาพของอาหารกลางวันและนมโรงเรียน โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร, ปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่เขตต่างๆ, การจัดเก็บภาษีให้ครอบคลุม, การกำหนดจุดติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการปรับปรุงคุณภาพถนน ตรอก ซอก ซอย และการเพิ่มอัตรากำลังพนักงานกวาดให้สอดคล้องกับพื้นที่
รวมถึง ส.ก. ได้อภิปรายภายใต้ความระมัดระวังและความรอบคอบ โดยคำนึงถึงข้อจำกัดของสภากรุงเทพมหานคร ซึ่งไม่ได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองในการแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นดังเช่นรัฐสภา สำหรับในแต่ละประเด็นที่มีการอภิปราย รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครซึ่งกำกับดูแลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ตอบประเด็นคำถามอย่างต่อเนื่องในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
โดยในเวลา 15.30 น. สภากรุงเทพมหานครได้ลงมติเห็นชอบในหลักการ และตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 62 ท่าน แบ่งเป็นฝ่ายสภา กทม. 47 ท่าน และฝ่ายบริหาร 15 ท่าน
กำหนดแปรญัตติภายใน 15 วัน และกำหนดระยะเวลาการพิจารณา 45 วัน เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมสภา กทม. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนประกาศใช้ข้อบัญญัติอีกครั้งในวันที่ 18 สิงหาคม 2565 เพื่อทันให้หน่วยงานนำไปใช้ในการดำเนินภารกิจดูแลทุกข์-สุขของพี่น้องประชาชนต่อไป
นฤนันมนต์กล่าวว่า ในการบริหารราชการกรุงเทพมหานครแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ทำหน้าที่ในส่วนของฝ่ายบริหาร กำหนดนโยบาย และสภากรุงเทพมหานคร ทำหน้าที่ในส่วนของฝ่ายนิติบัญญัติ ตรวจสอบ ติดตามการบริหารราชการของฝ่ายบริหาร เสนอและพิจารณาให้ความเห็นชอบข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานคร รวมถึงการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีของ กทม. ให้เกิดความคุ้มค่าและโปร่งใส โดยทั้งสองส่วนเป็นผู้ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำหน้าที่คนละมิติ แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือเพื่อประโยชน์และคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวกรุงเทพฯ
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ได้กล่าวในที่ประชุมสภา กทม. ว่าการอภิปรายครั้งนี้เหมือนกับการเห็นปัญหาที่แท้จริง ต้องขอบคุณคำอภิปรายของ ส.ก. ทุกท่าน เป็นคำอภิปรายที่มีคุณค่า ทุกข้อที่เสนอมาจะรับและนำไปสั่งการปฏิบัติ เนื่องจากเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ถือว่าเป็นความร่วมมือกัน งบบางส่วนอาจจะดูน้อย แต่จริงๆ แล้วจะมีงบอุดหนุนรัฐบาลอีกส่วนหนึ่ง เช่น งบการศึกษา ซึ่งรัฐจะสนับสนุน หากพิจารณาสิ่งที่ ส.ก. อภิปราย จะเห็นว่าปัญหาที่ท่านนำเสนอเป็นปัญหาเดียวกับที่เราได้กำหนดนโยบาย
กทม. มีทั้งระบบเส้นเลือดใหญ่และเส้นเลือดฝอย ระบบเส้นเลือดใหญ่จะอยู่ที่สำนัก เป็นโครงการใหญ่ที่ใช้เงินเป็นจำนวนมาก แต่เส้นเลือดฝอยจะอยู่ที่เขตมากกว่า ที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับเส้นเลือดใหญ่มากกว่า ทำให้งบประมาณบางครั้งจะอยู่ที่สำนัก แต่ ส.ก. เห็นตรงกันว่าปัญหาส่วนใหญ่จะอยู่ที่คนในพื้นที่ อยู่ที่เส้นเลือดฝอย งบประมาณจึงควรอยู่ที่เส้นเลือดฝอย และทำให้ชัดเจนขึ้น
ปัญหาหลักตอนนี้คือ รายได้ของ กทม. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หลายท่านกังวลถึงประสิทธิภาพในการจัดเก็บ ซึ่งก็เห็นด้วยว่าฐานข้อมูลตรงนี้ยังไม่ครบถ้วน หากพัฒนาฐานข้อมูลได้ละเอียดจะทำให้การจัดเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น รวมถึงการจัดเก็บภาษีป้าย เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับ กทม. โดยข้อมูลการจัดเก็บภาษีทั้งหมดจะเปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบด้วย เพื่อให้เกิดความโปร่งใส สำหรับข้อกังวลเรื่องค่าจัดเก็บขยะของห้างสรรพสินค้า ในความเป็นจริงสถานประกอบการขนาดใหญ่จะมีวิธีการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ มีการรีไซเคิล นำไปใช้ประโยชน์ต่อได้มาก ดังนั้นเมืองเองควรเรียนรู้จากภาคเอกชน ในส่วนของเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว เรื่องภาระหนี้ ซึ่งต้องพิจารณาที่มาที่ไปให้รอบคอบต่อไป ซึ่งต่อไปจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกับสภา กทม. เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และเป็นไปตามข้อบังคับที่ควรจะเป็น สำหรับการติดตามประสิทธิภาพการใช้งบประมาณ ขอยืนยันว่าคณะผู้บริหารชุดนี้มีนโยบายที่จะใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าสูงสุด ยินดีที่ ส.ก. จะมาร่วมตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณให้เข้มข้นมากขึ้น
ชัชชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า ประเด็นทั้งหมดจะรับไปดูรายละเอียดและหาวิธีการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ ส.ก. ได้อภิปราย เช่น ปัญหาขยะตกค้าง, ถนนชำรุด, การขุดลอกคลองและท่อระบายน้ำ, การเตรียมพร้อมนโยบายการเปิดเมือง, การดูแลกลุ่ม 608, กองทุนพัฒนาชุมชน, สวัสดิการครูพี่เลี้ยงเด็ก, ปัญหาไฟฟ้าแสงสว่าง, การเพิ่มโรงพยาบาล และระบบสาธารณสุขในระดับปฐมภูมิ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของ กทม., การปรับปรุงสวนสาธารณะ, การเปิดพื้นที่ให้เป็นตลาดเพื่อสร้างเศรษฐกิจและเป็นแหล่งทำมาหากินให้ประชาชน, ความล่าช้าการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ, การแก้ไขระเบียบ กทม. เกี่ยวกับเบิกค่าใช้จ่าย และการจัดหาเครื่องมือดับเพลิงให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และความต้องการ ทั้งนี้ ข้อมูลของ ส.ก. มีคุณค่า เนื่องจากทุกท่านเข้าถึงประชาชนและเห็นปัญหามากกว่าตน ทุกเรื่องจะรับ จัดลำดับความสำคัญของปัญหา และรีบไปดำเนินการให้โดยเร็วที่สุด ขอบคุณท่านประธาน สมาชิก ทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน บรรยากาศเป็นอันหนึ่งอันเดียว การพูดกับสมาชิกเหมือนกับการพูดกับประชาชน เพราะท่านเป็นตัวแทนที่มีเกียรติที่มาจากการเลือกของประชาชน