×

อยู่แล้วชีวิตดี แต่ไม่ถูก! ‘กรุงเทพฯ’ ติดอันดับ 11 ของโลกในฐานะเมืองที่กลุ่มคนรวยยังมองว่าค่าครองชีพ ‘แพง’

24.01.2024
  • LOADING...

จากเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลกเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา บางคนอาจเกิดคำถามว่าเมืองต่างๆ บนโลกมีค่าครองชีพที่สูงขึ้นกันมากน้อยแค่ไหนบ้าง และสำหรับคนรวยที่มีวิถีชีวิตค่อนข้างพรีเมียม พวกเขาคิดเห็นกันอย่างไร?

 

หากพูดให้เข้าใจง่ายๆ จุดประสงค์ของการสำรวจก็คือการทำความเข้าใจว่าในสายตาของคนรวยนั้น เมืองไหนที่พวกเขาคิดว่าต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อให้ได้ชีวิตแบบ ‘อยู่ดี กินดี’ หรือสถานที่ที่แม้แต่คนรวยก็ยังมองว่าแพง

 

เอเชียคว้าแชมป์ภูมิภาคที่การมี ‘ชีวิตดี’ ต้องแลกมาด้วยเงินก้อนโต

 

Julius Baer ได้จัดทำรายงาน Global Wealth and Lifestyle Report 2023 เพื่อสำรวจค่าครองชีพของการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ผ่าน ‘ตะกร้า’ ข้าวของเครื่องใช้ที่กลุ่มคนรวย (HNWIs) นิยมบริโภคกันอยู่ในชีวิตประจำวันประมาณ 20 รายการ เช่น รถยนต์ วิสกี้ ไวน์ ตั๋วเครื่องบินชั้นธุรกิจ ฯลฯ โดยรายงานจะเรียกตะกร้าดังกล่าวที่ถูกใช้เป็นดัชนีชี้วัดว่า Julius Baer Lifestyle Index ซึ่งการสำรวจนี้จัดทำในเมือง 25 แห่งทั่วโลก

 

ผลปรากฏว่าตะกร้าสินค้าและบริการในดัชนี Julius Baer Lifestyle Index มีราคาเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 13% ใน 1 ปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบเป็นสกุลเงินต่างๆ ของแต่ละประเทศที่ถูกคิดเฉลี่ยรวมกันออกมา แต่หากเทียบเป็นหน่วยดอลลาร์สหรัฐแล้วนั้นราคาของตะกร้านี้จะเพิ่มขึ้นเพียงราว 6% ในระยะเวลาเดียวกัน

 

มากันที่ระดับภูมิภาค เอเชียยังครองตำแหน่งการเป็นศูนย์กลางความมั่งคั่ง จากการที่เมืองหลัก 6 แห่งในเอเชียทำอันดับสูงขึ้น โดย 3 อันดับแรกของเมืองที่มีค่าครองชีพสูงอย่างสิงคโปร์ เซี่ยงไฮ้ และฮ่องกง ล้วนตั้งอยู่ในเอเชียทั้งสิ้น หมายความว่าการใช้ชีวิตที่เมืองในเอเชียส่วนใหญ่มีต้นทุนการรักษามาตรฐานคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้นนั่นเอง

 

สำหรับประเภทสินค้าที่แพงขึ้นลำดับต้นๆ ในหัวเมืองหลักของภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ โรงแรมห้องสวีท (+39%), ตั๋วเครื่องบินชั้นธุรกิจ (+33%), รถยนต์ (+25%) และไวน์ (+25%) 

 

กรุงเทพฯ เฉียดติดท็อป 10 ของเมืองที่เศรษฐีบอกว่าแพงขึ้น

 

กรุงเทพฯ บ้านเราก็เป็น 1 ใน 6 ของเมืองที่ค่าครองชีพสำหรับคนรวยปรับตัวเพิ่มขึ้น เพราะเมื่อย้อนกลับไปปี 2022 กรุงเทพฯ ยังอยู่ในอันดับที่ 15 ของเมืองที่ค่าครองชีพสูงในการมีไลฟ์สไตล์แบบ ‘อยู่ดี กินดี’ แต่พอมาปี 2023 เรากลับไต่ระดับสูงขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 11 ของโลก และอันดับ 5 ในเอเชีย

 

สิ่งของที่แพงขึ้นในกรุงเทพฯ จากปี 2022 มา 2023 ผ่านผลสำรวจนี้ที่เห็นได้ชัดได้แก่

 

  1. โรงแรมห้องสวีท (+83%)
  2. รถยนต์ (+26%)
  3. ตั๋วเครื่องบินชั้นธุรกิจ (+19%)
  4. กระเป๋าถือสำหรับสุภาพสตรี (+16%)
  5. จักรยาน (+15%)

 

นอกจากนี้ รายงานยังเผยว่ากรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในเมืองที่มีแนวโน้มที่จะไต่อันดับขึ้นไปอีกในอนาคต 

 

Christian Gattiker หัวหน้าฝ่ายวิจัย Julius Baer กล่าวว่า “ราคาข้าวของพรีเมียมที่พุ่งสูงขึ้นนั้นหมายความว่าเหล่าเศรษฐีจะต้องสร้างผลตอบแทนให้ได้มากกว่า 6% (ค่าเฉลี่ยมูลค่าของตะกร้าสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นในหน่วยดอลลาร์สหรัฐ) ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อที่จะรักษามาตรฐานการใช้ชีวิตแบบเดิม”

 

อย่างไรก็ตาม หากเทียบ ‘ตะกร้าสินค้าและบริการ’ อันเดียวกันเป็นสกุลเงินอื่นๆ ผลตอบแทนที่ต้องสร้างให้ได้ก็จะแตกต่างกันออกไปตามอัตราเงินเฟ้อเมืองในประเทศนั้นๆ โดยบางเมืองอาจต้องมากกว่าหรือน้อยกว่า 13% ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยราคาข้าวของที่แพงขึ้นในดัชนี Julius Baer Lifestyle Index

 

*หมายเหตุ: ข้อมูลจากรายงานดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการเปรียบเทียบ และอาจไม่ได้สะท้อนการใช้ชีวิตของผู้มีความมั่งคั่งสูงอย่างครบถ้วน เพียงแต่เป็นการคัดเลือกสินค้าและบริการที่เป็นตัวแทนของสิ่งที่คนกลุ่มนี้มักเลือกใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันของตัวเอง

 

ภาพ: Viewstock

อ้างอิง: 

  • Julius Baer: Global Wealth and Lifestyle Report 2023
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising