วันนี้ (5 ตุลาคม) ไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้รับแจ้งจากกรมชลประทานว่า ประเทศไทยตอนบนมีลักษณะอากาศแปรปรวน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฝนตกหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยปัจจุบันน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณ 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
จากการคาดการณ์ปริมาณน้ำล่วงหน้า 1-7 วันข้างหน้า คาดว่าในวันที่ 11 ตุลาคม 2567 ที่สถานี C.2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 2,200-2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคาดการณ์ปริมาณน้ำ Side Flow ประมาณ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ร่วมกับคาดการณ์ปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง ประมาณ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณ 2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และรับน้ำเข้าระบบกรมชลประทานทั้ง 2 ฝั่งในอัตรา 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ทั้งนี้ จึงมีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราไม่เกิน 2,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะมีการระบายเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได ซึ่งส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 0.60-0.70 เมตร ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง, คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา, ตำบลลาดชิดและตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย), วัดสิงห์ อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี, อำเภอเมืองสิงห์บุรีและอำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี, วัดไชโยวรวิหาร อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง, ตำบลโพนางดำตกและตำบลโพนางดำออก อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท, วัดเสือข้าม อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี และอำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชนตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ กอปภ.ก. จึงได้ประสาน 10 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ อุทัยธานี, ชัยนาท, สิงห์บุรี, อ่างทอง, สุพรรณบุรี, พระนครศรีอยุธยา, ลพบุรี, ปทุมธานี, นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมถึงกรุงเทพมหานคร เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ
พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชนที่ประกอบกิจการในแม่น้ำ เช่น งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง, แพร้านอาหาร และท่าเทียบเรือโดยสารสาธารณะ ตลอดจนประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำ และบริเวณจุดเสี่ยงที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ให้เฝ้าระวังระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ รวมถึงเตรียมพร้อมในการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงให้พ้นจากแนวน้ำท่วม
นอกจากนี้ยังประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ตรวจสอบแนวคันกั้นน้ำและแนวป้องกันน้ำท่วมให้มีความแข็งแรง เพื่อป้องกันระดับน้ำล้นข้ามแนวคันกั้นน้ำ อีกทั้งจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย เพื่อเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง