×

กทม. ปรับปรุงประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ สถานที่ติดป้ายเลือกตั้งใหม่ แจ้งทุกเขตเตรียมพร้อม

โดย THE STANDARD TEAM
22.03.2023
  • LOADING...

วันนี้ (22 มีนาคม) ขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำหรับประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำสถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และสถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 เป็นการปรับปรุงจากประกาศฯ เมื่อปี พ.ศ. 2561 เพื่อให้มีความสอดคล้องกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

 

โดยให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ พ.ศ. 2561 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำสถานที่ปิดแผ่นป้ายประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และสถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้กำหนดขนาด จำนวน วิธีการ และสถานที่ในการปิดประกาศและติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้ดังนี้

 

1. ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองสามารถจัดทำประกาศโดยกำหนดให้เป็นแนวตั้ง ขนาดกว้างไม่เกิน 30 เซนติเมตร สูงไม่เกิน 42 เซนติเมตร พร้อมระบุชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวน และวัน เดือน ปีที่ผลิต โดยผู้สมัครจัดทำประกาศได้ไม่เกินจำนวน 2 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น 

 

พรรคการเมืองจัดทำประกาศได้ไม่เกินจำนวน 2 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตจังหวัดนั้น สำหรับสถานที่ปิดประกาศ ให้ผู้บริหารท้องถิ่นหรือหัวหน้าหน่วยงาน ออกประกาศกำหนดสถานที่ หลักเกณฑ์ วิธีการปิดประกาศ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด โดยผู้สมัครหรือพรรคการเมืองสามารถปิดประกาศได้สถานที่ละ 1 แผ่น 

 

วิธีการปิดประกาศให้เป็นไปตามที่หัวหน้าหน่วยงานกำหนด และห้ามปิดทับซ้อนประกาศของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองอื่น กรณีผู้สมัครหรือพรรคการเมืองปิดประกาศไม่ถูกต้อง ให้หัวหน้าหน่วยงานมีอำนาจสั่งผู้สมัครหรือพรรคการเมือง แก้ไขให้ถูกต้องภายใน 5 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง และแจ้งให้ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดทราบโดยเร็ว ในกรณีผู้สมัครหรือพรรคการเมืองไม่ดำเนินการแก้ไขภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดมีอำนาจรื้อถอน หรือปลดออก หรือสั่งให้หน่วยงานอื่นดำเนินการ โดยคิดค่าใช้จ่ายกับผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้น

 

2. ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองสามารถจัดทำแผ่นป้ายโดยมีขนาดความกว้างไม่เกิน 130 เซนติเมตร ความยาวไม่เกิน 245 เซนติเมตร พร้อมระบุชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวน และวัน เดือน ปีที่ผลิต ไว้ในที่เห็นชัดเจนบนแผ่นป้าย โดยผู้สมัครสามารถจัดทำแผ่นป้ายได้จำนวนไม่เกิน 2 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น พรรคการเมืองจัดทำแผ่นป้ายได้ไม่เกินจำนวน 1 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในจังหวัดนั้น 

 

สำหรับสถานที่ติดแผ่นป้าย ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดจะประสานหารือกับหัวหน้าหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ เพื่อกำหนดสถานที่ติดแผ่นป้าย และผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดจะประกาศสถานที่ติดแผ่นป้าย ก่อนวันปิดรับสมัครเลือกตั้ง ซึ่งสถานที่ติดแผ่นป้ายจะต้องเป็นสาธารณสถาน เช่น บริเวณถนนสาธารณะ ที่สาธารณะ หรือสาธารณสถานอื่นของรัฐที่เห็นสมควร โดยคำนึงถึงความเหมาะสม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาด ความปลอดภัย ความมั่นคงแข็งแรง ไม่บดบังทัศนียภาพและทัศนวิสัยที่ดี ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชน หรือยานพาหนะ จะต้องไม่เป็นการกีดขวางทางสัญจร หรือการจราจร รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของทางราชการหรือประชาชน 

 

ผู้สมัครและพรรคการเมืองอาจติดตั้งแผ่นป้ายขนาดกว้างไม่เกิน 400 เซนติเมตร ยาวไม่เกิน 750 เซนติเมตร ณ ที่ทำการพรรคการเมือง หรือสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด หรือศูนย์อำนวยการการเลือกตั้งได้เขตเลือกตั้งละ 1 แผ่น

 

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยสำนักงานปกครองและทะเบียน ได้ประสานแจ้งทุกสำนักงานเขตให้จัดเตรียมสถานที่ปิดประกาศ และสำรวจสถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ที่ได้ประกาศไว้ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ผ่านมา ว่ายังมีความเหมาะสมอยู่หรือไม่ เพื่อจะได้ดำเนินการออกประกาศ กำหนดสถานที่หลักเกณฑ์และวิธีการปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้ง การกำหนดสถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร ได้แจ้งประสานให้ดำเนินการต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising