×

กทม. แจงเหตุไม่ชำระหนี้ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว ผิดข้อบัญญัติ กทม.-รอคำตอบ ครม. ยันมีเงินพอจ่าย

โดย THE STANDARD TEAM
22.11.2022
  • LOADING...
รถไฟฟ้าสายสีเขียว

วันนี้ (22 พฤศจิกายน) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงกรณีภาระหนี้สินของกรุงเทพมหานคร (กทม.) กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ในส่วนของการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2

 

วิศณุกล่าวว่า สัญญารถไฟฟ้าส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ถ้าพิจารณาจะมีความแตกต่างกัน โดยส่วนที่ 1 กทม. ทำสัญญาจ้างบริหารจัดการระบบกับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ KT จากนั้น KT ทำสัญญาจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงกับ BTSC

 

ส่วนต่อขยายที่ 2 กทม. มอบหมายกิจการให้กับ KT หลังจากนั้น KT ทำสัญญา E&M (สัญญาจ้างการติดตั้งระบบงาน ระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล) และ O&M (สัญญาค่าจ้างการเดินรถ)

 

ทั้งนี้ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณในการก่อหนี้ผูกพันของ กทม. หมวดที่ 3 ข้อ 16 ระบุว่า ในกรณีที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเห็นสมควร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอาจจัดงบประมาณอุดหนุนในการดำเนินงานของบริษัทได้โดยความเห็นชอบของสภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.)

 

ที่ผ่านมาในการดำเนินงานส่วนต่อขยายที่ 1 มีการบรรจุโครงการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครลงในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครในส่วนงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2555 จากนั้นมีการลงนามสัญญาจ้างโครงการบริหารจัดการระหว่าง กทม. และ KT และ KT ได้ลงนามสัญญาให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงกับทางเอกชนต่อ

 

วิศณุกล่าวต่อไปว่า ในข้อบัญญัติของ กทม. เรื่องวิธีการงบประมาณปี 2529 และ 2536 การจะก่อหนี้ผูกพันได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุมัติเงินประจำงวดแล้ว และการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อๆ ไปทางผู้ว่าฯ กทม. จะสั่งก่อหนี้ผูกพันได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจาก สภา กทม. เท่านั้น

 

ทั้งนี้ ขั้นตอนของส่วนต่อขยายที่ 2 ที่ต่างจากส่วนต่อขยายที่ 1 เริ่มจากเดือนสิงหาคม-ธันวาคม ปี 2558 กทม. ออกหลักเกณฑ์ในการมอบหมายงานให้ KT

 

15 มิถุนายน 2559 รักษาการผู้ว่าฯ กทม. ลงนามเห็นชอบมอบหมายให้ KT จัดการเดินรถและตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางการชำระคืนค่า E&M

 

28 มิถุนายน 2559 KT ทำสัญญา E&M กับบริษัทเอกชนมูลค่าสัญญา 19,358 ล้านบาท ทำสัญญาก่อนบันทึกมอบหมาย

 

28 กรกฎาคม 2559 กทม. ลงนามบันทึกมอบหมายระหว่าง กทม. กับ KT ลงนามโดยที่ยังไม่ได้มีการทำโครงการเสนอขออนุมัติงบประมาณจาก สภา กทม.

 

1 สิงหาคม 2559 KT ทำสัญญา O&M กับบริษัทเอกชน มูลค่าสัญญา 161,097.64 ล้านบาท

 

ปี 2561 สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ได้เสนอสำนักงบประมาณเพื่อขอจัดสรรงบประมาณโครงการติดตั้งระบบเดินรถและบริหารจัดการเดินรถระบบขนส่งมวลชนสายสีเขียว ระยะเวลาดำเนินการ 15 ปี ระหว่างปี 2561-2575 วงเงินรวม 31,988,490,000 บาท ทาง สภา กทม. พิจารณาแล้วไม่อนุมัติโครงการดังกล่าว

 

ปี 2564 สจส. เสนอสำนักงบประมาณเพื่อขอจัดสรรงบประมาณในการชำระหนี้ส่วนต่อที่ 1 และ 2 วงเงินรวม 9,246,748,339 บาท สภา กทม. ไม่เห็นชอบให้ กทม. จ่ายขาดเงินสะสม เนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์

 

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการดำเนินการได้มีคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งคณะกรรมการดำเนินการเจรจาพร้อมร่างสัญญา โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบผลการเจรจาและร่างสัญญาร่วมทุนโครงการ

 

ต่อมาในสมัยที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นผู้ว่าฯ กทม. ทางกระทรวงมหาดไทยมีหนังสือแจ้ง กทม. ขอทราบแนวทางดำเนินโครงการ เนื่องจากมีผู้ว่าฯ กทม. และสภา กทม. ชุดใหม่ และผู้ว่าฯ กทม. ได้มีหนังสือตอบกลับ 3 ประเด็นหลัก

 

  1. เห็นพ้องกับนโยบาย Through Operation ให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณสำหรับโครงสร้างพื้นฐานและงานติดตั้งระบบการเดินรถ
  2. เห็นควรที่จะเดินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2562
  3. การหาข้อยุติของ ครม. ตามคำสั่ง คสช. จะทำให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินงาน

 

วิศณุกล่าวต่อไปว่า สำหรับเหตุผลที่ยังไม่สามารถดำเนินการชำระหนี้สินได้เนื่องจากปัจจุบันยังเป็นการดำเนินการตามคำสั่ง คสช. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562

 

ในส่วนต่อขยายที่ 1 กทม. ไม่ได้มีเจตนาจะไม่ชำระหนี้ เนื่องจาก กทม. ได้มีการสนับสนุนค่าบริการเดินรถและซ่อมบำรุงมาตลอดจนถึงเดือนเมษายน 2562 กระทั่งมีคำสั่ง คสช. ได้มีการตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการและได้มีการเจรจาให้เอกชนรับภาระค่าจ้างเดินรถของส่วนต่อขยายที่ 1 ตั้งแต่พฤษภาคม 2562 ระบุไว้ในร่างสัญญาร่วมทุน

 

มูลค่าหนี้อยู่ในระหว่างการอุทธรณ์ค่าดอกเบี้ย เนื่องจาก กทม. ไม่มีเจตนาจะไม่ชำระหนี้ และสัญญาที่ กทม. ทำกับ KT ไม่ได้มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้

 

อีกทั้ง กทม. เห็นว่า KT มีการจ้างที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อตรวจสอบคิดคำนวณค่าจ้างใหม่ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ซึ่งอาจทำให้ยอดหนี้เปลี่ยนไปไม่ตรงกับที่เอกชนฟ้อง

 

ส่วนต่อขยายที่ 2 เนื่องจากบันทึกมอบหมายยังไม่สมบูรณ์ ยังไม่ได้รับการอนุมัติงบประมาณจาก สภา กทม. และ กทม. ไม่ได้มีการทำนิติกรรมโดยตรงกับเอกชน มีเพียงการทำบันทึกมอบหมายให้ KT เท่านั้น นอกจากนี้ในบันทึกข้อตกลงมอบหมายข้อที่ 13.3 ยังมีการระบุไว้ว่า บันทึกข้อตกลงนี้ไม่มีผลทำให้ KT เป็นตัวแทนหรือลูกจ้างของ กทม.

 

ทั้งนี้ การดำเนินการต่อไปในอนาคต เป้าหมายค่าใช้จ่ายที่เป็นหนี้ผูกพันระยะยาวต้องผ่านการพิจารณาของสภา กทม.

 

ส่วนต่อขยายที่ 1 ในส่วนที่มีการดำเนินการครบถ้วนแล้วสามารถชำระหนี้ได้ถ้าหากมีข้อยุติการต่อสัมปทานจาก ครม.

 

ส่วนต่อขยายที่ 2 จะต้องดำเนินการให้ครบถ้วนตามข้อบัญญัติของ กทม.

 

วิศณุกล่าวเสริมว่า ทาง กทม. ต้องรอคำตอบจากที่ประชุม ครม. หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ยื่นหนังสือขอความชัดเจนไป 3 ข้อ ประกอบด้วย

  1. ให้รัฐบาลสนับสนุนงบค่าก่อสร้างและระบบเดินรถ
  2. ผ่านการเห็นชอบส่วนของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2562
  3. ให้ ครม. หาข้อยุติกรณีคำสั่ง คสช. ปี 2562 ตั้งคณะกรรมการเจรจาเรื่องสัญญาสัมปทาน

 

ด้านต่อศักดิ์กล่าวทิ้งท้ายว่า ทาง กทม. เองไม่ได้ขาดงบประมาณหรือมีงบประมาณไม่พอ เพราะเมื่อประเมินจากเงินสะสมในวันที่ 31 ตุลาคม 2565 อยู่ที่ประมาณ 70,000 กว่าล้านบาท และได้สำรองเอาไว้แล้วสำหรับการชำระ 10,000 ล้านบาท แต่ทุกกระบวนการจะต้องมีการแจกแจง เพราะฉะนั้นขอยืนยันว่าไม่ใช่ไม่พร้อมจ่ายแต่กระบวนการต้องครบถ้วน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X