ชาญศักดิ์ เฟื่องฟู กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า วันนี้ (12 ธันวาคม) ธนาคารกรุงเทพทำสัญญาซื้อขายหุ้นโดยมีเงื่อนไขกับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด) และพีที แอสทร่า อินเตอร์เนชั่นแนล ทีบีเค (แอสทร่า) เพื่อถือหุ้นในธนาคารพีที เพอร์มาตา ทีบีเค (เพอร์มาตา) ในอินโดนีเซีย คิดเป็นสัดส่วน 89.12% มูลค่าราว 2,674 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 81,017 ล้านบาท คาดว่าจะทำธุรกรรมเสร็จสิ้นในปี 2563 หลังจากนั้นจะทำเรื่องซื้อหุ้นส่วนที่เหลืออีก 10.88%
ทั้งนี้ตั้งเป้าหมายจะถือหุ้นในธนาคารเพอร์มาตาทั้ง 100% โดยประเมินมูลค่าเบื้องต้น 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 90,909 ล้านบาท โดยการซื้อขายหุ้นทั้งหมดจะใช้เงินทุนภายในของธนาคาร ซึ่งเพียงพอกับการซื้อหุ้นธนาคารเพอร์มาตาทั้ง 100% โดยไม่เพิ่มเงินทุนจากผู้ถือหุ้น ครั้งนี้ถือเป็นดีลการซื้อหุ้นธนาคารในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุด
“การซื้อหุ้นธนาคารเพอร์มาตาในอินโดนีเซียครั้งนี้เป็นกลยุทธ์การเติบโตของธนาคารกรุงเทพที่จะขยายการเติบโตของธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่งเศรษฐกิจและปริมาณประชากรของประเทศอินโดนีเซียเติบโตอย่างมาก รวมถึงเทรนด์การขยายตัวของสังคมเมืองค่อนข้างสูง ขณะเดียวกันธุรกิจของเพอร์มาตาอยู่ในช่วงขาขึ้น กำไรดี เงินสำรองดี เมื่อทั้งสองธนาคารรวมกัน เราจะสามารถเพิ่มการเติบโตได้ต่อเนื่อง”
ทั้งนี้จุดแข็งของธนาคารกรุงเทพคือธุรกิจองค์กร (มีสัดส่วน 40% ของธุรกิจทั้งหมด) ขณะที่จุดแข็งของธนาคารเพอร์มาตามีฐานลูกค้าทั้งรายย่อย เอสเอ็มอี และธุรกิจองค์กรรวม 3.5 ล้านราย มีสาขา 332 แห่ง จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซียและมีใบอนุญาตเป็นธนาคารท้องถิ่น รวมถึงมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ซึ่งจะเพิ่มทั้งเครือข่าย ทำให้การขยายธุรกิจระหว่างกันและการเติบโตดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ทางธนาคารกรุงเทพยังมองว่าการซื้อธนาคารเพอร์มาตาจะเสริมโอกาสการขยายกิจการในทั้งสองประเทศ (ไทยและอินโดนีเซีย) ขณะเดียวกันเมื่อเศรษฐกิจไทย GDP ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าจะเติบโตแบบทรงๆ การขยายธุรกิจไปยังอินโดนีเซียที่เศรษฐกิจเติบโตกว่าไทย ดังนั้นเมื่อรวมทั้งสองธนาคารเข้าด้วยกันจะเป็นโอกาสการขยายธุรกิจมากขึ้นไปด้วย
ไชยฤทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่าประเทศอินโดนีเซียมีโอกาสในการขยายธุรกิจธนาคารอย่างมาก ทั้งจาก GDP ที่เติบโต 5% ซึ่งสูงกว่าประเทศไทย ประชากรที่ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงอัตราการเข้าถึงสินเชื่อของประชากรอินโดนีเซียอยู่ที่ 36% ต่างจากไทยที่เกิน 100% แล้ว แสดงว่าอินโดนีเซียมีโอกาสที่ธนาคารจะขยายฐานลูกค้าได้มากขึ้น
นอกจากนี้อินโดนีเซียมีจุดที่น่าสนใจคืออัตราส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) ของอินโดนีเซียเฉลี่ยเกิน 3% ขณะที่ของไทยอยู่ที่ 2.4%
ทั้งนี้หลังการรวมธนาคารจะทำให้ธนาคารกรุงเทพมีสัดส่วนสินเชื่อของกิจการต่างประเทศที่ 25% ของสินเชื่อรวมของธนาคาร จากปัจจุบันที่อยู่ 17% และหลังการรวมธนาคารกรุงเทพกับธนาคารเพอร์มาตา จะทำให้ธนาคารเพอร์มาตาขึ้นเป็นอันดับที่ 10 ในอินโดนีเซีย จากปัจจุบันอยู่ที่อันดับ 12
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์