ธนาคารกรุงเทพรายงานผลการดำเนินงานปี 2563 พบว่ากำไรสุทธิของธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยปี 2563 อยู่ที่ 17,181 ล้านบาท ลดลง 52.03% จากปี 2562 ที่มีกำไรสุทธิ 35,816 ล้านบาท โดยกำไรที่ลดลงมาจากธนาคารตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2563 รวม 31,196 ล้านบาท เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
ทั้งนี้ จากการตั้งสำรองดังกล่าวทำให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ที่ 181.6%
อย่างไรก็ตาม ปี 2563 ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 77,047 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.4% จากปี 2562 โดยเพิ่มขึ้นจากการรวมรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารเพอร์มาตา โดยมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 2.25%
ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอยู่ที่ 41,682 ล้านบาท ลดลง 33.%% จากปีก่อน มาจากค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิและรายได้จากการดำเนินงานอื่นลดลง เพราะค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อและรายได้จากเงินลงทุนจากการนำมาตรฐานกลุ่มเครื่องมือทางการเงินฉบับใหม่ (ฉบับที่ 9) ที่เริ่มในรอบบัญชีเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563
ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอยู่ที่ 65,973 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.0% จากปีก่อนส่วนใหญ่มาจากการรวมค่าใช้จ่ายของธนาคารเพอร์มาตาและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการควบรวมสาขาในประเทศอินโดนีเซียเข้ากับธนาคารเพอร์มาตาในเดือนธันวาคม 2562 ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 55.6%
ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2.36 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.7% จากสิ้นปี 2562 หากไม่รวมธนาคารเพอร์มาตา เงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้น 2.7% ส่วนใหญ่จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 3.9% โดยธนาคารยังคงให้ความสำคัญในการดูแลกระบวนการอำนวยสินเชื่อและบริหารความเสี่ยงและการดำรงค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
ขณะที่ธนาคารมีเงินรับฝากจำนวน 2,810,863 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.6% จากสิ้นปี 2562 หากไม่รวมธนาคารเพอร์มาตา เงินรับฝากเพิ่มขึ้น 7.3% ส่วนใหญ่จากเงินรับฝากออมทรัพย์ โดยมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ 84.1% สะท้อนถึงสภาพคล่องที่เพียงพอในการรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ในวันที่ 23 กันยายน 2563 ธนาคารออกตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่สามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารภายใต้หลักเกณฑ์ Basel III จำนวน 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น 18.3% ด้านอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ในระดับ 15.7% และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ 14.9% (ถือว่าสูงกว่าขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด)
ทั้งนี้ ทางธนาคารประเมินว่าในปี 2563 การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและไทย โดยเฉพาะภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดด้วยการปิดเมืองและการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน ในช่วงไตรมาส 3 รัฐบาลได้คลายมาตรการปิดเมืองและออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยประคับประคองและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และติดตามสถานการณ์เพื่อบริหารความเสี่ยงลูกค้าอย่างใกล้ชิด
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์