×

รู้จักเพื่อนบ้านผ่านภาพยนตร์ใน Bangkok ASEAN Film Festival 2018 [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
02.07.2018
  • LOADING...

ตั้งแต่ไทยและประเทศเพื่อนบ้านรวมตัวกันเป็นสมาคมอาเซียน เรารับรู้เรื่องราวของเพื่อนบ้านผ่านมิติทางเศรษฐกิจ เห็นเพื่อนบ้านในภาพของการท่องเที่ยวผ่านรูปถ่ายสวยๆ แต่เมื่อถามถึงมิติทางวัฒนธรรมว่าเพื่อนบ้านของเราทุกวันนี้เป็นอยู่อย่างไร คิดอย่างไร หรือนิยมอะไร หลายคนกลับนึกไม่ออก เพราะความละเอียดอ่อนหลากหลายเหล่านี้ไม่ถูกสื่อสารมาถึงเรา แต่เชื่อหรือไม่ว่าภาพที่เรานึกไม่ออกเหล่านั้นได้ถูกบันทึกไว้ในสื่อชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ‘ภาพยนตร์’

 

ถ้าให้นึกเร็วๆ หลายคนก็ยังนึกไม่ออกว่านอกจากภาพยนตร์ไทยที่เคยดู ภาพยนตร์ของประเทศอื่นๆ ในอาเซียนมีหน้าตาอย่างไร สนุกไหม จึงถือเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ทำความรู้จักเพื่อนบ้านผ่านภาพยนตร์โดยที่เราไม่ต้องเดินทางไปถึงประเทศนั้นๆ หรือโหลดบิตให้ผิดกฎหมาย เพราะวันที่ 4-8 กรกฎาคมนี้ กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ได้จัดเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร 2561 หรือ Bangkok ASEAN Film Festival 2018 ณ โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยได้เลือกทั้งภาพยนตร์ร่วมสมัยของอาเซียนและภาพยนตร์ทรงคุณค่ามาฉายให้ชม THE STANDARD จึงถือโอกาสนี้ขอแนะนำภาพยนตร์ 5 เรื่องจาก 5 ประเทศที่จัดฉายในเทศกาล เพื่อที่ดูแล้วจะได้เห็น ‘ภาพ’ จาก ‘ภาพยนตร์’ ต่างไปจากที่เราเคยรับรู้

 

เณรกระโดดกำแพง โดย บุญส่ง นาคภู่ (ไทย)

เริ่มที่ภาพยนตร์จากประเทศไทยฝีมือของ บุญส่ง นาคภู่ ที่มักนำเสนอภาพความสมจริงในต่างจังหวัดผ่านหนังเรื่อง คนจนผู้ยิ่งใหญ่, วังพิกุล และ ธุดงควัตร ส่วน เณรกระโดดกำแพง บุญส่งก็ยังคงแข็งแรงในภาพต่างจังหวัดที่เหมือนเป็นลายเซ็น แต่ครั้งนี้เขาได้ท้าทายตัวเองด้วยวิธีการเล่าเรื่องที่เหลื่อมไปมาระหว่างภาพยนตร์และสารคดี เพราะบุญส่งแสดงเป็นตัวเอง แม่บุญส่งแสดงเป็นแม่บุญส่ง ส่วนลูกชายก็แสดงเป็นบุญส่งในตอนเด็ก หนังเล่าเรื่องบุญส่งที่เป็นผู้กำกับภาพยนตร์เหมือนในเรื่องจริงกำลังหาโลเคชัน และได้พบเจอทั้งความจริง ความฝัน ความมืดอันเร้นลับที่เขาเองพยายามปกปิด ทั้งหมดกำลังรุมเล่นงานเขาอย่างสะบักสะบอมจนแทบเอาตัวไม่รอด

 

 

The Remaining Journey โดย จอห์น แคลง (สิงคโปร์, สหรัฐอเมริกา และไต้หวัน)

อย่าเพิ่งคิดว่าภาพยนตร์จากสิงคโปร์จะเป็นเรื่องเทคโนโลยีทันสมัยอย่างที่เราเข้าใจ เพราะ The Remaining Journey เล่าเรื่องของวิญญาณนางเอกละครเวทีที่ตายไปแล้วและติดอยู่กับครอบครัวของคนแปลกหน้าระหว่างที่รอไปเกิดใหม่ เธอได้เฝ้าดูความสูญเสียของครอบครัวพร้อมกับอีกสองเหตุการณ์ที่เหมือนจะไม่เกี่ยวข้อง แต่ก็สัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก ทั้งเรื่องของหญิงสาวชาวสิงคโปร์ที่เดินทางไปนิวยอร์กหลังทราบข่าวการตายของชู้รัก และชายป่วยชาวสิงคโปร์คนหนึ่งที่อยู่ในเมืองฮวาเหลียน ประเทศไต้หวัน กำลังหาทางบอกภรรยาเรื่องที่เขานอกใจ

 

 

Night Bus โดย เอมิล เฮราดิ (อินโดนีเซีย)

หลายคนอาจมีภาพจำว่าถ้าภาพยนตร์เรื่องไหนฉายในเทศกาลต้องดูยากหรือชวนหลับ แต่ไม่ใช่สำหรับ Night Bus เพราะนี่คือภาพยนตร์ดราม่าทริลเลอร์ที่พาเราลุ้นเกร็งไปกับรถบัสคันหนึ่งที่เดินทางไปเมืองซัมปาร์ของอินโดนีเซีย ในรถมีทั้งเด็กรถ ชายตาบอด หญิงสาว และเด็ก ทุกคนเข้าใจดีว่าซัมปาร์คือพื้นที่ขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและกองกำลังกบฏที่ต้องการประกาศเอกราช แต่ไม่มีใครรู้เลยว่ามีชายคนหนึ่งแอบขึ้นรถมา และเขากำลังเป็นที่ต้องการของทั้งสองฝ่ายไม่ว่าจับเป็นหรือจับตาย ทุกคนในรถจึงต้องทั้งหลบกระสุนและหลบหนีกองกำลังอันโหดเหี้ยม โดยที่ไม่มีทางรู้ว่าจะอยู่หรือจะตาย

 

 

The Ashes and Ghosts of Tayug 1931 โดย คริสโตเฟอร์ โกซุม (ฟิลิปปินส์)

เราอาจไม่มีโอกาสดูภาพยนตร์จากฟิลิปปินส์บ่อยนัก ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่เราจะทำความรู้จักประเทศนี้มากขึ้น The Ashes and Ghosts of Tayug 1931 เล่าเรื่องนักทำภาพยนตร์ที่เดินทางกลับไปยังเมืองทายุกเพื่อเตรียมทำภาพยนตร์เรื่องใหม่ซึ่งเกี่ยวกับ เปโดร คาโลซา วีรบุรุษของพื้นที่นั้น และการจลาจลทายุกในปี 1931 ยิ่งค้นข้อมูลลึกลงไปเท่าไรยิ่งเห็นความทรงจำของชาวเมืองที่มีต่อวีรบุรุษและการจลาจลค่อยๆ ชัดมากขึ้น

 

 

Passage of Life โดย อากิโอะ ฟูจิโมโต้ (พม่า, ญี่ปุ่น)

นอกจากนักแสดงทั้งหมดในเรื่องนี้ไม่เคยมีประสบการณ์การแสดงมาก่อนแล้ว Passage of Life ยังเป็นภาพยนตร์ลองเทกยาวกว่าหนึ่งชั่วโมงที่ฉายให้เห็นภาพครอบครัวชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น ที่ผู้เป็นแม่อยากกลับไปบ้านเกิด แต่พ่อไม่สามารถทิ้งงานในญี่ปุ่นไปได้ ทั้งสองมีลูกชายสองคนที่ใช้ชีวิตแบบเด็กญี่ปุ่นและพูดภาษาพม่าไม่ได้ จนวันหนึ่งที่พวกเขาได้รับจดหมายฉบับหนึ่งซึ่งเปลี่ยนชีวิตพวกเขาไปตลอดกาล

 

 

นอกจากภาพยนตร์ทั้ง 5 เรื่องนี้แล้ว เรายังมีโอกาสได้ดู In the Life of Music จากกัมพูชา ที่เล่าเรื่องผ่านคนหลากรุ่น สำรวจความสัมพันธ์ในครอบครัว สงคราม และความรัก, The Seen and Unseen ภาพยนตร์ร่วมทุนสร้างจากอินโดนีเซีย เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และกาตาร์ เล่าเรื่องพี่สาวที่ต้องยอมรับความจริงว่าน้องชายกำลังจะเสียชีวิต ขณะนั้นเธอฝันว่าน้องชายได้ร่ายรำจนเกิดความผูกพันทางใจที่เห็นผ่านการแสดงออกทางกาย รู้สึกก้ำกึ่งระหว่างความหวังและความสิ้นหวัง, Guang จากมาเลเซีย เล่าความสัมพันธ์ระหว่างน้องชายและพี่ชายที่เป็นออทิสติก,  Shuttle Life จากมาเลเซีย ภาพยนตร์ดราม่าว่าด้วยความสัมพันธ์ดิ่งลึกของแม่ที่มีอาการทางจิต ลูกชาย และลูกสาว ที่เมื่อลูกสาวเสียชีวิตและแม่ก็ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือใดๆ ได้, Nervous Translation จากฟิลิปปินส์ เล่าย้อนไปเกือบ 30 ปีที่แล้วหลังเผด็จการมาร์กอส เด็กหญิงขี้อายที่อาศัยอยู่กับแม่และรู้จักพ่อจากเสียงที่อัดเทปส่งมาให้จากซาอุดีอาระเบีย

 

ส่วนในหมวดภาพยนตร์คลาสสิกของอาเซียนที่ไม่ได้หาดูกันได้ง่ายๆ เราจะได้ดู Kakabakaba Ka Ba? จากฟิลิปปินส์ ภาพยนตร์เพลงเล่าเรื่องอลเวงของหนุ่มสาวที่พัวพันกับแก๊งข้ามชาติ ที่ลึกๆ แล้วกำลังวิพากษ์สภาพเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ในขณะนั้นที่กำลังตกอยู่ภายใต้ชาติมหาอำนาจ, Mee Pok Man ภาพยนตร์โรแมนติกดราม่าจากสิงคโปร์ ผลงานการกำกับเรื่องแรกของ อีริก คู ที่สร้างชื่อระดับนานาชาติ ว่าด้วยเรื่องคนชายขอบอย่างหนุ่มขายบะหมี่ขี้อายกับบันนี่สาวโสเภณี, สวรรค์มืด ผลงานการกำกับของ รัตน์ เปสตันยี ภาพยนตร์ดราม่าประกอบเพลงที่แสดงนำโดย สุเทพ วงศ์กำแหง ที่ครั้งนี้บูรณะฟิล์มใหม่ให้มีความคมชัดระดับ 4K

 

 

ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่เข้าใจ เพราะภาพยนตร์ทั้งหมดมีบรรยายไทย-อังกฤษและจัดฉายให้ชมฟรี โดยสามารถลงทะเบียนจองบัตรชมภาพยนตร์ล่วงหน้าได้ทาง www.facebook.com/BangkokAseanFilmFestival และไปรับบัตรได้ที่ส่วนประชาสัมพันธ์ เทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร 2561 ได้ที่บริเวณโรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ก่อนรอบฉายของเรื่องที่จองไว้ 60 นาที

 

ไม่แน่ หากมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์สักเรื่องในเทศกาล ภาพความคลุมเครือหรือไม่เข้าใจเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านอาจถูกฉายให้ชัดขึ้นกว่าที่เราเคยเข้าใจและรับรู้มาก่อนก็ได้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising