วันนี้ (5 กรกฎาคม) ที่อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (รองผู้ว่าฯ กทม.) เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการกำกับและประสานงาน ร่วมการดำเนินงานโครงการเสริมสร้างศักยภาพองค์กร เพื่อการดำเนินงานตามแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2556-2566 ครั้งที่ 1/2565 โดยมี ทาคาฮิโร โมริตะ ผู้แทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) สำนักงานประเทศไทย, โทรุ เทราอิ เลขานุการเอกและผู้แทนสำรองถาวร ESCAP ของประเทศญี่ปุ่น, โทรุ ฮาชิโมโตะ ผู้อำนวยการสำนักวิเทศสัมพันธ์ เมืองโยโกฮามะ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม
สำหรับการประชุมวันนี้เป็นการรายงานผลการดำเนินงานแบบองค์รวม ระยะสิ้นสุดแผนตามแผนแม่บทกรุงเทพมหานคร (Comprehensive Review 2) และการพัฒนาคู่มือสำหรับการดำเนินงาน รวมถึงการรายงานความก้าวหน้าของการจัดทำแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564-2573 ซึ่งปัจจุบัน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ได้เห็นชอบแผนแม่บทฯ ดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว
ด้านจักกพันธุ์กล่าวว่า กทม. ได้ดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ กทม. ร่วมกับ JICA โดยดำเนินการดังนี้
- จัดทำแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2556-2566 ซึ่ง กทม. ได้รับการสนับสนุนจาก JICA และเมืองโยโกฮามะ ในทางเทคนิค ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2556 – กันยายน 2558 โดยมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ร้อยละ 13.57 ใน พ.ศ. 2563 เมื่อเทียบกับค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากสถานการณ์การดำเนินการปกติ
- การดำเนินโครงการเสริมสร้างศักยภาพองค์กร ในการดำเนินงานตามแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2556-2566 ในการดำเนินโครงการเสริมสร้างศักยภาพองค์กรฯ โดย กทม. ได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจากผู้เชี่ยวชาญจาก JICA เพื่อเสริมสร้างศักยภาพเกี่ยวกับการวางแผน การติดตาม และการประเมินผลโครงการ ให้แก่คณะทำงานทั้ง 5 ด้าน รวมถึงกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกใหม่ มีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2560-2564 ซึ่งในระยะสิ้นสุดแผน พ.ศ. 2563 พบว่า กทม. มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมเท่ากับ 40.88 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คิดเป็นปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงจากการดำเนินงานปกติ (BAU) 12.86 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือลดลงร้อยละ 24
- การจัดทำแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564-2573 กทม. ร่วมกับ JICA จัดทำแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564-2573 ซึ่งมีขอบเขตการดำเนินงานด้านการลดผลกระทบครอบคลุม 4 ภาคส่วนที่สำคัญ ได้แก่ ภาคพลังงาน ภาคการขนส่ง ภาคการจัดการขยะและบำบัดน้ำเสีย และภาคการวางผังเมืองสีเขียว รวมถึงการกำหนดแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในแผนแม่บทฉบับใหม่นี้ได้กำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 19 จากกรณีปกติ ภายใน พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) และมุ่งสู่การเป็นเมืองที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายใน พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) ตามวิสัยทัศน์กรุงเทพมหานครเมืองน่าอยู่ มุ่งพยายามในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ มีนวัตกรรมที่ยั่งยืน พร้อมรับและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทุกมิติภายใน พ.ศ. 2593
จักกพันธุ์กล่าวต่อไปว่า สำหรับความร่วมมือกับเมืองโยโกฮามะแบ่งเป็น
- ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เรื่อง ความร่วมมือทางวิชาการ เรื่อง การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน เมื่อ พ.ศ. 2556 และ 2573 มีประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ กทม. ซึ่งเมืองโยโกฮามะได้ให้การสนับสนุนด้านเทคนิคและด้านวิชาการในการส่งเสริมการพัฒนาสังคมคาร์บอนต่ำในภาคส่วนต่างๆ เช่น การจัดการพลังงาน การจราจรและขนส่ง และการจัดการขยะและน้ำเสีย เป็นต้น เพื่อให้การดำเนินงานเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการดำเนินโครงการเสริมสร้างศักยภาพองค์กร เพื่อการดำเนินงานตามแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2555-2566
- เข้าร่วมโครงการ City-to-City Collaboration for Zero-Carbon Society ซึ่งโครงการ City-to-City เป็นการทำงานคู่ขนานกับแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564-2573 เพื่อเป็นการส่งเสริมการดำเนินโครงการ / กิจกรรมภายใต้แผนแม่บทฯ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเป็นการพัฒนาและส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง กทม. และเมืองโยโกฮามะ เรื่องการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ด้านการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนที่สอดคล้องกับการดำเนินงานตามแผนแม่บทฯ โดยมีศูนย์ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมในต่างประเทศเป็นที่ปรึกษาของโครงการ ประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่
กิจกรรมหลักที่ 1 การส่งเสริมการดำเนินงานตามแผนแม่บท เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานตามแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบด้วย 3 กิจกรรมย่อย ได้แก่ การจัดกิจกรรมการฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพ (ออนไลน์) การพัฒนาแผนปฏิบัติการด้านพลังงาน และการรับรองการพัฒนาแผนปฏิบัติการด้านพลังงาน
กิจกรรมหลักที่ 2 การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการดำเนินการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเขตพื้นที่ กทม. ประกอบด้วย 3 กิจกรรมย่อย ได้แก่ การเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดสัมมนาหรือการประชุมเชิงปฏิบัติการ และแนวทางการส่งเสริมเครือข่ายการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชน
กิจกรรมหลักที่ 3 การพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อส่งเสริมความตระหนักและความเข้าใจเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการพัฒนาโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเขตพื้นที่ กทม. ประกอบด้วย 3 กิจกรรมย่อย ได้แก่ การดำเนินการสำรวจโครงการลดก๊าซเรือนกระจกใหม่ การพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจก และการรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานโครงการ