สืบเนื่องจากกรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก ‘Krit Wongmanee’ ตั้งข้อสงสัยผ่านโพสต์ที่ระบุถึงภาพจาก Google Maps โดยปรากฏเป็นภาพของพื้นที่ในเขตบางกะเจ้า ตำบลบางน้ำผึ้ง ที่มีลักษณะเหมือนมีการก่อสร้างบางอย่าง
ซึ่งอาจขัดกับประกาศในราชกิจจานุเบกษา ออกกฎกระทรวงกำหนดให้พื้นที่ ต.บางกะเจ้า, บางกอบัว, บางน้ำผึ้ง, บางยอ, บางกระสอบ และทรงคนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมานั้น
ล่าสุด (17 ก.ย. 2562) THE STANDARD ได้ต่อสายพูดคุยกับ รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้คำตอบว่า ในเบื้องต้นทางหน่วยงานยังไม่ทราบว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของใคร ซึ่งอาจจะเป็นพื้นที่กรรมสิทธิ์ของชาวบ้านเอง ส่วนพื้นที่สีเขียวที่สงวนไว้เป็นพื้นที่จากกรมป่าไม้ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่นอกเหนือจากนั้นอาจเป็นของเอกชน หรือบางส่วนถือครองโดยชาวบ้าน
“พื้นที่ส่วนใหญ่ในบางกะเจ้า ถ้าดูในกูเกิลก็จะเห็นว่า บางส่วนก็เป็นบ้านเรือนคนอยู่แล้ว ซึ่งเราได้มีประกาศคุ้มครองออกมาต่างๆ เช่น ห้ามก่อสร้างโรงงาน แต่เราอย่าเข้าใจผิดว่าตรงนั้นเป็นบ้านคนแล้วมองว่าผิดกฎหมายนั้นไม่ใช่ และการประกาศก็เป็นการประกาศทับพื้นที่กรรมสิทธิ์เหล่านั้นตามหลังอยู่แล้ว”
ทั้งนี้ ขอบเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมคุ้งบางกะเจ้า ครอบคลุมพื้นที่ 6 ตำบลทางทิศตะวันออก ของ อ.พระประแดง เนื้อที่รวม 11,819 ไร่ และพื้นที่ในน้ำซึ่งมีขอบเขตถึงกึ่งกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เป็นแนวแบ่งเขตระหว่างจังหวัดสมุทรปราการกับกรุงเทพฯ
โดยมีมาตรการที่สำคัญ ได้แก่ การห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนแปลงอาคารใดๆ ให้เป็นอาคารโรงงาน เว้นแต่สร้างทดแทน โรงแรม อาคารชุด ท่าเทียบเรือสำราญและกีฬา อาคารทุกประเภทในที่ดินของรัฐที่จัดซื้อตามโครงการสวนกลางมหานคร
ส่วนหลักเกณฑ์การก่อสร้าง หรือดัดแปลงอาคาร ความสูงของอาคารทั่วไปไม่เกิน 9 เมตร เว้นแต่อาคารทรงจั่ว ทรงปั้นหยา ทรงไทย ไม่เกิน 12 เมตร อีกทั้งต้องส่งเสริมให้ปลูกไม้ยืนต้นที่เป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของบริเวณพื้นที่ว่าง
นอกจากนี้ ยังมีการห้ามกระทำการหรือประกอบกิจกรรม ได้แก่ การจัดสรรที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย การจัดสรรที่ดินเพื่อประกอบพาณิชยกรรม การทำสนามกอล์ฟ การถมหรือปรับหรือปิดกั้นลำกระโดง คู คลอง หรือแหล่งน้ำสาธารณะ ที่ทำให้น้ำในแหล่งน้ำนั้นตื้นเขิน หรือไม่สามารถไหลไปได้ตามปกติ
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: