พื้นที่บางกะเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ คือแหล่งท่องเที่ยวใกล้กรุงยอดนิยมตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยการปั่นจักรยานไปตามพื้นที่สีเขียวนั้นเป็นกิจกรรมยอดฮิตที่เราเห็นกันอยู่บ่อยๆ ผ่านตามหน้าสื่อหรือรีวิวต่างๆ แต่หารู้ไม่ว่า ‘ปอดกลางเมือง’ แห่งนี้ ยังมีอะไรให้ได้ค้นหาและเรียนรู้อีกมาก โดยเฉพาะ 9 กิจกรรมแนววิถีชุมชนต่อจากนี้ที่จะทำให้คุณได้สัมผัสบางกะเจ้าในมุมที่แตกต่างออกไป
1. ชมงานอาร์ตฝีมือช่างหลวง
เริ่มต้นด้วยการชื่นชมความสวยงามทางศิลปกรรมของพระอุโบสถวัดป่าเกด ซึ่งเชื่อว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 โดยสิ่งที่ทำให้เราต้องทึ่งก็มีทั้งหน้าบันไม้แกะสลักรูปพระนารายณ์ทรงครุฑยุดนาคล้อมด้วยลายเครือเถา จิตรกรรมฝาผนังรูปมารผจญโดยช่างสิบหมู่ ลายปูนปั้นบนซุ้มประตูหน้าต่าง ตลอดจนพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่ถือเป็นอีกหนึ่งหลักฐานของงานศิลปะชั้นสูงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่ยังคงหลงเหลือให้เห็นในพื้นที่
พระอุโบสถวัดป่าเกด
2. ปลูกกล้าไม้ทน 3 น้ำ
ท่ามกลางแดดเปรี้ยงปร้างจากวัดป่าเกด เดินเท้าเข้ามาไม่กี่ร้อยเมตรก็เหมือนหลุดเข้ามาอยู่ในโลกอีกใบที่ทั้งร่มรื่นและรื่นรมย์ โดยเราได้พบกับ แม่ต๊อย-เปรมปรีย์ ไตรรัตน์ ประธานป่าชุมชนเมืองสวนป่าเกดน้อมเกล้า ที่เล่าถึงจุดเริ่มต้นของที่นี่ให้ฟังว่า “จุดเริ่มต้นเล็กๆ ของเราเกิดจากการรวมตัวของคนรักสิ่งแวดล้อม เราลงมือปลูกต้นไม้ตามวิถีชาวสวนให้เพื่อนบ้านดู พอเขาเห็นว่าเราทำได้ก็เริ่มทำตามกัน หลังจากนั้นจึงค่อยๆ ชักชวนภาครัฐและเอกชนให้เข้ามาช่วยกันเพิ่มพื้นที่สีเขียว รวมถึงรักษาปอดกลางกรุงแห่งนี้เอาไว้ตามแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9”
มาถึงที่นี่ทั้งที ทั้งแม่ต๊อยกับน้าต๋อยจึงชวนเรามาร่วมปลูกกล้าไม้ยืนต้นชื่อไพเราะอย่างพิลังกาสา, พังกาหัวสุม, มะกล่ำตาแดง และหลุมพอทะเล โดยแม่ต๊อยบอกว่า “พืชที่เลือกมาปลูกต้องเป็นพืชท้องถิ่นและทนต่อ 3 น้ำคือ น้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย โดยการเพาะกล้าไม้เอาไว้ นอกจากจะเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวแล้ว พวกลูกไม้ยังเป็นอาหารให้นกเกือบ 100 ชนิดด้วย” ซึ่งก็สอดคล้องกับเป้าหมายของโครงการ OUR Khung BangKachao ที่เป็นการผนึกกำลังของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนถึง 34 องค์กร ในการช่วยกันรักษาและพัฒนาพื้นที่สีเขียวในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าให้ได้ 6,000 ไร่ ภายในระยะเวลา 5 ปี เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาชุมชนสีเขียวในเมืองของประเทศไทยนั่นเอง
เมื่อลงมือลงแรงพอได้เหงื่อ ก็ถึงเวลาหาอะไรลงท้อง ซึ่งแม่ต๊อยก็ไม่ทำให้ผิดหวัง โดยเริ่มต้นด้วยการรับประทานเมี่ยงคำ อาหารว่างประจำครอบครัว ห่อด้วยใบชะพลูกับใบทองหลาง พร้อมด้วยมะพร้าวคั่วสูตรโฮมเมด แล้วค่อยต่อด้วยชุดเมนูอาหารกลางวันที่ดีทั้งหน้าตาและรสชาติ พะแนงไก่ไข่ชะอม, ไข่เจียวผักปรง, แกงเขียวหวานไก่ และแกงจืดซี่โครงหมูดอกโสน ของหวานอย่างข้าวเหนียวหน้ากุ้ง และปิดท้ายด้วยชาสมุนไพรพิลังกาสา ที่แน่นอนว่าพออิ่มท้องแล้ว ด้วยบรรยากาศที่แสนร่มรื่นของสวนป่าเกดน้อมเกล้าก็ไม่อยากทำให้เราลุกจากไปไหน
3. ทำผ้ามัดย้อมจากใบมะม่วง
กิจกรรมทำผ้ามัดย้อมเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมยอดฮิตของพื้นที่บางกะเจ้า โดยแต่ละตำบลจะหยิบเอาวัตถุดิบในพื้นที่ของตัวเองอย่างเปลือกลูกจาก ฝักคูน หรือแม้แต่ใบพิลังกาสาที่นำมาสกัดเป็นสีย้อมผ้า เช่นเดียวกับ น้าตุ๋ม-ประภัศร์ ไทยเจริญ ที่เลือกเอาใบของมะม่วงน้ำดอกไม้เขียวนวล พันธุ์มะม่วงท้องถิ่น ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication: GI) ของบางกะเจ้า มาใช้เป็นสีย้อมผ้าที่ทั้งสดใสและสดสวยไม่แพ้ใคร ส่วนจะเลือกสีเหลืองเฉดไหน อ่อนหรือเข้ม เพียงแค่เติมสารส้ม น้ำปูนขาว หรือน้ำมะขามเปียก ลงไป เราก็จะได้ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติอันมีเอกลักษณ์ผืนเดียวในโลกมาไว้ในครอบครอง
มัดย้อมผ้าเพื่อทำลวดลาย แล้วนำไปต้มลงในสี
เสร็จแล้วนำมาตาก ก็จะได้ผ้าสีสวยแบบนี้
4. แช่เท้าให้หายเมื่อย
จากภูมิปัญญาของชาวสวนบางกะเจ้าที่ผูกพันกับการเกษตรมาหลายชั่วอายุคน จึงได้คิดค้นนำเอาสมุนไพร 7 ชนิด ได้แก่ ส้มป่อยที่มีสรรพคุณช่วยคลายเส้น ยึดเส้นตึง, ขมิ้นและไพลช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อย, เหงือกปลาหมอที่ช่วยรักษาโรคภูมิแพ้และกลากเกลื้อน และชุมเห็ดเทศช่วยขับน้ำเหลืองเสีย เอามาผสมต้มรวมกับมะกรูดและตะไคร้ที่มีคุณสมบัติเป็นน้ำมันหอมระเหยชั้นดี ก็จะออกมาเป็นน้ำแช่เท้าสมุนไพรที่นอกจากจะช่วยคลายเมื่อยและสบายสุดๆ แล้ว ยังมีน้าๆ อาๆ มาคอยบริการนวดเท้าและขาให้อีกด้วย ซึ่งจะช่วยให้ระบบไหลเวียนโลหิตของเรานั้นดีขึ้น
5. ชิมน้ำตะลิงปลิงกับเมี่ยงกลีบบัว
นวดเสร็จใหม่ๆ ตัวเบาโหยง เดินไปไม่กี่ก้าว ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลบางกอบัวก็มีน้ำตะลิงปลิงคั้นสดเตรียมเสิร์ฟให้ดื่มคลายร้อนรออยู่แล้ว จากที่เคลิ้มๆ ก็ทำเอาตื่นตัวทันที ซึ่งนอกจากรสชาติที่น่าจะถูกใจคนชอบกินเปรี้ยวแล้ว คงต้องชื่นชมในการจัดตกแต่งแบบปลอดพลาสติก โดยเสิร์ฟมาในรูปแบบแก้วกระดาษพร้อมตะลิงปลิงเสียบไม้ ดูดี น่าดื่มไม่แพ้ค็อกเทลกันเลยทีเดียว ส่วนใครที่อยากเติมพลังอีกสักหน่อย ก็ยังมีเมี่ยงกลีบบัวให้ได้ลิ้มรส โดยมีทีเด็ดอยู่ที่พริกเกลือ (กินแทนมะพร้าวคั่วกับน้ำเมี่ยงคำ) ซึ่งทำจากมะพร้าวคั่วตำรวมกับพริกแห้ง เกลือ และน้ำตาล ซึ่งจะให้รสชาติที่หวานๆ เค็มๆ ติดเผ็ดนิดๆ อร่อยลงตัว คลายหิวได้ดีทีเดียว
6. ล่องเรือฟอกปอด ลอดอุโมงค์ต้นจาก
เมื่อแดดร่มลมตก อยากให้ลองมาสัมผัสวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนบางกะเจ้าที่ใช้แม่น้ำลำคลองเป็นเส้นทางสัญจรเชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา โดยหนึ่งในนั้นคือ คลองแพ ที่ ลุงจิตร มะลิรัตน์ เล่าที่มาของชื่อคลองผ่านบทเห่เรือสุดไพเราะ ขณะที่นำเรือเทียบคุณปู่ต้นไทรที่ขยายรากขจรขจายอยู่ริมฝั่งน้ำให้ฟังว่า “คลองแพ ชะ ของแพ สายน้ำ มีพระคุณ พี่น้องเรา หน้าน้ำ น้ำเต็มฝั่ง เคยมานั่ง นั่งจับปลา ล่องลอย ลอยไป ร้านค้า เดิมเขา เรียกว่าแพ” ถอดความได้ว่า “แต่เดิมชาวบางกะเจ้าปลูกบ้านและร้านค้าอยู่บนเรือนแพริมสองฝั่งน้ำ แต่เมื่อเส้นทางสัญจรเปลี่ยนไปเป็นทางบก วิถีชีวิตเหล่านี้ก็เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา”
การได้มานั่งเรือพายผ่านอุโมงค์ต้นจากไม้ป่าชายเลน ได้เห็นวิถีชีวิตริมฝั่งคลอง ชมต้นไม้ต้นใหญ่ที่ลุงจิตรแนะนำให้ผู้โดยสารของแกสูดหายใจเข้าลึกๆ เพื่อฟอกปอด ตลอดจนชมความเจริญริมน้ำเจ้าพระยาผ่านท่าเรือคลองเตย จึงเป็นเหมือนการนั่งไทม์แมชชีนย้อนยุคกลับไปในสมัยที่สายน้ำกับชีวิตประจำวันยังคงเป็นเรื่องเดียวกัน
7. เรียนรู้การปลูกผักบนกระเบื้อง
แหล่งเรียนรู้เชิงเกษตรในพื้นที่บางกะเจ้ามีด้วยกันหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงคุ้งบางกะเจ้าของ กำนันตุ้ม-สมปอง รัศมิทัต ที่พอได้นั่งจับเข่าคุยกันแล้วก็เห็นได้ถึงแพสชันและความมุ่งมั่นทุ่มเทในการถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรให้กับผู้มาเยือน ทั้งเรื่องการปลูกผักสลัดและพืชสวนครัวปลอดสารพิษบนกระเบื้อง ที่ทั้งง่ายและสะดวกกว่าการเอาลงไปในดิน แถมยังใช้งบการลงทุนไม่มาก การเพาะเห็ดไร้ขยะ รวมถึงโซนเลี้ยงสัตว์ที่เชื่อว่าคงจะถูกใจบรรดาเด็กๆ เพราะมีไก่หลายสายพันธุ์ให้ได้ทำความรู้จัก ทั้งไก่ตะเภาทอง, ไก่ไฮบริด, ไก่ดำ, ไก่ชน ตลอดจนเป็ดปากน้ำ ที่ทางกำนันตุ้มมีความตั้งใจในการอนุรักษ์พันธุ์เป็ดท้องถิ่นของจังหวัดสมุทรปราการ และกำลังหาทางพัฒนาเป็ดพันธุ์นี้ให้ออกไข่เป็นสีดำอีกด้วย
ไก่พันธุ์ต่างๆ
8. ทำกระถางต้นไม้จากกากกาแฟ
เมื่อการท่องเที่ยวเข้ามามีบทบาทสำคัญในพื้นที่บางกะเจ้า ส่งผลให้มีจำนวนคาเฟ่เพิ่มมากขึ้น และกลายเป็นว่าเกิดปัญหากากกาแฟเหลือทิ้งจำนวนมาก ป้าบุญญาภา ศิโรดม และ ป้าลอง รอดช่าง แห่งบ้านสวนริมคลองหมู่ 4 จึงเกิดไอเดียกิจกรรม DIY ให้นักท่องเที่ยวมาขึ้นรูปกระถางต้นไม้รักษ์โลกที่มีส่วนผสมของกากกาแฟ ขุยมะพร้าว และแป้งเปียก ที่นอกจากจะช่วยลดขยะและการใช้กระถางพลาสติกแล้ว กระถางต้นไม้จากกากกาแฟเหล่านี้ยังสามารถย่อยสลายได้ด้วยตัวเองอีกด้วย
9. ฟังเรื่องบางกะเจ้าในอีกมุม
“หลายคนคงเคยได้ยินมาว่า บางกะเจ้าเป็นปอดกลางกรุง เป็นป่าชุมชน เป็นป่าใกล้เมือง ถึงแม้ผมจะเป็นคนที่ชอบและรักต้นไม้ แต่ขอยืนยันตรงนี้เลยว่า บางกะเจ้าไม่ใช่ป่า” ยอมรับเลยว่าข้อมูลชุดใหม่ของ อาประกิจ รอดเจริญ นักสื่อความหมายชาวบางกะเจ้า ทำเอาเราสะดุ้งไปเหมือนกัน
คำถามต่อมาคือ ถ้าไม่ใช่ป่า แล้วพื้นที่สีเขียวของบางกะเจ้าคืออะไร? อาประกิจจึงไขข้อข้องใจให้ฟังว่า “ที่นี่คือสวนผลไม้นานาชนิด เพราะเราปลูกผลไม้กันหลายชนิด มีทั้งมะม่วง, ชมพู่, กล้วย, ลิ้นจี่, ลำไย, มะพร้าว, ส้มโอ และอีกมากมายสารพัด ซึ่งสวนของเรามีเอกลักษณ์แบบยกร่อง คือมีพื้นที่ปลูกที่เรียกว่าอกร่อง และส่วนเก็บน้ำรอบๆ อกร่องเรียกว่าท้องร่อง” เมื่อฟังถึงตรงนี้ก็พอจะนึกภาพออกว่าแท้ที่จริงแล้วพื้นที่สีเขียวของบางกะเจ้าคือสวน ไม่ใช่ป่าอย่างที่เคยเข้าใจ
ก่อนที่อาประกิจจะเล่าย้อนถึงที่มาของการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวของบางกะเจ้าให้ฟังว่า “ในปี 2508 เรามีพื้นที่สีเขียวอยู่ประมาณ 94-95% กระทั่งในปี 2525 รัชกาลที่ 9 ประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งผ่านและมีพระราชดำริว่าควรสงวนพื้นที่แห่งนี้ไว้ เพราะเมื่อมีลมมรสุมพัดมาจะช่วยฟอกอากาศให้กรุงเทพฯ ต่อมาในปี 2539 นายกฯ อานันท์ ปันยารชุน จึงริเริ่มโครงการสวนกลางมหานครขึ้นบนพื้นที่ 148 ไร่ ซึ่งเป็นที่มาของสวนศรีนครเขื่อนขันธ์ในปัจจุบันนั่นเอง
“20 ปีที่แล้ว ช่วงเปิดสวนแรกๆ ผมรู้สึกเสียดายมาก รัฐบาลใช้งบลงทุนไป 8 พันล้านบาท แต่ที่นี่แทบไม่มีคนไทยเลย ส่วนมากเป็นฝรั่งที่นั่งเรือข้ามมาจากสุขุมวิทและพระโขนง พาสุนัขมาเดิน มาวิ่ง แต่เดี๋ยวนี้คนไทยเยอะขึ้น วันเสาร์-อาทิตย์ บางทีหลักพันนะ ถึงแม้ตอนนี้บางกะเจ้าจะมีพื้นที่สีเขียวเหลืออยู่ราว 58% แต่ก็ผมหวังนะ หวังลึกๆ ว่าการท่องเที่ยวจะเป็นเครื่องมือช่วยรักษาและเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับบางกะเจ้าได้” อาประกิจทิ้งท้าย
เห็นไหมว่านอกจากกิจกรรมปั่นจักรยานแล้ว บางกะเจ้ายังมีเรื่องราวและกิจกรรมแนววิถีชุมชนที่น่าสนใจอีกมากมายให้ได้มาเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และสนุกสนาน ไปพร้อมๆ กัน
- สำหรับผู้ที่สนใจทำกิจกรรมแนววิถีชุมชนในบางกะเจ้า (ส่วนใหญ่ต้องนัดหมายล่วงหน้า) สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โครงการ #คิดถึงชุมชน ซึ่งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้ร่วมช่วยเหลือชุมชนท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรคโควิด-19 ด้วยการเสนอขายโปรแกรมท่องเที่ยว โดยชุมชนกว่า 70 ชุมชนทั่วประเทศ อาทิ ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลบางกอบัว จังหวัดสมุทรปราการ, ชุมชนท่องเที่ยวบ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 9 จังหวัดยะลา, วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านน้ำเชี่ยว จังหวัดตราด, ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนเมืองเก่าสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย, ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนกกสะทอน จังหวัดเลย ฯลฯ ผ่านบริษัทนำเที่ยวชั้นนำกว่า 60 บริษัท
- หากชำระเงินผ่านบัตรเครดิต KTC หรือบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 31 สิงหาคมนี้ ยังสามารถรับ Cash Back สูงสุดถึง 10% อีกด้วย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก facebook.com/CBT.DASTA และ facebook.com/KTCWorldCommunity